เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า เห็นข่าวเรื่องนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร บุกทำเนียบรัฐบาล จนมีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายไปต่าง ๆ นานา ไปคนละทิศละทาง โดยไม่ได้อ้างอิงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 มติคณะรัฐมนตรี กันเลย
นายเรืองไกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว พบว่า นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 แล้ว และก่อนหน้านั้นได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวม 2 ฉบับ คือ หนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0001.03/18 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 และหนังสือที่สภาผู้แทนราษฎร ที่ สผ 0001.03/26 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ด้วย
นายเรืองไกร กล่าวว่า เรื่องนี้ จึงควรพิจารณาถึงหน้าที่และอำนาจของรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ได้มีมติรับทราบแนวทางป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่และการบริหารงานบุคคลในราชการพลเรือน ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ
นายเรืองไกร กล่าวว่า ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/152 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบนั้น หน้า 4 ข้อ (2.2) ระบุว่า
“(2.2) กรณีสงสัยว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา กระทำการอันมีลักษณะเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือการบริหารงานบุคคลของข้าราชการพลเรือน ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) และ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอาจเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้น สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (7) หรือมาตรา 111 (7) แล้วแต่กรณี ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อผู้มีหน้าที่เพื่อดำเนินการให้มีการวินิจฉัยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามนัยมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อไป”
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ยังไม่พบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 หรือไม่ อย่างไร ดังนั้น ตนจึงมีเหตุอันควรทำหนังสือไปถึง กกต. แทน เนื่องจาก มาตรา 82 วรรคสี่ ให้อำนาจ กกต. ตรวจสอบการกระทำดังกล่าวได้ด้วย
นายเรืองไกร สรุปว่า วันนี้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ถึง กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบและพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามออกหนังสือไปถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ฉบับและการเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ดังกล่าว เข้าข่ายขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 9 หรือไม่ และเข้าข่ายอันควรสงสัยตามข้อ (2.2) ตามหนังสือของสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012.3/152 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายจะทำให้สมาชิกภาพของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (7) เพราะเข้าข่ายกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 185 (1) หรือไม่