ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงส่วนใหญ่ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" รอดคดีถือครองหุ้นสื่อ  เหตุบริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ได้กลับเข้าสภาฯ ทำหน้าที่ส.ส.อีกครั้ง  ขณะที่กองเชียร์แห่ให้กำลังใจคึกคัก ยกเป็นนายกฯ ในดวงใจ ด้าน"นายกฯ" ไม่ขอให้ความเห็น คดีพิธา บอกเป็นเรื่องกระบวนยุติธรรม อ้างป่วยเลื่อนนอนค้างคืนทำเนียบรัฐบาล

     ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 24 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ตอบข้อสักถามกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีถือครองหุ้นไอทีวี ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แม้จะออกมาทางบวกหรือลบจะส่งผลต่อการเมืองหรือไม่อย่างไร ว่า ตนขอไม่ให้ความเห็นในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของกระบวนยุติธรรม ซึ่งตนเป็นฝ่ายบริหาร


 ส่วนเรื่องการพักค้างคืนที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลวันนี้นั้น ได้เลื่อนกำหนดการพักค้างคืนออกไปก่อน โดยยังไร้กำหนดวันใหม่ เนื่องจากไม่สบาย โดยมีไข้เล็กน้อย แต่ตรวจโควิด-19 แล้วไม่เป็น
  
   วันเดียวกัน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เวลา 09.30 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเริ่มประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ ลงมติและออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย คดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ผู้ร้อง ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นไอทีวี ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส. นับแต่วันที่ 19 ก.ค.66 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย 
  
   ทั้งนี้ ทีมงานของพรรคก้าวไกล แจ้งว่า นายพิธาจะเดินทางเข้ารับฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง ในเวลาประมาณ 12.45 น. 
    
 สำหรับบรรยากาศโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) เป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีการนำแผงรั้วเหล็กมากั้นโดยรอบทุกประตูทางเข้า-ออก ของสำนักงานฯ เป็นไปตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยในที่ทำการศาล พ.ศ.2562 ที่กำหนดห้ามผู้ใดเข้ามาในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มาปฏิบัติงาน หรือมาติดต่อราชการ และต้องผ่านการตรวจตัวบุคคลและสิ่งของที่นำมา ตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย เนื่องจากหน่วยงานทางความมั่นคงได้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าอาจมีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุหรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าอาจจะมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้นได้
    
 อย่างไรตามตั้งแต่เช้ายังมีสิ่งบอกเหตุหรือสถานการณ์ใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังมาคอยรักษาความสงบพอสมควร ขณะที่ด้านหน้าสำนักงานมีการติดตั้งมีการตั้งแผงเหล็กกันเป็นแนวยาวตั้งแต่สำนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษ นอกจากนี้ยังมีรถจีโน่ฉีดน้ำ กับรถควบคุมผู้ต้องหามาจอดในบริเวณใกล้เคียงด้วย
   
  ส่วนการเข้ารับฟังการวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญอนุญาตให้เฉพาะคู่กรณีและบุคคลที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ขณะที่สื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศ ให้ความสนใจเดินทางมาร่วมเกาะติดอย่างเนื่องแน่น โดยอนุญาตให้สื่อมวลชนที่ลงทะเบียน สามารถใช้พื้นที่ปฏิบัติงานที่บริเวณห้องสื่อมวลชนและบริเวณโถงกลาง ชั้น 2 ได้ พร้อมกับอำนวยความสะดวกด้วยการ ติดตั้งจอทีวีพร้อมลำโพงไว้ เพื่อรับฟังถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยรวมทั้งมีการถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยผ่านช่องทางยูทูบของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
   
  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 12.45 น. นายพิธา ได้เดินทางมายังอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วย นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพื่อรับฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายพิธา ให้สัมภาษณ์ว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน และสมาชิกพรรคก้าวไกล ทุกคนในพรรคที่คอยให้กำลังใจ ที่ทำงานหนักตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ที่ช่วยทำคำแถลงปิดคดี ส่วนตน มั่นใจในข้อเท็จจริง และความบริสุทธิ์ของตัวเอง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนการดำเนินงานของพรรค ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ก็จะทำงานเพื่อประชาชนต่อไป เสาร์ อาทิตย์นี้ก็ลงพื้นที่เหมือนเดิม ในกรณีที่กลับเข้าสภาได้ ส่วนจะเข้าได้เมื่อไหร่นั้น คงต้องคุยกับประธานสภาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการจัดการเรื่องเอกสารจะต้องใช้เวลา โดยตนจะให้ฝ่ายกฎหมายเป็นผู้ดำเนินการ 
    
 "วันนี้ขอฟังคำวินิจฉัยก่อน ผมยังมั่นใจในบรรทัดฐานคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้านี้ ซึ่งหากใครได้ลงรายละเอียดจะเข้าใจว่าการเป็นสื่อมวลชนนั้นจะต้องมีใบประกอบกิจการอะไรบ้าง" นายพิธา กล่าว และว่า สิ่งแรกที่จะทำทันที หลังฟังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ลงพื้นที่ภาคเหนือ 
   
  ผู้สื่อข่าว ถามว่า มีข้อกังวลใจอะไรบ้างหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่มีข้อกังวลใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือสถานการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งอนาคตก็ยังรับใช้พี่น้องประชาชนเหมือนเดิม ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรคก้าวไกลในการจัดทำแผนการทำงานของพรรคก้าวไกล ในปี 2567 มาถามว่า คาดว่ามติของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาเป็นเอกฉันท์หรือไม่ นายพิธากล่าวว่า ตนไม่อาจก้าวร่วงในเรื่องนี้ได้ คงต้องรอฟังอย่างเดียว 
    
 เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าอาจจะซ้ำรอยกับกรณีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายพิธา กล่าวว่า หากศาลลงรายละเอียด โดยกรณีของนายธนาธรนั้นมีเอกสารที่สามารถพิจารณาได้ว่ายังสามารถประกอบกิจการได้ แต่กรณีของบริษัทไอทีวี ทางกสทช.ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีคลื่นความถี่ ไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ ที่สำคัญคือตนได้โอนหุ้นให้กับน้องชายแล้วตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้น กับทางบริษัทไอทีวี เมื่อถามว่า กระบวนการหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้วจะกลับไปเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ตนและนายชัยธวัชไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง ตนแค่ต้องการทำงาน ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ 
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการให้สัมภาษณ์ มีประชาชน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ จำนวนหนึ่งมาให้กำลังใจ หลังจบการสัมภาษณ์ต่างกรูกันเข้ามาหานายพิธา พร้อมตะโกนคำว่า "นายกฯ พิธา" "นายกฯ ในดวงใจ" 
     ต่อมา เวลา 14.00 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  เริ่มอ่านคำวินิจฉัย โดยมีมติด้วยเสียงข้างมาก ว่า การถือครองหุ้นสื่อของนายพิธา ไม่ขัดต่อต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 89 (3) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของส.ส.ของนายพิธาไม่สิ้นสุดลง ด้วยเหตุบริษัทไอทีวีไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ
   
  สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีมติเห็นชอบให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของนายพิธาไม่สิ้นสุดลง 8 เสียง ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม  ,นายปัญญา อุดชาชน ,นายอุดม สิทธิวอรัชธรรม ,นายวิรุฬห์ แสงเทียน ,นายจิรนิติ หะวานนท์ ,นายอุดม รัฐอมฤต และนายนภดล เทพพิทักษ์  ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นชอบให้สมาชิกภาพส.ส.ของนายพิธาสิ้นสุดลง ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์