สว.ลงชื่อทะลุเป้าซักฟอกรบ.      ส.ว.แห่ลงชื่อซักฟอกรัฐบาลเกิน 84 เสียง ทะลุเป้า พร้อมเปิดอภิปรายแล้ว เสรี ย้ำมีคนสกัด ส.ว. ไม่ให้ร่วมลงชื่อ ลั่นไม่ได้เป็นการล้มรัฐบาล แค่ให้ชี้แจง ด้านวันชัยยันไม่ร่วมลงชื่อ แต่ขอร่วมอภิปรายด้วย ขณะที่"นิพิฏฐ์"จี้ ป.ป.ช.ไต่สวนด่วน! ปม ทักษิณŽนอนชั้น 14 รพ.ตำรวจ      เมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เปิดเผยถึงการล่ารายชื่อขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ของสมาชิกวุฒิสภา ว่า เช้านี้ได้รับรายงานว่าน่าจะได้รายชื่อเกิน 84 เสียง ตามเกณฑ์และอาจจะเกินเล็กน้อยไปถึง 90 เสียง ซึ่งจะทำให้เปิดอภิปรายได้ โดยคาดว่าจะสามารถเสนอถึงประธานวุฒิสภาได้ในสัปดาห์หน้าเพื่อส่งต่อไปยังครม. จากนั้นเรื่องของรัฐบาลว่าได้หากได้รับเอกสารแล้วจะเปิดการอภิปรายได้เมื่อไหร่      

สำหรับกระแสข่าวมีขบวนการล็อบบี้ไม่ให้เปิดอภิปรายได้นั้น นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า อย่าเรียกเป็นการล็อบบี้หรือการสกัด เพราะ ส.ว. 250 คน มีเอกสิทธิในการที่จะโหวตอย่างไรก็ได้ การจะร่วมลงชื่อหรือไม่ลงถือเป็นเอกสิทธิ์ของ สว.แต่ละคน ส่วนที่มีการโน้นน้าวไม่ให้ ส.ว. ร่วมลงชื่อโดยอ้างเรื่องว่ารัฐบาลเพิ่งเข้ามาบริหารประเทศและมีความกังวลในเรื่องของชั้น 14 ที่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าพักรักษาตัวนั้น จากการได้ฟังหลายฝ่ายบอกได้เลยว่าอนาคตจะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกเพราะเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนมากมาย ว่างๆ ถ้ามีเวลาจะเล่าให้ฟัง สำหรับเรื่องที่ฝ่ายที่ต้องการไม่ให้อภิปรายเพราะกังวลเรื่องของนายทักษิณจะกระทบต่อเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นการจารึกไว้ว่ามันเป็นเรื่องประหลาดไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทย "ผมถึงบอกว่าไม่เกินที่จะเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก      

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ส.ว.ส่วนใหญ่มองว่าเรื่องชั้น 14 เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องกับกระบวนการยุติธรรม นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ก็แล้วแต่คนที่มีข้อมูลและมีหลักฐานที่จะมาอภิปรายให้ประชาชนรับฟัง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะมาตอบ ทั้งเรื่องของเงินดิจิตอล เรื่องนายทักษิณและเรื่องเศรษฐกิจ เพราะ ส.ว.หลายคนทำการบ้าน และหาข้อมูลเรื่องนี้ที่จะอภิปราย โดย นายกิตติศักดิ์บอกด้วยว่าเรื่องของนายทักษิณไม่พ้นที่จะถูกนำมาอภิปรายอยู่แล้ว      

เมื่อถามว่า มีข้อมูลอะไรแตกต่างจากที่หลายฝ่ายตรวจสอบอยู่แล้วขณะนี้ นายกิตติศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับ ส.ว.ที่ศึกษาและเก็บข้อมูล ซึ่งมีไว้มากพอสมควร ถ้าบอกไปก่อนเดี๋ยวมันจะจืด ส่วนเป็นข้อมูลใหม่หรือไม่ขอให้ไปสอบถามคนที่จะอภิปราย ซึ่งตนไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าใครจะเป็นผู้อภิปรายถือเป็นความลับ      

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และประธาน คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีคนสกัด ส.ว. ไม่ให้ลงชื่ออภิปราย ในการรวบรวมรายชื่อส.ว.เพื่อยื่นขอเปิดอภิปรายรัฐบาลทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 153 ว่า การที่จะเปิดอภิปรายได้นั้น จะต้องมีสมาชิกมาลงชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 คือ 84 เสียง ในช่วงเวลาดังกล่าวเราได้เอาญัตติให้สมาชิกไปศึกษาเพื่อให้เห็นประโยชน์ที่จะมีต่อประชาชน แต่ปรากฏว่าสมาชิกหลายคนไม่รับรองให้หรือไม่ร่วม     

ทั้งนี้ บางคนก็พูดกันตรงๆ ว่ามีคนขอกันบ้าง มีพวกกันบ้าง ซึ่งเราพยายามอธิบายว่าเป็นเรื่องของหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา จึงเป็นความยากลำบากอยู่ระดับหนึ่งว่าจากส.ว. 250 คน ต้องใช้ 84 เสียง จริงๆ ถ้าไม่มีใครมาล็อบบี้ปล่อยตามธรรมชาติก็ครบไปนานแล้ว สิ่งที่เราทำไม่ใช่การจะไปล้มรัฐบาลแต่เป็นเรื่องที่ส.ว.เสนอญัตติเพื่อให้รัฐบาลมาชี้แจงหาทางออกของประเทศใน 7 ประเด็น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้นไม่ว่าใครก็ตามที่มีแนวคิดจะไม่ให้มีผู้สนับสนุนญัตติครบ ตนว่าคิดผิด หากรัฐบาลตอบได้สามารถที่จะดำเนินการตามที่เสนอญัตติไปก็เป็นเครดิตของรัฐบาล อย่าไปปิดกั้น ควรจะให้ส.ว.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้       ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อเช้านี้ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ได้ระบุว่าได้รับการประสานมาว่าขณะนี้มีเสียงเกิน 90 แล้ว สรุปแล้วเสียงถึงหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ตอนนี้เป็นความหวังเรานำข้อมูลให้สมาชิกได้อ่าน ในปัจจุบันมีผู้แจ้งความจำนงไว้ประมาณ 80 คนแล้ว ซึ่งตนมองว่าน่าจะเปิดอภิปรายได้ เราพยายามจะทำให้ได้ เพราะเป็นภาพลักษณ์ภาพรวมของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่อยู่ใต้อาณัติใคร ซึ่งเป็นประโยชน์กับบ้านเมืองในช่วงเวลาสุดท้ายที่ส.ว.ใกล้จะหมดวาระแล้ว เราตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดถือเป็นผลงานสุดท้ายที่เราพยายามทำเพื่อประชาชนแม้ว่าเราจะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ในความรับผิดชอบในอำนาจหน้าที่เป็นสิ่งที่วุฒิสภาควรจะต้องทำ      สำหรับเรื่องที่จะมีการทบทวนหรือไม่ที่ส.ว.ยกมือให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นนายกรัฐมนตรี นายเสรี กล่าวว่า เป็นคนละเรื่องกัน ตอนตั้งรัฐบาลก็ตั้งไป แต่ตอนทำหน้าที่ตรวจสอบก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่ง ขณะนี้เราดูการทำงานในช่วงเวลา 4 เดือน ว่าต้องมีอะไรทักท้วงหรือเสนอแนะบ้าง ส่วนที่มีความกังวลว่าไม่ให้ส.ว.แตะเรื่องคนชั้น 14 นั้น นายเสรี ระบุว่ามีหลายเรื่องในส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจการแจกเงินดิจิทัลก็ส่วนหนึ่ง ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญก็ส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นตนมองว่าการนำมาพูดกันในสภาก็เป็นเรื่องที่ดีที่เป็นทางการ ซึ่งเป็นส่วนของอำนาจหน้าที่ที่เราต้องทำ      

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกจากการล็อบบี้ยังมีสาเหตุอื่นอีกหรือไม่ที่ทำให้ส.ว.ไม่ร่วมลงชื่อในการเปิดอภิปราย นายเสรี กล่าวว่า ก็แล้วแต่บุคคล เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาคือ การสกัดกั้นในกระบวนการทางการเมือง ซึ่งไม่ควรทำมีแต่ความเสียหายปล่อยให้แต่ละฝ่ายต่างทำหน้าที่ รัฐบาลก็บริหารประเทศไป เมื่อถามว่า มีการไปขอเสียงส.ว.ในส่วนของผู้นำเหล่าทัพหรือไม่ นายเสรีกล่าวว่า เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นราชการ ไม่อยากยุ่งเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ทำหน้าที่เราต้องเข้าใจตรงนั้น เรารู้ผลอยู่แล้วไปขอเขาก็ไม่ลงชื่ออยู่แล้ว      

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ ส.ว.ไม่ให้ลงชื่อเปิดอภิปรายทั่วไปไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ว่า เท่าที่ตนติดตามข่าวในเรื่องนี้ปรากฏว่ามีการล็อบบี้ที่จะให้สมาชิกลงรายชื่อก็มีจำนวนหนึ่งทั้งโทรศัพท์ ไลน์ และพูดคุยกันเพื่อที่จะให้มาร่วมลงชื่อ ให้ได้เกิน 84 เสียง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ ของคณะที่ดำเนินการในเรื่องนี้ แม้แต่วันนี้ ก็ยังมีการติดต่อเชิญชวนกัน หลายคน หลายกลุ่ม หลายคณะให้มาร่วมลงชื่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยต่อการเปิดอภิปรายทั่วไปนั้นก็มีอยู่ และเท่าที่ติดตามกลุ่มที่ยังอยู่กลางๆและเฉยๆ รอดูท่าทีก็ยังมีอยู่ เพราะเห็นว่าระยะเวลาในการที่จะยื่นญัตติดังกล่าวยังมีเวลาเหลืออยู่ ขณะเดียวกันก็มีบางพวกบอกว่าที่แล้วมาไม่เคยใช้อาวุธนี้แล้วทำไมมาใช้ตอนนี้ จึงเป็นข้อโต้เถียงกันอยู่      

นายวันชัย กล่าวต่อว่า หากถามว่ากลุ่มที่มีการเคลื่อนไหวมีลักษณะไม่เห็นด้วยมีการกระทำอะไรหรือไม่นั้น เท่าที่ตนเห็นเขาประเมินในช่วงแรกกันว่าอาจจะไม่ถึง 84 เสียง ฉะนั้นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย จึงไม่มีการเคลื่อนไหวอะไร แต่ระยะนี้เท่าที่ทราบประมาณ 77 หรือเกือบ 80 คน เหลืออีกไม่เกิน 6-7 คน ก็จะครบ 84 คน แต่ไม่ได้หมายความว่า 6-7 คน แล้วจะพอ เพราะควรจะมีรายชื่อสนับสนุนเกิน 10 คน เราจะต้องประเมินไว้ว่าถึงเวลาใกล้ๆ ก็เป็นสิทธิ์ที่สมาชิกลงชื่อไปแล้ว หรืออาจจะมีเหตุผลอื่นถอนตัว ก็อาจจะทำให้ไม่ครบ 84 คนก็ได้        

เพราะฉะนั้น ในหลักปฏิบัติของคณะดำเนินการและที่มีการปรึกษาหารือกัน เราบอกว่าควรจะมีรายชื่อเกินอย่างน้อยเป็นสิบสิบคนกันเผื่อขาดเผื่อเหลือ ซึ่งคณะที่ทำก็ดำเนินการอยู่ แต่หากถามว่า ณ เวลานี้การเคลื่อนไหวว่ามีคนมาล็อบบี้ให้ถอนชื่อมีหรือไม่ก็ต้องตอบว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เขาก็อาจจะแสดง หรืออาจจะพูดคุยในลักษณะคนที่ล็อบบี้ให้ลงชื่อ ในขณะเดียวกันก็มีคนล็อบบี้ให้ไม่ลงชื่อ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งอะไร ผมถือว่าใครจะรณรงค์ให้ได้เสียงมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องของแต่ละกลุ่ม แต่เท่าที่ประเมิน รายชื่อจะขึ้นอีก 5-6 คน หรืออาจจะมีคนถอย ผมก็ยังคิดอยู่ว่ายังอยู่ในภาวะก้ำกึ่งเหมือนกันŽ นายวันชัย กล่าว      

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเหตุผลอะไรที่ส.ว.ที่ไม่ร่วมลงชื่อ จะไม่ร่วมอภิปรายด้วย นายวันชัย กล่าวว่า อย่างที่ทราบ กลุ่มที่เขาไม่เห็นด้วยเขาบอกว่ารัฐบาลเพิ่งจะเริ่มทำงาน 3-4 เดือน งบประมาณปี 67 ก็ยังไม่ได้ใช้ และเราเป็นกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลชุดนี้จึงควรเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือ และใช้งบประมาณเสียก่อน ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะเร่งเครื่องในลักษณะตรวจสอบในขณะนี้ ไม่ว่าจะเรื่องเงินดิจิจทัลวอลเล็ตที่หลายคนบอกว่ารัฐบาลเขายังไม่ได้ทำ เพราะยังมีกระบวนการต่างๆอีกมาก หรือเรื่องอื่นๆ เขาก็มองว่าน่าจะให้โอกาสและเวลา ที่สำคัญที่สุดที่ตนบอกว่ากลุ่มส.ว.กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ในวุฒิสภา ถ้ากลุ่มนี้ยังไม่ค่อยขยับเท่าไหร่ การขับเคลื่อนในการดำเนินการเรื่องใดๆก็อาจจะไม่ง่ายนัก แต่เท่าที่ตนดูท่าทีของกลุ่มนี้ คือ 1.กลาง และ 2.ไม่เห็นด้วย ส่วนที่มีการเคลื่อนไหวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มส.ว.พลเรือน กับสว.อิสระ      

เมื่อถามว่า หากส.ว.สามารถอภิปรายตามมาตรา 153 ได้จริง คิดว่าผลกระทบที่จะไปถึงรัฐบาลมีแค่ไหน นายวันชัย กล่าวว่า เท่าที่ประเมินการณ์ เป็นเพียงได้มีการพูด สอบถามเท่านั้น เพราะในการที่ลงมติไม่ไว้วางใจเหมือนสส.คงไม่มี แต่อาจจะเป็นโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อสงสัย ดังนั้น ถ้ามองแบบบวกได้ทั้งส.ว.ที่แสดงท่าที ในข้อสงสัย เห็นด้วยไม่เห็นด้วยในข้อเสนอแนะนั้น ถือว่าเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบ ขณะเดียวกันทำให้รัฐบาลได้โอกาสชี้แจงด้วย ซึ่งถือว่าได้ผลบวกด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง ส.ว.กำลังถล่มรัฐบาล ส.ว.กำลังจะมองรัฐบาลเป็นฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเรื่องอย่างนี้ก็มองได้ เพราะถ้าเป็นพวกกันเขาคงไม่ทำอย่างนี้ อาจจะตั้งเป็นกระทู้ ข้อปรึกษาหารือ หรือดำเนินการด้วยวิธีการอย่างอื่น มากกว่าที่จะอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ และตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 153 ต้องการให้รัฐบาลมาชี้แจง แถลงข้อเท็จจริงประเด็นสำคัญอันเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเรื่องต่างๆ ที่เสนอไปเรามองว่าดาษดื่นเกินไป แต่ควรจะเอาประเด็นใหญ่ๆสำคัญๆสัก 1 เรื่อง ที่เปิดมาแล้วกระแทกสังคมได้ ดังนั้นหลายคนที่ไม่เห็นด้วยจึงมองว่าสิ่งที่จะเสนอเยอะเกินไป ยังไม่ใช่อารมณ์ร่วมอาจจะยังไม่มี    

 เมื่อถามอีกว่า เรื่องชั้น 14 ถือว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่หรือไม่ นายวันชัย กล่าวว่า เรื่องชั้น 14 อาจจะเป็นประเด็นหนึ่ง แต่บางกลุ่มก็บอกว่าประมาณเดือนก.พ.กว่าที่ส.ว.จะอภิปราย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็อาจจะได้พักโทษไปแล้วเพราะครบ 6 เดือน ถ้าไปอภิปรายในเรื่องนี้เหตุการณ์ก็อาจจะผ่านไป แต่ถ้าวันนี้เดี๋ยวนี้อาจจะใช้ แต่เมื่อถึงวันอภิปรายจริงๆประมาณเดือนมี.ค. เรื่องนี้ก็จบไปแล้ว แปลว่าไม่ทัน ซึ่งส.ว.สามารถทำได้โดยการตั้งกระทู้หรือดำเนินการใดๆเรื่องนี้ในสภาได้ ซึ่งก็มีคนอภิปรายไปแล้ว      

  ส่วนตัวไม่ได้ลงชื่อในญัตติดังกล่าวเพราะผมเป็นกลุ่มกลางๆ ยังไม่ถึงขนาดไม่ได้เห็นด้วย และไม่ถึงสนับสนุนหรือคัดค้านเพราะต้องยอมรับว่าถ้าเขาสามารถเปิดได้ ก็อาจจะร่วมอภิปรายด้วย ดังนั้นผมต้องดูท่าทีต่อไป แต่เห็นว่าหากทำแล้วก็ต้องทำออกมาให้ดีและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นการตรวจสอบที่เข้มข้นมีเนื้อหาสาระจริงๆ ก็ทำไปเถอะ  นายวันชัย กล่าว      

วันเดียวกัน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เพียงนอนเฉยๆ ข้าราชการก็จะติดคุกเอาแล้ว ทราบว่า พรุ่งนี้ คปท.จะไปติดตามการไต่สวนของ ป.ป.ช.กรณีคุณทักษิณ นอนชั้น 14 รพ.ตำรวจ ถ้า ป.ป.ช.ยังไม่ไต่สวน กระบวนการล่ารายชื่อประชาชน 20,000 คน ส่งศาลฎีกา ก็จะเริ่มขึ้น ก็ให้รู้กันไปว่า คนไทย 70 ล้านคน มีคนสงสัยกรณีคุณทักษิณไม่ถึง 20,000 คน นอกนั้น เป็นไทยเฉย ที่ไม่สงสัยอะไรเลย      ผมอยากให้ ป.ป.ช.ไต่สวนเรื่องนี้ เป็นเรื่องด่วนŽเพราะ ป.ป.ช.เป็นองค์กรอิสระที่ทำเรื่องนี้ได้มากกว่าทุกองค์กร ไปดูอาการของคุณทักษิณถึงในห้องเลยก็ยังทำได้ เรื่องนี้ด่วน กว่าการสอบสวนข้าราชการชาร์ตโทรศัพท์กับไฟหลวง , ด่วนกว่าการสอบอาหารกลางวันเด็ก  ฯลฯ อยากให้ผู้อ่านที่สนใจเรื่องนี้ ใจเย็นๆ ครับ เรื่องนี้เป็นหนังยาว จะจบลงที่การติดคุก หรือไม่ติดคุกของข้าราชการ มีทางเลือก 2 อย่างเท่านั้น ลุ้นกันเอาเอง เราทำมาหากินกันไปตามปกติ แต่บรรดาข้าราชการ(บางคน) เริ่มตกนรกกันแล้ว      อย่าลืมนะครับ! สมัยรัฐบาลทักษิณ และ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ข้าราชการติดคุกมากที่สุด นี่ขนาดคุณทักษิณเข้ามาและนอนเฉยๆ ข้าราชการก็จะติดคุกเอาแล้ว