"สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ" ร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจังหวัดสุพรรณบุรี ขับเคลื่อนแผนงาน "ทำนารักษ์โลก" บริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พ่วงสนับสนุนให้ทำควบคู่กับการขายคาร์บอนเครดิต ชาวนาตอบรับช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้
นายพิทวัส วิชัยดิษฐ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ "สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ" ได้มีการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี "ทำนารักษ์โลก" โดยบริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนให้ทำควบคู่ไปกับการขายคาร์บอนเครดิต เพื่อเพิ่มรายได้อีกหนึ่งช่องทาง จะเห็นได้ว่าประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ การผลิตข้าวในปริมาณมากส่งผลทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึงร้อยละ 55 เมื่อเปรียบเทียบกับการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด
เนื่องจากกระบวนการผลิตข้าวโดยทั่วไป มีการขังน้ำในแปลงนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่นาชลประทาน ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า "ทำนารักษ์โลก"โดยบริหารจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากจะช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุโดยตรงของภัยพิบัติโลกร้อนในปัจจุบัน ยังทำให้การทำนานั้นเป็นการทำนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน "การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง" ยังสามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับการสูบน้ำเข้านาได้อีกทางหนึ่งด้วย อีกทั้งการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้น ยังสามารถนับเป็นคาร์บอนเครดิต ซึ่งเกษตรกรสามารถดำเนินการซื้อขายได้ ปัจจุบันสามารถแบ่งเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ 1) การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชี T-VER credit กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน (อบก.) และ 2) การซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซี่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง ทั้งนี้หากเกษตรกรมีความสนใจหรือข้อสงสัย สามารถเข้าไปปรึกษาหน่วยงานในสังกัดกรมการข้าว ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคใกล้บ้าน
นางสวณีย์ โพธิ์รัง ผู้จัดการนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ ต.เดิมบาง อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เริ่มทำนาลดโลกร้อน ด้วยเทคโนโลยี 4 ป. + 1 IPM ที่ช่วยในเรื่องของการลดการเกิดก๊าซมีเทน จากการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งช่วยลดเรื่องของการขังน้ำในนาข้าว และการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง สามารถช่วยส่งผลให้ลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 30-50% ลดเรื่องของเวลาสูบน้ำ และที่สำคัญส่งผลให้ต้นข้าวแข็งแรงสามารถหยั่งรากได้ลึก ต้านทานต่อโรคและแมลง อีกทั้งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้
"ในการดำเนินการทางกรมการข้าว ได้มีการส่งเสริม เรื่องของการขายคาร์บอนเครดิตจาก ป. 2 หรือเปียกสลับแห้ง จากการปล่อยน้ำให้แห้งช่วงที่ข้าวแตกกอระยะประมาณ 25 - 30 วัน แล้วปล่อยให้แห้ง เพื่อที่จะลดเรื่องของการเกิดก๊าซมีเทน ที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน เมื่อเรารู้ว่าเราทำแล้วช่วยลดโลกร้อน ก็สามารถที่จะต่อยอดเรื่องของการขายคาร์บอนเครดิต หรือว่าขายอากาศได้ ทำให้เราได้เข้าร่วมการขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทเอกชนที่สนใจ เรื่องของการรับซื้อคาร์บอนเครดิต เมื่อเราทำแบบนี้แล้ว เรารู้ว่าการทำนาแบบลดโลกร้อนช่วยโลกแล้ว ยังสามารถต่อยอดเรื่องการขายคาร์บอนเครดิตเป็นผลพลอยได้ ก็คือเป็นเรื่องที่ดีที่เราทำเพื่อตนเอง ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ เปลี่ยนเป็นรายได้ หรือว่ามีกำไรจากการทำนาเพิ่มมากยิ่งขึ้น " นางสวณีย์ กล่าว
สำหรับชาวนาที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงการขายคาร์บอนเครดิตได้ที่ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว และศูนย์วิจัยข้าวทั่วประเทศ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ เว็บไซต์กรมการข้าว และ Facebook: Fanpage Rice News Channel