เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 1 ก.พ. 2567  ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เดินทางไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้กกต. ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมือง จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล และพรรคก้าวไกลว่า มีนโยบายหาเสียงยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ศาลจึงสั่งให้ยุติการกระทำ เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าการยกเลิกมาตรา 112 เป็นการกระทำที่ไม่ควร อีกทั้งการแก้ไขกฎหมายก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติจึงถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ

นายเรืองไกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ซึ่งผู้ถูกร้องมี 2 ราย คือ 1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อและประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล  2.พรรคก้าวไกล โดยผู้ร้องใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 เมื่อเห็นว่ามีผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มลล้างการปกครอง ซึ่งจะต้องร้องไปที่อัยการสูงสุด ตามบทบัญญัติแล้วมีเวลา 15 วันในการวินิจฉัย หากวินิจฉัยเรียบร้อยหรือไม่วินิจฉัย ผู้ร้องมีสิทธิ์ยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง 

โดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 49 แล้ว คือเลิกการกระทํา ถ้าศาลเห็นว่ามีการใช้สิทธิที่ถือเป็นภาพล้มล้างการปกครอง ซึ่งก็ชัดเจนว่าศาล กล่าวว่า ผู้ถูกร้องทั้งสองใช้สิทธิเพื่อล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 โดยมีคำวินิจฉัยเพิ่มเติมดังนี้ 1.ห้ามยกเลิกกฎหมายมาตรา 112  ประการที่ 2.ห้ามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายมาตรา 112 หรือกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งเป็นอำนาจของนิติบัญญัติ

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า คําว่าล้มล้างการปกครองอยู่ในกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมืองตามมาตรา 92(1)(2) อาจจะเป็นปฏิปักษ์จะถูกยุบพรรค ซึ่งตนก็เคยโดนมาตรา 92(1)(2) ตามศาลฯวินิจฉัย เมื่อตอนสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ต่อมาศาลได้วินิจฉัยมาตรา 49 กรณีกลุ่มเยาวชนใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นเสนอข้อเรียกร้องต่าง ๆ ทางศาลวินิจฉัยการกระเหล่านี้ว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ โดยผู้ถูกร้องเป็นประชาชนทั่วไป ไม่ใช่หัวหน้าพรรคการเมืองหรือพรรคการเมือง จึงไม่มีผลต่อการนํามาใช้กฎหมายของพรรคการเมืองต่อไปได้ โดยผลของคําวินิจฉัยศาล ซึ่งเป็นเด็ดขาดก็เชื่อมโยงกับกกต.และสภา และทางสภาจะบรรจุวาระอะไรต่าง ๆ ไม่ได้แล้ว หากมีลักษณะที่ไปละเมิดมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ

นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า เมื่อคําวินิจฉัยของศาลมีผลผูกพันธ์และเป็นประเด็นข้อเท็จจริงในสํานวนที่สู้กันมา โดยศาลบอกว่ามีการขอขยายเวลา วันนี้จึงต้องร้องให้กกต.นําผลคําวินิจฉัยไปดําเนินการยื่นคําร้องตามกฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 92(1) และมาตรา 92(2) กลับไปที่ศาล เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยว่าจะต้องยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ซึ่งคําสั่งของศาลจะเกี่ยวข้องกับ 1. กกต.ต้องทําตามหน้าที่และอํานาจ เพราะถือเป็นความปรากฎอยู่เฉยไม่ได้ 2. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนเคยร้องสส.พรรคก้าวไกล 44 คน กรณีใช้สิทธิและเสรีภาพชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ไปที่ป.ป.ช.มาแล้วเมื่อปี 2564 โดยใช้หนังสือสภาญัตติของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีการเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ด้วยส่วนหนึ่งสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นไปตามพยานหลักฐานและไม่เกี่ยวกับความรู้สึกส่วนตัวของตน 3.หน่วยงานรัฐสภา หากมีญัตติหรือมีการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบัน ไม่ว่าในทางใด ๆ ประธานสภาจะต้องยึดถือแนวทางที่ศาลฯให้ไว้ และวันนี้จําเป็นต้องมายื่นกกต.เพื่อให้ดําเนินการในส่วนนี้ก่อนพิจารณาเพื่อส่งศาลฯว่าจะยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่ ถ้าศาลกกต.ไม่ส่งก็จะทำไม่ได้เนื่องจากไม่มีผู้ร้อง ซึ่งอํานาจเป็นของกกต.ฝ่ายเดียว

เมื่อถามว่า คำวินิจฉัยนี้จะส่งผลต่อพรรคการเมืองอื่นๆที่เคยใช้การแก้ไขมาตรา 112 ในการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ ไม่ต้องเป็นห่วง หากมีน้ำหนักพอก็จะยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และน.ส.แพรทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เคยหาเสียงในประเด็นแก้ไขมาตรา 112

เมื่อถามอีกว่า มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลจะถูกยุบใช่หรือไม่ นายเรืองไกร กล่าวว่า ไม่น่าจะรอด เพราะศาลวินิจฉัยว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ซึ่งก็จะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปีด้วย

#ศาลรัฐธรรมนูญ #ก้าวไกล #คดีล้มล้างการปกครอง #มาตรา112