“สรรเพชญ” รุดหน้ารับเรื่องร้องทุกข์ชาวประมงสงขลา จี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา

          เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567  ณ สมาคมประมงจังหวัดสงขลา  นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา ได้เข้าร่วมประชุมกับส่วนราชการพี่น้องชาวประมง ตัวแทนภาคเอกชน นำโดย "ดร.สรุเดช นิลอุบล" นายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เพื่อ หารือถึงแนวทางการแก้ไขวิกฤติปัญหาประมงที่เกิดขึ้นและผลพ่วงจากการบริหารจัดการในอดีต  ตลอดจน รับเรื่องร้องทุกข์จากชาวประมงในพื้นที่อำเภอเมือง สงขลา และพื้นที่โดยรอบ

          ทั้งนี้ นายสรรเพชญ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาครัฐมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งอยู่ระหว่างการเยียวยาในโครงการรับซื้อเรือคืน พร้อมกันนั้น ได้รับหนังสือร้องเรียนจากนายกสมาคมประมงสงขลา เพื่อให้ช่วยเร่งรัด การเยียวยาการรับซื้อเรือคืน และการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าทะเลตกต่ำ

          โดยนายสรรเพชญ กล่าวว่า “วันนี้ได้มาร่วมประชุมกับส่วนราชการ พี่น้องประชาชน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าทุกข์ร้อนของพี่น้องชาวประมงเป็นเรื่องที่รัฐบาลปล่อยประละเลยมานาน ความล่าช้าของการบริหารจัดการของรัฐบาลเป็นเหมือนทะเลเพลิงที่กำลังฆ่าพี่น้องชาวประมง ทั้งเรื่องความล่าช้าของโครงการรับซื้อเรือคืนซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้ง เรื่องสินค้าทะเลของบ้านเรามีต้นทุนสูง จนไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ปัญหาเหล่านี้ มีความสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตโดยตรงของพี่น้องชาวประมง”

          นายสรรเพชญ ยังได้ลงพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือเพื่อสำรวจเรือประมงที่รอการเยียวยาในโครงการรับซื้อเรือคืน ซึ่งที่สงขลามีราว  197 ลำ จากทั่วประเทศกว่า 1,000 กว่าลำ โดยพบว่าเรือประมงจำนวนหลายร้อยลำที่จอดเทียบท่านั้น บางลำอยู่ในสภาพชำรุด  จมอยู่ในน้ำ ตลอดจนได้รับความเสียหายจากการลักขโมยอุปกรณ์ภายในเรือ  ทั้งนี้ นายสรรเพชญ ได้รับหนังสือร้องทุกข์จากสมาคมประมงสงขลา พร้อมกล่าวในรายละเอียดว่า “ผมได้ลงสำรวจเรือชาวประมงที่รอกระบวนการยาของภาครัฐในโครงการรับซื้อเรือคืน และได้รับหนังสือร้องทุกข์จากท่านนายกสมาคมประมงขลาจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นปัญหาของพี่น้องชาวประมงสงขลาได้ออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ คือ

          1.) ความล่าช้าของกระบวนการเยียวยาในโครงการรับซื้อเรือคืน ซึ่งพูดกันตามข้อเท็จจริง ถือว่าเป็นการเยียวยาที่ใช้เวลามาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จ

          2.) ราคาสินค้าทะเลของไทย เช่น ปลาหมึก ปลาจาระเม็ด ปลากะพง ที่มีราคาตกต่ำ ขณะที่ต้นทุน เช่น ราคาน้ำมัน กลับมีราคาสูง ประกอบกับการนำเข้าสินค้าทะเลจากต่างประเทศมีราคาที่ถูกว่า ทำให้โรงงานเลือกที่จะไม่ซื้อสินค้าภายในประเทศ ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมง

          3.) สมาคมประมงสงขลา ต้องการให้เร่งรัดผลักดันการแก้ไข พรก.ประมงให้แล้วเสร็จเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่าง ๆ

          ภายหลังการรับเรื่องร้องทุกข์ และพบปะพูดคุยกับพี่น้องชาวประมงสงขลา นายสรรเพชญ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า “ตนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของพี่น้องชาวประมง จะรับข้อร้องเรียนนี้ เพื่อผลักดันต่อในสภาผู้แทนฯ อย่างน้อยหลังจากนี้ คือ การตั้งกระทู้ถามรัฐบาล การอภิปรายร่างแก้ไขกฎหมายประมง และการอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณปี 2567 เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลปล่อยประละเลย และเพื่อรักษาสิทธิ์ และทวงคืนลมหายใจให้กับพี่น้องชาวประมงทุกคน”