วันที่ 9 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า การเตรียมเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 เพื่อให้ครม.ชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยมีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และนายจเด็จ อินสว่าง สว.เป็นแกนนำ

สำหรับประเด็นที่ตั้งไว้ของญัตติดังกล่าว รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 และบริหารราชการแผ่นดิน 4 เดือน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาสำคัญตามนโยบายที่แถลง รวมถึงปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแถลงนโยบาย คือ1.ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน  อาทิ  การสร้างงานสร้างอาชีพและรายได้ ที่ยั่งยืนให้ประชาชน รวมถึงการแก้ปัญหาความยากจนที่ตั้งคำถามถึงแนวทางการทำงานของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม , สภาพปัญหาการทำนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเลต ที่ชอบด้วยกฎหมายไม่สร้างภาระหนี้ให้ประชาชน , การแก้หนี้นอกระบบ ที่ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาต้นตอในระดับครัวเรือน, การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมประมง, การสร้างรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติ

2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย  อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐาน, การทุจริตคอร์รัปชั่น ยาเสพติด, การลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์, การเปลี่ยน ส.ป.ก.เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุน จะรับมืออย่างไร

3. ปัญหาด้านพลังงาน อาทิ การจัดการราคา ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มและน้ำมัน ปัญหากลุ่มทุนพลังงานที่มีอิทธิพลต่อการเมืองส่งผลให้ประชาชนแบกรับภาระต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน

4.ปัญหาการศึกษาและสังคม อาทิ การปฏิรูปการศึกษา ผ่านร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ, การแก้ปัญหาหนี้สินครู การจัดหลักสูตรการศึกษาให้ประชาชนเข้าใจในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปัญหาการดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส

5.ปัญหาการต่างประเทศและท่องเที่ยว อาทิ ปัญหาจีนเทาที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, การไม่เลือกข้างความขัดแย้งของรัฐบาล, มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว

6.ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ ความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวที่ต้องอธิบายการดำเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อประโยชน์ประชาชนและพัฒนาประเทศ

และ 7. ปัญหาการปฏิรูปประเทศ  แนวทางของรัฐบาลต่อการดำเนนิการตามแผนการปฏิรูปประเทศ

“ปัญหาข้างต้นเป็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เร่งด่วน ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาโดยทันที เพราะส่งผลต่อการขับเคลื่อน ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงบรรลุเป้าหมายให้ประเทศก้าวไปข้างหน้า ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้เพิ่ม” รายละเอียดของญัตติที่เตรียมเสนอระบุไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการเข้าชื่อของสว. เพื่อเสนอญัตติดังกล่าวต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ตาม มาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้เสียงสนับสนุน 1 ใน 3 ของสว.ที่มีอยู่ หรือ 84 คนนั้น ล่าสุดหลังจากเปิดให้ สว.ร่วมกันลงชื่อ ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (9 ม.ค.) พบว่าล่าสุดเมื่อเวลา 14.00 น. มียอดผู้ลงชื่อแล้ว 55 คน โดยมีทั้ง สว.สายพลเรือนและสายทหาร