เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่สำนักงานองคมนตรี ทำเนียบองคมนตรี พระราชอุทยานสราญรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วุฒิสภา นำโดย ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการ นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ในฐานะประธานกรรมการ พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะกรรมการโครงการกองทุนการศึกษา นายนพพร รอยลาภเจริญพร ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการกองทุนการศึกษา และนายปราบดา ตฤษณานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการกองทุนการศึกษา เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ (ระหว่าง พ.ศ. 2563-2566)
โดยมีคณะอนุกรรมการ รวม 6 คณะ ขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าว อาทิ การจัดอบรมเยาวชนในโครงการพัฒนาผู้นำนักประชาธิปไตยสำหรับเยาวชนด้วยกระบวนการลูกเสือ ณ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชลบุรี และกรุงเทพมหานคร, รับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กว่า 1,000 รายการ พร้อมตรวจสอบ บำรุงรักษาและดำเนินการส่งมอบ ติดตั้ง ให้แก่โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาที่ขาดแคลน ตลอดจนให้การสนับสนุนระบบสื่อสารสารสนเทศและการเรียนการสอนทางไกลผ่านระบบดิจิทัล ,พัฒนาด้านกายภาพให้แก่โรงเรียนในโครงการกองทุนการศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ พัฒนา ปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างอาคารเรียน ลานกีฬา ระบบน้ำประปา ไฟฟ้า โรงอาหาร อาคารบริการน้ำดื่ม และอื่น ๆ โดยได้รับความอนุเคราะห์งบประมาณ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงกำลังพลจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาในพื้นที่
คณะจัดฝึกอบรมหลักสูตรจิตอาสาให้กับครูและนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้นำนักประชาธิปไตยสำหรับเยาวชนด้วยกระบวนการลูกเสือ เพื่อปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ,ประชาสัมพันธ์กิจกรรม ผลงาน และภารกิจการดำเนินงานของคณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วุฒิสภา และคณะอนุกรรมการ รวมถึงประสานงานกับสื่อมวลชนทั้งภาครัฐและเอกชน ,จัดหลักสูตรเสริมสร้างอาชีพและการออม ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในรูปแบบการศึกษาผ่านสื่อสังคมออนไลน์
พลเอก สุรยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณและกล่าวถึงความคืบหน้าในส่วนของโครงการกองทุนการศึกษาที่รับผิดชอบดูแลอยู่ เป้าหมายหลัก คือ โรงเรียนชายขอบที่เน้นเด็กนักเรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับและนำกลับไปประกอบอาชีพได้ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงปัญหาด้านงบประมาณอาหารกลางวันที่จำเป็นต้องบริหารจัดการให้เพียงพอต่อคุณภาพชีวิตของเด็กนักเรียน เรื่องชุมชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีความยากลำบากต่อการเดินทางมาเรียน และเรื่องอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติภารกิจทั้งหมดนั้นก็เพื่อสืบสานตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั่นคือ “สร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” พร้อมกับน้อมนำพระราโชบายด้านการศึกษาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มาประสานปรับใช้เป็นแนวทางของโครงการกองทุนการศึกษาให้พัฒนาต่อยอดสืบต่อไป
ประธานคณะอนุกรรมการทั้ง 6 คณะ ประกอบด้วย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง นายจเด็จ อินสว่าง พลเอก พิศณุ พุทธวงศ์ พลเอก วรพงษ์ สง่าเนตร นายจิรชัย มูลทองโร่ย นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ รวมถึงกรรมการ เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ ผู้แทนจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดรีม ทีม เน็ตเวิร์ค จำกัด ได้เข้าพบและร่วมรับฟังด้วย
ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 4 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานเพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วุฒิสภา ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และคุณค่าของโครงการกองทุนการศึกษาในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนควบคู่ไปกับการปลูกฝังระบบคุณธรรม จริยธรรม ปลูกจิตสำนึกของความเป็นไทย คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วุฒิสภาจะยังคงดำเนินงานให้การสนับสนุนโครงการฯ อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อสนองงานตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ตลอดไป