“จาตุรนต์”หวั่นสว.ส่งสัญญาณ ยึดร่างพ.ร.บ.ประชามติเสียงข้างมาก 2 ชั้น สกัดแก้รธน.ทำประเทศล้าหลัง-สร้างความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2567 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ว่า

เช้าวันนี้ผมเข้าชี้แจงต่อวุฒิสภาในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ในวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ผมชี้แจงว่าในวันพรุ่งนี้สภาผู้แทนราษฎรจะยืนยันให้ทำประชามติเสียงข้างมากชั้นเดียว ซึ่งจะแตกต่างจากการลงมติของวุฒิสภา จึงจะทำให้ต้องรอไปอีก 180 วัน แต่ความล่าช้านี้ไม่ใช่ปัญหาหลักของการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะการที่ สว.ลงมติยืนยันให้ทำประชามติโดยกติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้นเป็นการส่งสัญญาณว่า สว.ไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ และจะทำให้ สว.จะหาทางสกัดไม่ให้การแก้รัฐธรรมนูญทำไม่ได้ไปอีกนาน

เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะอำนาจขององค์กรต่าง ๆ ไม่มาจากการเลือกตั้ง ระบบยุติธรรมถูกบิดเบือนไม่มีหลักนิติธรรม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกได้ ดังนั้นถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญนี้ในอนาคตก็จะมีแต่ความล้าหลัง และนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมจนตามมาด้วยการฉีดรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากวงจรที่เกิดขึ้นมาตลอด

แต่ด้านวุฒิสภาที่เห็นชอบให้มีการทำประชามติแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้นให้เหตุผลว่าการกำหนดจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ให้มากกว่าครึ่งหนึ่งจะได้มีคนมาลงประชามติกันมาก ๆ และเป็นความชอบธรรม ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่ทั่วโลกพบเพราะประเทศต่างๆ ที่กำหนดผู้มาใช้สิทธิ์ในลักษณะเดียวกันนี้ทำให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะนอนอยู่บ้านและคะแนนไปรวมกับเสียงของผู้ที่จะไม่ประสงค์จะลงคะแนน จนทำให้ประชามตินั้นไม่ผ่านและทำให้มีบางประเทศยกเลิกการทำประชามติแบบ 2 ชั้นไปแล้ว

ในช่วงที่ผมต่อต้านคัดค้านรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ ถ้าจำกันได้มีนักข่าวไปถามรองนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นว่าจะใช้กติกาเสียงข้างมาก 2 ชั้นหรือไม่ รองนายกตอบทันทีว่าจะทำตามกฎหมายประชามติฉบับปี 2559 ซึ่งเป็นกติกาเสียงข้างมากชั้นเดียว เป็นพยานหลักฐานอย่างดีว่าผู้ที่ทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเข้าใจดีว่าถ้าทำประชามติเสียงข้างมาก 2 ชั้น รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็คงไม่ผ่านมาได้

ดังนั้นเมื่อเมื่อต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการได้มา ไม่ว่าจะเป็นการแก้รายมาตราก็ดีหรือการแก้ทั้งฉบับก็ดีก็ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับรัฐธรรมนูญฉบับแม่ จึงจะถือว่าเป็นหลักที่แข็งแรงที่สุดที่ควรจะต้องใช้

180 วัน ที่ทำให้ล่าช้าเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องสำคัญผมยังคิดว่าคือการส่งสัญญาณต่อสังคมของวุฒิสภา ที่ส่งสัญญาณว่าไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง มันก็เป็นเรื่องน่ากลัวว่า ต่อไปท่านสามารถมีวิธีการอื่นอีกที่ไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ จนในที่สุดการลงประชามติผ่านแล้ว ถ้าสว.ลงมติในรัฐสภามีเสียงไม่เกิน 1 ใน 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็ไม่ผ่านอยู่ดี

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฉบับนี้ไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเมืองของประเทศไทยซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยมานานแล้วเป็น 10 ปีแล้ว ถ้าติดล็อกอาจจะเป็นวิกฤตที่ยืดเยื้อเรื้อรังต่อไปอีกสิบ ๆ ปี ประเทศจะต้องเผชิญหน้ากับสังคมที่ล้าหลัง จนกลายเป็นความขัดแย้ง และจะส่งต่อสิ่งเหล่านี้ยาวนานไปจนถึง Generation ต่อๆไป