เรืองไกร ร้อง กกต. สอบหัวหน้าเพื่อไทย ปล่อย 'ทักษิณ' ครอบงำ หรือชี้นำพรรค เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง ด้าน"เลขาฯเพื่อไทย" เชื่อประชาชนรู้เจตนาคนยื่นยุบพรรค ชี้เรื่องเกิดหลังเขี่ย "พปชร." พ้นพรรคร่วมฯ  อนุสรณ์ มั่นใจเพื่อไทย ชี้แจงได้ ไม่กังวลปมถูกยื่นยุบพรรค 

     เมื่อวันที่ 20 ต.ค.67  นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง เปิดเผยว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS ขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่สมาชิกพรรคเพื่อไทย กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 หรือไม่ และเป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามมาตรา 92 (3) เพราะกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 28 หรือไม่
   

 สำหรับหนังสือดังกล่าว มีเนื้อหาเป็นข้อๆ ดังนี้ ข้อ 1.เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 เว็บไซต์ ect.go.th หน้า รวมข่าว กกต. ได้ลงสำเนาข่าวต่างๆ รวม 23 ข่าว ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการที่นายทะเบียนตั้งกรรมการสอบกรณีการร้องยุบพรรคเพื่อไทย ข้อ 2.การตั้งกรรมการสอบกรณีการร้องยุบพรรคเพื่อไทย ซึ่งพ่วงพรรคร่วมรัฐบาลเดิม 6 พรรคนั้น น่าจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นคำร้องกล่าวหาคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 รวมอยู่ด้วย ซึ่ง กกต.ไม่ควรทำการตรวจสอบต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 52/2566 ไว้เป็นแนวทางแล้ว
 

   ข้อ 3.ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 52/2566 ไว้เป็นแนวทาง ดังนี้ " แต่ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 เป็นการใช้อำนาจในทางการเมืองของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับรัฐสภา อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา" ข้อ 4.กรณีการตั้งกรรมการสอบตามข่าวที่ปรากฏนั้น มีมาตรา 21 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งมาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า "ให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคการเมืองในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้ หัวหน้าพรรคการเมืองจะมอบหมายเป็นหนังสือให้เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิก พรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองคนหนึ่งหรือหลายคน เป็นผู้ทำการแทนก็ได้"
   

 ข้อ 5.ตามเฟซบุ๊กพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ลงข่าวไว้ส่วนหนึ่งว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ข้อ 6.ดังนั้น กรณีการกล่าวหาว่าพรรคเพื่อไทยยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมิใช่สมาชิก กระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทย หรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 หรือไม่ นั้น จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบหัวหน้าพรรคเพื่อไทย คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะเป็นผู้แทนของพรรคเพื่อไทยในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ทั้งนี้ ตามความในมาตรา 21 วรรคสี่ ดังกล่าว
   

 ข้อ 7.กรณีที่นายทะเบียนได้ตั้งกรรมการขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานนั้น ย่อมเป็นไปตามความในมาตรา 93 ซึ่งจากข่าวที่ กกต.เผยแพร่ไว้แล้ว 23 ข่าวข้างต้น จึงขอส่งสำเนาข่าวอื่นๆ มาเพื่อประกอบการพิจารณาว่า พรรคเพื่อไทยยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้นายทักษิณ ชินวัตร เข้ามากระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคเพื่อไทยในลักษณะที่ทำให้พรรคเพื่อไทยหรือสมาชิกขาดความอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 28 ประกอบมาตรา 29 หรือไม่ ข้อ 8.สำหรับพรรคการเมืองอื่น 6 พรรค ขอให้ กกต.ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
   

 นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีรายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับคำร้องยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาล กรณีถูกร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ ว่า พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่แก้ข้อกล่าวหาตามคำร้องเรียน ส่วนในเรื่องวิธีการในการต่อสู้ข้อกล่าวหานั้น ตนมองว่าทางพรรคมีข้อมูลและหลักฐานเพียงพอที่จะต่อสู้ประเด็น อย่างไรก็ดีตนเชื่อว่าประชาชนมองออกว่าผู้ร้องมีเจตนาอะไร
 

   ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าเป็นเกมการเมืองหลังจากที่เราผลักพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะทุกอย่างประดังเข้ามาหลังจากที่เราประกาศไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองนี้ เมื่อถามว่า การนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือวันที่ 21 ต.ค.นี้ จะหารือถึงรายงานนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่เพราะมีข้อขัดแย้ง นายสรวงศ์ กล่าวว่า การทานข้าวกับพรรคร่วมรัฐบาล เป็นปกติที่เคยปฏิบัติมา เพียงแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการทานข้าวร่วมกัน หลังจากที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนเรื่องการพูดคุยนั้นตนมองว่าคงไม่มีอะไรที่เป็นข้อขัดแย้ง
   

 นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. สั่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนกรณีคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยและ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ซึ่งถูกร้องว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ว่า ถือเป็นการทำหน้าที่ของ กกต. ที่ต้องรับเรื่องไว้พิจารณา เมื่อมีผู้มายื่นคำร้อง และเพื่อยืนยันในการเคารพในสิทธิการดำเนินการของผู้ร้อง พรรคเพื่อไทยไม่ได้วิตกกังวลอะไร การรับเรื่องและตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงนั้น ก็เป็นการดำเนินการตามลำดับขั้นตอนที่ต้องไปพิจารณากันอีกมาก
   

 นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ที่ระบุมีมูลนั้น ต้องไปพิสูจน์ว่ามีมูลอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด เรื่องนี้ต้องพิจารณาองค์ประกอบและรายละเอียดต่างๆอย่างละเอียด ต้องดูเหตุและผล และความเชื่อมโยงประกอบ คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาและดำเนินการอีกหลายเดือน
     

 ส่วนตัวมั่นใจว่าทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทยสามารถชี้แจงได้ไม่มีอะไรต้องไปวิตกกังวลอะไร ทั้งงานนิติบัญญัติในสภาของสส.และงานบริหารของรัฐบาล สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่มีอะไรติดขัดหรือเป็นปัญหา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ไม่ได้กังวลใจอะไร ยังคงมีสมาธิและมุ่งมั่นในการทำงานในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติและประชาชน ต่อไป