รองฯ 'เต่า' เผย 'ธนดล' ไม่ใช่ ที่ปรึกษาหมู แต่เชื่อมีข้อมูลคดีจ่อเรียกให้ปากคำ เผยมี จนท.รัฐคนดังถูกแก๊ง "พี่ศรี" ตบทรัพย์เพิ่ม จ่อแจ้งเอาผิด
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 30 ม.ค.67 พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. กล่าวถึงกรณีนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำเอกสารแชทระหว่าง “นายเอก” และ “นายธนดล” มามอบให้กับตนเองว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการหารือ เนื่องจากนายธนดลตอนแรกประสานจะเข้ามาพร้อมกับนายอัจฉริยะ แต่ติดภารกิจไม่ได้เข้ามา จึงมีการนัดหมายเจรจากันในภายหลัง พร้อมกับยืนยันว่า นายธนดล ไม่ใช่ “นายหมู“ ที่นายอัจฉริยะเคยบอกว่าเป็นตัวกลางพาอธิบดีและภรรยาไปที่บ้านนายศรีสุวรรณ โดยนายหมู มีชื่อจริงว่า ”สุธี“ เป็นที่ปรึกษาอีกคนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ
“ทั้งนี้ทราบว่านายหมู ไม่ได้มีบทบาทอะไรในคดี แต่เมื่อมีเรื่องร้องเรียนเกิดขึ้นในกระทรวงเกษตรฯ ก็เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาน่าจะใช้ให้เข้ามาดูปัญหาและจัดการปัญหาให้จบ โดยไม่ได้ดูในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร ซึ่งภรรยาของอธิบดีเองก็ยืนยันกับตำรวจว่านายหมูไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการตบทรัพย์ แต่ตำรวจก็ยังไม่ปักใจเชื่อ ยังต้องมีการขยายผล ซึ่งจะมีการเชิญนายหมูเข้ามาให้ปากคำในสำนวนด้วย อย่างไนก็ตามยืนยันว่า นายธนดล ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคดี แต่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ให้มาตรวจสอบเรื่องนี้ โดยเชื่อว่านายธนดลมีข้อมูลที่จะนำเข้ามาพูดคุยกับตนเอง
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากกรณีของอธิบดีกรมการข้าว ล่าสุดมีข้าราชการการเมืองที่มีชื่อเสียงติดต่อเข้ามา เพื่อจะแจ้งความหลังถูกกลุ่มของนายศรีสุวรรณเรียกรับผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกัน โดยยังไม่ได้พูดคุยในรายละเอียดแต่มีการประสานจะเข้าพบ ส่วนกรณีที่ปรึกษากฎหมายของอธิบดีกรมการข้าว กังวลปมนายยศวริศ ชูกล่อม หรือ ”เจ๋ง ดอกจิก“ ถูกปลดจากคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ของรองนายกฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 จะไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐขณะเรียกรับผลประโยชน์แล้วทำให้ข้อหาอ่อนลงนั่น ยอมรับว่าหากมีคำสั่งปลดก่อนเรียกรับผลประโยชน์จริง นายยศวริศ จะไม่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เบื้องต้นยังไม่เห็นคำสั่งปลด และก่อนที่จะมีการออกหมายจับได้รับการยืนยันจาก ป.ป.ช. แล้วว่านายยศวริศ มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐในขณะกระทำความผิด หากมีคำสั่งปลดจริง ก็จะต้องตรวจสอบเอกสารให้ชัดเจน
“อย่างไรก็ตาม ในขบวนการนี้ มีคนที่เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแน่ๆ ขณะเรียกรับผลประโยชน์ คือ น.ส. พิมณัฏฐา จิระพุทธิภาคย์ หรือ “ตูน” ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานเขตตรวจราชการที่ 11 ของรองนายกฯ เช้าวันที่ 26 มกราคม 2567 ก่อนมีการล่อซื้อที่บ้านนายศรีสุวรรณ เพราะเป็นคนเจรจานัดหมายในการวางเงินวันนั้น ซึ่งเมื่อมีหนึ่งคนเข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ร่วมขบวนการก็ต้องเข้าข่าย “สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐฯ” ซึ่งตามกฎหมายจะต้องรับโทษ 2 ใน 3 “ รอง ผบช.ก. กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการทำคดีนี้ กลัวจะเป็นการล้มยักษ์หรือเปล่า เพราะเริ่มมีรายงานข่าวผู้ใหญ่โทรเบรกทางฝั่งที่ปรึกษากฎหมายของอธิบดี พล.ต.ต.จรูญเกียรติ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่กลัว เพราะรูปปั้นท้าวเวสสุวรรณหรือว่ารูปปั้นยักษ์หน้า บก.ปปป. ตัวใหญ่กว่า พร้อมบอกว่าอยากเจอหัวหน้ายักษ์เหมือนกัน เพราะเชื่อว่ายักษ์จะตัวใหญ่แค่ไหนก็สู้ความจริงไม่ได้