เมื่อเวลา 10.40 น. ของวันที่ 5 ก.พ.67 ผู้สื่อข่าาวรายงานว่า กลุ่มแอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ตัวแทนมวลชนบางส่วนเดินขบวนถึงแยกสวนมิสกวัน ถนนพิษณุโลก มุ่งหน้าไปยังศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ทำเนียบรัฐบาล แต่ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมเดินผ่านถนนพิษณุโลกเข้าไป เนื่องจากเป็นพื้นที่หวงห้ามเพราะใกล้สถานที่ราชการและเกรงว่าจะกระทบกระทั่งกับม็อบฝั่งภาคีกลุ่มราชภักดี ที่จัดการชุมนุมอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ จึงอนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักอยู่บริเวณถนนพิษณุโลก ฝั่งแยกส่วนมิสกวัน เพื่อให้ตัวแทนรัฐบาลเดินทางออกมารับหนังสือ โดยมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกมาเฝ้าสังเกตการณ์ 

ด้านนางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พบการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองมากถึง 1,938 คน ในจำนวนนี้มีเด็กกว่า 286 คนและอย่างน้อย 20 กว่าราย รวมทั้งนายอานนท์ นำภา พี่ยิ่งถูกคุมขังในเรือนจำ 

ทางเครือข่ายแอมเนสตี้และภาคประชาชน จึงอยากจะสื่อสารกับทางรัฐบาลว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองทั้งหมด ควรได้รับการนิรโทษกรรม ไม่ควรจะต้องถูกดำเนินคดีจากการที่เขาใช้สิทธิเสรภาพในแสดงออกทางการเมืองในประเทศตัวเอง โดยได้ยื่นหนังสือและนำรายชื่อจำนวน 7,301 รายชื่อที่ระดมกันจากทั่วทุกมุมโลก มายื่นแก่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถือว่าเป็นรัฐบาลพลเรือนที่ได้ชื่อว่ามาจากการเลือกตั้ง ซึ่งควรที่จะต้องทำหน้าที่ปกป้องประชาชนและไม่ให้พวกเขาถูกจับกุมคุมขัง รวมทั้งได้รับสิทธิการประกันตัว 

ยิ่งไปกว่านั้น จากการที่รัฐบาลไทยประสงค์ที่จะนำประเทศไทยสมัครเข้าสู่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหรือ HCR ระหว่างปี 2568 อยู่ 2570 รัฐบาลไทยก็ควรจะต้องบอกประชาคมโลกให้รับรู้ว่า จะไม่มีการดำเนินคดีจับกุมกับผู้ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย 

สำหรับข้อเรียกร้องที่ส่งถึงในรัฐบาลในวันนี้นั้น ประกอบไปด้วย ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองต้องได้รับสิทธิ์การประกันตัวการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดีโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข รวมทั้งอยากให้มีการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน 

ส่วนประเด็นที่กำลังจะมีการยื่นกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนั้น มองว่า เป็นหน้าที่ของทั้งภาคประชาชนและพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นสำคัญ หวังว่าทุกพรรคการเมืองจะเห็นชอบกับการนิรโทษกรรมและประชาชนจับตาเฝ้ามองทุกพรรคการเมืองอยู่ 

ด้านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลที่ออกมารับหนังสือเปิดเผยว่า เรื่องนี้ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะรับไปเร่งรัดพิจารณาโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม มองว่าสำหรับนายอานนท์แล้วก็ถือว่าเป็นคนบ้านเดียวกับตน ก็ไม่ควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีทางการเมืองลักษณะแบบนี้ ซึ่งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีการอภิปรายร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ก็จะนำข้อเสนอต่าง ๆ จากประชาชนไปอภิปรายชี้แจงในที่ประชุมสภาให้ โดยเน้นย้ำว่า การยื่นนิรโทษกรรมในเวลานี้ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะต้องยกเว้นความผิดตามกฎหมายข้อใดก็ตาม แต่ทางรัฐบาลจะเร่งรับเรื่องนี้ไปดำเนินการให้ 

 


#นิรโทษกรรม #แอมเนสตี้