วันที่ 5 ก.พ.2567 ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน สว. กล่าวถึงกล่าวถึงญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตาม มาตรา 153 ของวุฒิสภา ว่าโดยปกติการเสนอญัตติให้รัฐมนตรีมาชี้แจงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และต้องเร่งด่วนพอสมควร ถ้าทิ้งเวลาไปช่วงเดือนมี.ค.แม้จะสามารถทำได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะทบทวนให้ใกล้กว่าช่วงนั้นน่าจะเป็นประโยชน์ เชื่อว่าวิป 2 ฝ่ายจะพูดคุยตกลงกันได้ เพราะช่วงเวลาจากนี้ไปจะมีหลายเรื่องรุมล้อมเข้ามา ทั้งในส่วนสภาฯจะอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติหรือไม่ และยังมีการประชุมร่วมรัฐสภา 16 ก.พ.เพื่อพิจารณา ร่างพ.ร.บ.แก้รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และยังมีผู้ยื่นแก้มาตรา 256 รวมไปถึงการยื่นแก้ไขพ.ร.บ. ว่าด้วยการประชามติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องเสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งหากมีวาระเหล่านี้ การอภิปรายของ สว.ในประเด็นเดียวกันก็อาจจะน้อยลง
เมื่อถามว่าการเปิดให้ สว. มาลงชื่อเพื่อกำหนดกลุ่มอภิปรายตามหัวข้อ นายคำนูณ กล่าวว่า ต้องรอดูเวลาก่อน ถ้าได้เพียง 1 วัน มีจำนวนชั่วโมงที่ต้องนำมาหารเวลากัน มีทั้งสว.ที่ลงและไม่ลงชื่อ อาจอภิปรายไม่ได้ทุกคน เพราะเมื่อแบ่งเวลากันแล้ว อาจจะเหลือ อภิปรายคนละ 5-7 นาที หรือ ไม่เกิน 10 นาที
“ส่วนตัวเตรียมอภิปรายเพียงเรื่องเดียว เกี่ยวกับการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนหรือโอซีเอ ระหว่างไทยกับกัมพูชา เพราะยังไม่มีใครพูดถึงมากนัก ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่นโครงการดิจิทัลวอลเลต มีการถกเถียงกันมากแล้ว หากครม. ตกลงจะเสนอ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ก็จะมีเวทีพูดคุยเรื่องนี้” นายคำนูณ กล่าว