ทั้ง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” สส.บัญชีรายชื่อ และพรรคก้าวไกล ยังเหลือ “ด่านหิน” ให้ต้องลุ้นกันต่ออีก 1คดี ในวันนี้ (31 ม.ค.2567) โดยองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัย เวลา 14.00 น. กรณีที่พรรคก้าวไกล รณรงค์ให้มีการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112 นั้นเข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่  โดยก่อนหน้านี้ พิธา เพิ่งรอดจากบ่วง คดีการถือครองหุ้นไอทีวี สามารถรักษาสถานะการเป็นสส.เอาไว้ได้ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับที่มาที่ไปของคดีมาตรา 112 หรือคดีล้มล้างการปกครอง นั้นสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2566 “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร”  ทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ ยื่นคำร้องต่อ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” หรือกกต.  ให้ตรวจสอบพรรคก้าวไกล ในการหาเสียงให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) หรือไม่

ต่อมาในวันที่ 30 พ.ค.2566 “ธีรยุทธ”  ได้ยืนคำร้องต่อ “อัยการสูงสุด”   เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้มีคำวินิจฉัยสั่งการให้ พิธา หัวหน้าพรรคในขณะนั้น และพรรคก้าวไกล เลิกกระทำการใดๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

แต่ธีรยุทธ เห็นว่า อัยการสูงสุด ได้ดำเนินการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง โดยในประเด็นนี้ “โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง” รองโฆษกอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า เมื่อได้รับคำร้องมา ได้พิจารณาคำร้อง และตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณา โดยได้เชิญผู้ร้องมาให้ถ้อยคำประกอบคำร้องเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ แต่หน่วยงานที่ประสานไปยังไม่ส่งข้อมูลมา

* ธีรยุทธ สุวรรณเกสร  ทนายความของอดีตพระพุทธอิสระ

จากนั้น ในวันที่ 12 ก.ค.2566  ธีรยุทธ ได้ “ยื่นคำร้องตรง” ต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ”  ด้วยตัวเอง เพื่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของพิธา หัวหน้าพรรค  และพรรคก้าวไกล  ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

25 ธ.ค.2566 กำหนดให้มีการไต่สวนพยานบุคคล  จำนวน2 ปาก คือ พิธา และ “ชัยธวัช  ตุลาธน” ในฐานะหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เข้ามาทำหน้าที่ต่อจากพิธา โดยทั้งคู่แสดงความมั่นใจว่า คดีมาตรา 112 จะไม่นำไปสู่การถูก “ยุบพรรค”

“ ปัจจุบันเราสำหรับข้อเท็จจริงคดีนี้ สามารถที่จะอธิบายได้ว่าเป็นความตั้งใจอย่างไร เจตนาอย่างไร อย่างที่บอกมีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ทำไม่ได้ล้มล้างการปกครอง” พิธา ระบุ

26 ม.ค.2567 พิธา ให้สัมภาษณ์สื่อ โดยตอบคำถาม ถึงแนวทางการดำเนินนโยบายแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเดินหน้าต่อหรือไม่ ว่า “ขณะนี้ยังทำอะไรไม่ได้ ต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ในพรรคยังไม่ได้พูดคุยกัน”

27 ม.ค.2567 เพจเฟซบุคพรรคก้าวไกล ปล่อยคลิป ความยาว 7.58 นาทีในชื่อ “ ปฏิรูป ต้องไม่เท่ากับล้มล้าง  แก้ไข 112 ไม่เท่ากับล้มสถาบัน แต่คือหน้าที่ตามระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา” ยืนยันว่า การแก้ไข ไม่ใช่การล้มล้าง

30 ม.ค.2567 พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ในวันนัดฟังคำวินิจฉัย 31 ม.ค.นี้ทั้งพิธา และชัยธวัช จะไม่ได้เดินทางไปที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง เนื่องจากต้องปฎิบัติหน้าที่ที่สภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ดี มีการประเมินแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 31 ม.ค.67 นี้ว่าจะออกมาด้วยกัน 3 ทาง

หนึ่ง องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ “ยกคำร้อง”  เนื่องจากเห็นว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถือว่ายุติคดี

สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ไม่เป็น” การล้มล้างการปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สั่งให้หยุดการกระทำการในลักษณะดังกล่าว

สาม  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง” ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยผลพวงจากในแนวทางที่สาม จะนำไปสู่ การเคลื่อนไหว ให้มีคนไปยื่นเรื่องต่อ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” คือ กกต. เพื่อให้กกต.ยื่นคำร้องเอาผิด ทั้ง พิธาและพรรคก้าวไกล ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 (2) ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่บัญญัติว่า

“ หากพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองฯ ให้ กกต.ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค”