กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว มีภารกิจสำคัญในการรับผิดชอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัดและชั้นพันธุ์หลัก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ผอ. "ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท " เผยความเป็นมาว่าด้วย "เมล็ดพันธุ์ข้าว" หัวใจสำคัญต่อการทำนา ระบุในการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดี เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้นั่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุ่มเทกันอย่างหนัก ชู "เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด" ถือเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นการใส่ใจ

นางปรารถนา สุขศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท เปิดเผยว่า "เมล็ดพันธุ์ข้าว" นับเป็นหัวใจสำคัญในการผลิตข้าว ด้วยเหตุนี้ "กรมการข้าว" จึงได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างปราณีตและตรงตรงตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้มาซึ่งใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ ตรงตามพันธุ์และตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งกว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จะต้องผ่านกระบวนการสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่  และวางแผนการผลิตเพื่อส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงแก่เกษตรกรต่อไป

ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ข้าวมีทั้งหมด 4 ชั้นพันธุ์ ได้แก่
•    เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด (breeder seed)
•    เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์หลัก (foundation seed or basic seed)
•    เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์ขยาย (registered seed or stock seed)
•    เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์จำหน่าย (certified  seed  or extension seed)

โดยกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัดและชั้นพันธุ์หลัก ซึ่งเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี มีกรรมวิธีการปลูกแบบรวงต่อแถว ผ่านการดูแล ตรวจสอบความบริสุทธิ์ของพันธุ์อย่างใกล้ชิดโดยนักปรับปรุงพันธุ์ เพื่อให้มีลักษณะตรงตามพันธุ์และมีคุณภาพตามมาตรฐาน เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด

"เมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด มีความสำคัญในเรื่องความบริสุทธิ์ของพันธุ์ที่ได้จากการรับรองพันธุ์ข้าว เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้จากรวงโดยการปลูกแบบรวงต่อแถว ได้รับการควบคุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวและเจ้าหน้าที่ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยมีจุดประสงค์คือการผลิตให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ตรงตามพันธุ์  และในส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด จะผลิตโดยศูนย์วิจัยข้าวเท่านั้น โดยผลผลิตที่ได้จากเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด จะถูกนำไปใช้ในการผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์หลักต่อไป"  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทระบุ

นางปาริชาติ อนันท์ เจ้าพนักงานการเกษตรชำนาญงาน ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท กล่าวว่า ขั้นตอนการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชั้นพันธุ์คัด เริ่มตั้งแต่การคัดเลือกรวงข้าวในแปลงพันธุ์คัด เพื่อนำไปทำเป็นกล้าพันธุ์ของพันธุ์คัด ซึ่งรวงข้าวจะต้องตรงตามพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ข้าวมีความแข็งแรง ไม่มีโรคและแมลง ในส่วนของการเก็บรวงจะต้องนำรวงมาผึ่งตากให้แห้ง เกณฑ์ความชื้น 14% ขั้นตอนต่อไปคือการวางรวงในแปลง และทำร่องน้ำเพื่อให้ระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น 

หลังจากนั้นจะต้องคอยหมั่นตรวจแปลง โดยตรวจเช็คค่าความชื้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของข้าวจนครบ 25 วัน ถึงจะทำการถอนเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป คือ การปักดำในแปลงพันธุ์คัด ที่มีระยะห่างระหว่างต้น 10 เซนติเมตร ระดับน้ำ 5-10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการเกิดหญ้าในแปลงนา  

“ทั้งนี้ ในส่วนของการตรวจพันธุ์ปนมีทั้งหมด 5 ระยะ 1.ระยะกล้า 2.ระยะแตกกอ 3.ระยะออกดอก 4. ระยะโน้มรวง และ 5.ระยะก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งในการตัดพันธุ์ปนของพันธุ์คัดในระยะแรกจะตรวจตัดพันธุ์ปนทิ้งในกอที่ลักษณะต่างจากกล้าทั่วไป ส่วนระยะที่ 2–5 จะตรวจพันธุ์ปนทิ้งทั้งแถว ในแถวที่มีโรคและแมลง หรือไม่ได้ลักษะตามพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์บริสุทธิ์และมีคุณภาพเหมาะแก่การนำไปทำเมล็ดพันธุ์ชั้นพันธุ์หลักต่อไป” นางปาริชาติ กล่าว