ธีรยุทธบุกร้องศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย 6 พฤติกรรมทักษิณ ครอบงำรัฐบาล นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง พร้อมชง 8 ข้อ ให้สั่งยุติการกระทำ ด้าน"วิสุทธิ์"สวนทันควัน ลั่นไร้กังวลถูกยื่นยุบพรรค ยัน "ทักษิณ" ไม่เคยสั่งการ-ครอบงำ ซัดปัญญาอ่อนแบ่งเก้าอี้นายกฯ 2 ปี
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ต.ค.67 นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้องในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
ทั้งนี้ ก่อนยื่นคำร้อง ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ซึ่งครบกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดในวันที่ 9 ต.ค.67 ไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้ดำเนินการส่งคำร้องขอของผู้ร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญตามที่ร้องขอ ผู้ร้องจึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องฉบับนี้ เพื่อขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำใช้สิทธิและเสรีภาพอันอาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49
นายธีรยุทธในฐานะผู้ร้องมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปรากฏตามคำร้อง 65 หน้า โดยมีพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องทั้งสองแบ่งได้เป็น 6 กรณี ดังนี้ กรณีที่หนึ่ง ผู้ถูกร้องที่ 1 (นายทักษิณ) ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี โดยพบว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 (พรรคเพื่อไทย) เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ระหว่างต้องโทษจำคุกได้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อไม่ต้องรับโทษอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่น้อมรับโทษจำคุกในเรือนจำตามพระบรมราชโองการ การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ส่งผลให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่สุด
กรณีที่สอง ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ให้ประเทศกัมพูชาละเมิดอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยให้มีการเจรจาพื้นที่ที่ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (MOU2544) เพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติ และทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
กรณีที่สาม ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมือง (พรรคก้าวไกลเดิม) ที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ว่ามีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อผู้ถูกร้องที่ 1 และพวก
กรณีที่สี่ ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 ในการเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่นที่ร่วมรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 (บ้านจันทร์ส่องหล้า)
กรณีที่ห้า ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยผู้ถูกร้องที่ 2 ยินยอมกระทำการตามที่ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการ กรณีที่หก ผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และ เป็นผู้สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ให้นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.67
ผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยว่าทั้ง 6 กรณีผู้ถูกร้องทั้งสองได้มีการกระทำอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์สูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง หรือดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ย่อมเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง และผู้ถูกร้องทั้งสองมีการกระทำอันมีเจตนาเซาะกร่อนบ่อนทำลายระบบพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันทางการเมืองที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง การกระทำดังกล่าวทั้งสองประการ เป็นการกระทำที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด
เพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักของประเทศ และสถาบันพรรคการเมืองที่มีความสำคัญต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้รุกลามขยายใหญ่จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป จึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ดังนี้ 1.ให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์
2.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการการดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 3.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน สั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1 4.ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 เลิกกระทำการใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
5.ให้พรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการอันเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์ 6.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือกระทำการเป็นเจ้าของ ผู้ครอบครอง ผู้ครอบงำ และเป็นผู้สั่งการ การดำเนินงานของพรรคผู้ถูกร้องที่ 2 7.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้พรรคผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเครื่องมือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินสั่งการรัฐบาลให้ดำเนินการตามความต้องการของผู้ถูกร้องที่ 1 และ 8.ให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
ทั้งนี้ นายธีรยุทธได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยคำร้อง 65 หน้า และเอกสารประกอบอีกจำนวน 443 แผ่น รวมคำร้องและเอกสารประกอบชุดละ 508 แผ่น จำนวน 10 ชุด รวมเอกสารทั้งสิ้น 5,080 แผ่น
ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานส.ส.เพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณและพรรคเพื่อไทยเลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า เห็นพูดกันตลอดว่านายทักษิณครอบงำพรรค ตนเป็นประธานในที่ประชุมพรรค ก็ยังไม่เห็นท่านมาสั่งการเลยสักครั้ง จะถือว่าเป็นการครอบงำได้อย่างไร ยืนยันว่า ไม่เคยได้รับคำสั่งการว่าต้องทำอะไร
สำหรับการร้องในครั้งนี้ จะเป็นหัวเชื้อเพื่อนำไปสู่การยุบพรรคหรือไม่นั้น นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า จะเป็นหัวเชื้ออย่างไร ตนไม่ทราบ ไม่ได้อ่านในรายละเอียด ห่วงแต่ความเดือดร้อนของประชาชนเรื่องอุทกภัย ตนไม่ได้ให้ความสำคัญ ไม่ได้ใส่ใจ ไม่มีใครวิตกกังวลกับเรื่องดังกล่าว เพราะวิตกกังวลแต่เรื่องที่ประชาชนได้รับความยากลำบากเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เชื่อมโยงกับกระแสข่าวที่ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เข้าไปรับประทานอาหารที่บ้านจันทร์ส่องหล้าหรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า "ท่านเนวินและท่านอนุทิน จะไปพบท่านทักษิณ ก็ไม่ได้ครอบงำพรรคผม อันนั้นพรรคภูมิใจไทย ผมไม่ทราบว่า ครอบงำพรรคภูมิใจไทยอย่างไร แต่พรรคผมไม่มี ไม่ได้เกี่ยวกับผมเลย ท่านทักษิณเป็นพ่อของนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย นี่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องมาพูดกันให้เสียเวลา"
ส่วนกระแสข่าวมีการพูดคุยถึงเรื่องการแบ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนละ 2 ปี ระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยนั้น คนคิดอย่างนี้ได้ ก็ปัญญาอ่อน ลูกท่านทักษิณเป็นนายกฯ จะยกให้คนอื่นได้อย่างไร คนที่คิดอย่างนี้ได้ มีจินตนาการเกินความคาดหมายของมนุษย์ ไม่กังวลที่ถูกร้อง เพราะเมื่ออ่านดูจากประเด็นที่มีการแถลงข่าวใหญ่โต ก็ไม่ได้มีความวิตกกังวลสักนิด ที่ถูกกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง ใครจะล้มล้าง เราเป็นพรรครัฐบาล หัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี จะไปล้มล้างทำไม วันนี้เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรทรงเป็นประมุข
ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเดียวกันว่า ทั้งหมดอยู่ที่ดุลยพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ตนไม่ขอก้าวล่วง แต่ตัวนายธีรยุทธเองมีความมั่นใจมาก ส่วนที่ก่อนหน้านี้ตนออกมาระบุว่า วันที่ 10 ต.ค. จะเป็นจุดเริ่มต้นการล่มสลายของพรรคแกนนำรัฐบาลนั้น เนื่องจากตนได้พูดคุยกับนายธีรยุทธ เขาได้เล่าให้ฟังว่าได้ไปยื่นอัยการสูงสุดในเรื่องนี้ตามมาตรา 49 มาเมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 ตนจึงออกมาบอกต่อในที่ประชุมพรรคเพื่อเป็นการแจ้งข่าว ซึ่งวันนี้ชัดเจนแล้วหลังจากมีผู้ไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเรียบร้อย และยืนยันว่าการที่นายธีรยุทธไปร้องครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพรรค พปชร. และพรรคไม่ได้อยู่เบื้องหลัง