วันที่ 15 มิถุนายน 2568 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ  สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ  เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ประธานศาลฎีกา ตรวจสอบว่า ในระหว่างการพิจารณคดีหมายเลขดำที่ บค. 1/2568 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีผู้ใดกระทำการอันอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32(2) หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า  คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 วันที่ 30 เม.ย. 2568 เป็นคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า อาจมีการบังคับตามคำพิพากษาที่ไม่เป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาลนี้ ศาลย่อมมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร จึงเห็นควรส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 จำเลยที่ 1 ในคดีหมายเลขแดงที่ อม.10/2552 และจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ อม.5/2551 ของศาลนี้ แล้วให้โจทก์และจำเลยดังกล่าวแจ้งต่อศาลว่ามีข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างในคำร้อง หรือไม่ อย่างไร กับสำเนาคำร้องให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณาของศาลว่าการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นไปตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดของศาล หรือไม่ อย่างไร ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 6 โดยให้โจทก์ จำเลยดังกล่าว ทั้งนี้ ศาลมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนในวันที่ 13 มิ.ย. 2568 เวลา 09.30 น.

นายเรืองไกร กล่าวว่า  ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 68 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ศาลฎีกา ข่าวที่ 8/2568 ดังนี้ “วันนี้ เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้นัดพร้อมหรือนัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 อัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ  และนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ยื่นคำชี้แจงต่อศาลแล้ว ส่วนอธิบดีกรมราชทัณฑ์และนายทักษิณ ชินวัตร จำเลย ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำชี้แจงถึงวันที่ 20 มิ.ย. และวันที่ 23 มิ.ย. ตามลำดับ ไต่สวนนายมานพ ชมชื่น ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แล้วเสร็จ และมีคำสั่งให้หมายเรียกพยานจำนวน 20 ปาก มาไต่สวนในวันที่ 4, 8 และ 15 ก.ค. เวลา 09.00 น. ทุกนัด”

นายเรืองไกร กล่าวว่า ในระหว่างที่การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568  ยังไม่เสร็จสิ้น มีข้อเท็จจริงที่เป็นความปรากฏทั่วไปว่า มีบุคคลต่าง ๆ (โดยเฉพาะนักกฎหมายบางคน) ได้เสนอข้อความหรือความเห็นตามสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ซึ่งบรรดาข้อความหรือความเห็นอาจก่อให้เกิดอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือคู่ความหรือเหนือพยานในคดี หรืออาจทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าข้อความหรือความเห็นนั้นมีอิทธิพลต่อการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งอาจทำให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป

โดยเฉพาะข้อมูลที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงแห่งคดี การรายงานหรือการย่อเรื่องหรือการวิพากษ์เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาอย่างไม่เป็นกลาง ไม่ถูกต้อง หรือโดยไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการดำเนินคดีของคู่ความ หรือคำพยานหลักฐาน รวมทั้งการแถลงข้อความที่ทำให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ว่าข้อความเหล่านั้นอาจเป็นความจริงหรือการชักจูงให้เกิดมีคำพยานเท็จ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ และอาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 32 (2) ตามมาได้

นายเรืองไกร กล่าวว่า การร้องตามหนังสือนี้ ได้นำกรณีการเสนอข้อความหรือความเห็นของบุคคลต่าง ๆ ที่อาจเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล นั้น เทียบเคียงจากข่าวของสำนักงานศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 26 ก.พ.2559 กรณี คดีจำนำข้าว มาอ้างอิงด้วย