เสรีเผยสว. แห่ลงชื่อซักฟอกรัฐบาลทะลุ 90 คนแล้ว เตรียมยื่นญัตติฯ ประธานวุฒิ19 ม.ค.นี้ เชื่อไม่มีใครถอนชื่อ ไม่ตัดประเด็นทักษิณออก ด้าน พริษฐ์ แย้มจ่อคิวซักฟอกรัฐบาลต่อ คาดปลายเดือนมี.ค.หรือต้นเม.ย.
เมื่อวันที่ 16 ม.ค.67 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ในฐานะแกนนำยื่นญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 เปิดเผยว่า ขณะนี้มีส.ว. ร่วมลงชื่อในญัตติแล้ว 91 คน ทั้งนี้การเปิดให้ลงชื่อจะยังคงเปิดให้ ส.ว. ที่สนใจจนถึงวันนี้ จากนั้นจะพิจารณายื่นเรื่องให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในช่วงวันที่ 19 ม.ค. หรือ 22 ม.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะมี ส.ว. ร่วมลงชื่อเพิ่มอีก แต่จะไม่มีผู้ใดถอนรายชื่อ เพราะกว่าที่ ส.ว.จะร่วมลงชื่อ ได้พิจารณาเนื้อหาของญัตติอย่างรอบคอบแล้ว ส่วนกรณีที่ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ระบุอาจมีคนถอนชื่อออกจนยื่นญัตติไม่ได้นั้น เป็นแค่หลักการ แต่เชื่อว่าจะไม่มีใครถอนรายชื่อ
สำหรับการเตรียมพิจารณากรอบเวลานั้น กมธ.พัฒนาการเมือง ได้หารือร่วมกันเมื่อวันที่ 15 ม.ค. เบื้องต้นอยู่ระหว่างการสอบถามส.ว. ที่ร่วมลงชื่อว่าต้องการอภิปรายในประเด็นใดใน 7 หัวข้อตามญัตติ และจะใช้เวลาเท่าใด เพื่อดูรายละเอียดว่าต้องใช้เวลาเท่าใด และใช้เป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล ส่วนตัวมองว่าการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติดังกล่าว ควรได้เวลา 2 วัน
เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายการเมืองไม่อยากให้อภิปรายพาดพิงถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก่อนยื่นญัตติต้องทบทวนประเด็นดังกล่าวหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ไม่มีการทบทวน เพราะก่อนที่ ส.ว.จะลงชื่อสนับสนุนญัตติ ได้ส่งรายละเอียดให้พิจารณาแล้ว ดังนั้นไม่สามารถทำตามใจตัวเองได้ เมื่อถามว่า การอภิปรายดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ควรมาตอบด้วยตนเองหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า แล้วแต่นายกรัฐมนตรี แต่หากจะให้ดี นายกรัฐมนตรีควรมาเอง เพื่อเป็นประโยชน์กับรัฐบาลเอง
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวภายหลังส.ว.เข้าชื่อกัน เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ว่า ระหว่างนี้ กรรมาธิการฯ จะแจ้งไปยังกรรมาธิการฯ อื่น ๆ ของวุฒิสภาอีก 26 คณะ เพื่อรวบรวมประเด็นต่างๆ ใน 7 หัวข้อว่าจะมีรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชานต่าง ๆ อย่างไร เพื่อให้เป็นการอภิปรายที่เป็นประโยชน์ ได้คลายข้อสงสัยผ่านการชี้แจงของรัฐบาล ก่อนจะยื่นญัตติต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อขอเปิดอภิปรายตามขั้นตอนต่อไป
วุฒิสภาหวังว่าจะได้รับเวลาการอภิปราย 2 วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อม และการให้ความสำคัญของรัฐบาลว่า จะให้เวลาวุฒิสภาอย่างไร แต่จากสถานการณ์ในขณะนี้ ถือว่ามีปัญหาเร่งด่วน ที่รัฐบาลควรตอบรับการอภิปรายโดยเร็ว หากปล่อยให้ช้าไป และคณะรัฐมนตรี มีการออกมติใด ๆ หรือสร้างความผูกพันใด ๆ แล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหา จึงเห็นว่า ควรเร่งรีบอภิปรายให้ทันเวลา ก่อนมีความเสียหายเกิดหรือ หรือรัฐบาลจะก้าวพลาด เพื่อให้เกิดความรอบคอบแก่ทุกภาคส่วน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่จะมีขบวนการ หรือ ส.ว.ถอนรายชื่อก่อนการขอเปิดอภิปราย จนทำให้ไม่สามารถเปิดอภิปรายได้นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ไม่กังวล เพราะ ส.ว.เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว และก่อนลงชื่อน่าจะได้พิจารณาอย่างดี หากลงชื่อแล้วถอน ก็น่าจะต้องอธิบายต่อสังคมให้ได้ และเชื่อว่า น่าจะมี สว.มาลงชื่อเพิ่มขึ้น เพราะยังมีการเปิดลงชื่ออยู่
ด้าน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้ ได้รายชื่อในการเสนออภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ครบแล้ว โดยมีสมาชิกวุฒิสภาเข้าชื่อแล้ว 91 คน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ จะยังคงพยายามรวบรวมรายชื่อ ส.ว.เพิ่ม ให้มีผู้ลงชื่อเกินจำนวนที่ต้องการประมาณ 10 20 คน หรือรวมประมาณ 100 คน เป็นต้นไป เผื่อขาด หรือเผื่อเหลือ แต่รายชื่อขณะนี้ ก็เพียงพอแล้วต่อการเสนอญัตติแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนที่จะมีการยื่นญัตติต่อประธานวุฒิสภา จะมีขบวนการให้ สว.ถอนชื่อหรือไม่นั้น นายวันชัย กล่าวว่า ส.ว.ที่ลงชื่อไปแล้ว ถือเป็นสิทธิ์ที่จะถอนรายชื่อออก ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ผู้ที่พยายามดำเนินการขอเปิดอภิปราย ก็พยายามหาเสียงให้มาก เผื่อ ส.ว.คนใดจะมาถอนชื่อ เพราะส.ว.พรรคพวกที่ขอให้ช่วยลงชื่อ ก็มักจะมีการลงชื่อให้ แต่ภายหลังหากมีสถานการณ์ใดๆ เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะเกิดเหตุปัจจัยอื่น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้
ส่วน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ของวุฒิสภา ว่า เป็นไปตามสิทธิรัฐธรรมนูญ เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านก็มีความตั้งใจจะใช้กลไกของสภาฯ ตรวจสอบการทำงาน รวมถึงในนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างเต็มที่เช่นกันว่าเป็นไปตามประโยชน์ประชาชนหรือไม่ และคุ้มค่าเพียงใด ทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และโครงการแลนด์บริดจ์ รวมถึงทุกๆ สัปดาห์ยังมีการพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นบทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคก้าวไกล ที่นอกจากจะตรวจสอบรัฐบาลแล้ว ยังจะผลักดันวาระของฝ่ายค้าน และของพรรคฯ ด้วย
นายพริษฐ์ ยังเปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการประสานงานพรรคการเมืองฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้านในวันเดียวกันนี้ ว่า ได้มีการหารือถึงการเปิดอภิปรายรัฐบาลในช่วงปลายเดือนมีนาคม หรือต้นเดือนเมษายนนี้ หลังการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 เสร็จสิ้น ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นการอภิปรายทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 หรืออภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูล และประเด็น ซึ่งจะมีการหารือในฝ่ายค้านร่วมกันอีกครั้งว่าจะเป็นรูปแบบใด