วันที่ 11 ก.พ.67 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “รถเมล์ชาวกรุง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระจายทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการให้บริการของรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง โดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการใช้บริการรถเมล์ในกรุงเทพมหานครในปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 45.95 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการเลย รองลงมา ร้อยละ 22.60 ระบุว่า ใช้บริการรถเมล์เป็นบางครั้ง ร้อยละ 21.83 ระบุว่า เคยใช้บริการ แต่ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้ใช้บริการเลย และร้อยละ 9.62 ระบุว่า ใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำ
เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า ใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำ และใช้บริการรถเมล์เป็นบางครั้ง (จำนวน 422 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับการให้บริการของรถเมล์ในกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 38.15 ระบุว่า การให้บริการไม่แย่ลงและไม่ดีขึ้น แค่พอยอมรับได้ รองลงมา ร้อยละ 24.41 ระบุว่า การให้บริการดีเหมือนเดิม ร้อยละ 22.51 ระบุว่า การให้บริการดีขึ้น ร้อยละ 10.43 ระบุว่า การให้บริการแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 4.50 ระบุว่า การให้บริการแย่ลง
เมื่อถามตัวอย่างที่ระบุว่า ใช้บริการรถเมล์อยู่เป็นประจำ ใช้บริการรถเมล์เป็นบางครั้ง และเคยใช้บริการ แต่ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาไม่ได้ใช้บริการเลย (จำนวน 708 หน่วยตัวอย่าง) เกี่ยวกับการปรับเลขสายรถเมล์ใหม่ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.98 ระบุว่า ควรใช้เลขสายรถเมล์แบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีต เช่น สาย 150 เป็นต้น รองลงมา ร้อยละ 20.20 ระบุว่า เห็นด้วยกับเลขสายรถเมล์ใหม่ที่ไม่มีขีด แต่ยังคงวงเล็บเลขสายรถเมล์เดิม เช่น สาย 115 (150 เดิม) ร้อยละ 8.48 ระบุว่า เห็นด้วยกับเลขสายรถเมล์ใหม่ที่มีขีด เช่น สาย 1-15 และร้อยละ 7.34 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อพฤติกรรมการขับขี่ของรถเมล์บนท้องถนนในกรุงเทพมหานครในปัจจุบัน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.18 ระบุว่า ส่วนใหญ่การขับขี่ไร้วินัยเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 27.33 ระบุว่า ส่วนใหญ่การขับขี่มีวินัยดีเหมือนเดิม ร้อยละ 23.05 ระบุว่า ส่วนใหญ่การขับขี่มีวินัยที่ดีขึ้น ร้อยละ 9.55 ระบุว่า ส่วนใหญ่การขับขี่ไร้วินัยมากขึ้น และร้อยละ 3.89 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ตัวอย่าง ร้อยละ 45.95 เป็นเพศชาย และร้อยละ 54.05 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 15.11 อายุ 15-25 ปี ร้อยละ 16.34 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 25.20 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 25.11 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 94.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 4.05 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 1.75 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 43.97 สถานภาพโสด ร้อยละ 52.90 สมรส และร้อยละ 3.13 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 11.83 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 30.08 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.78 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 40.08 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 10.23 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 6.79 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 28.25 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 26.26 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 0.38 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 8.24 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 22.45 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 7.63 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 26.72 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 5.42 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 22.75 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 14.12 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 7.10 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 9.62 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.27 ไม่ระบุรายได้