“สว.สถิตย์” ตั้งถามรบ. 9 ประเด็น “เศรษฐกิจ-ปากท้อง” เหน็บไทยโตต่ำกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทย มีเป้าหมายระยะยาวให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่ ด้าน “เฉลิมชัย” ขู่ นายกฯ นโยบายแจกเงิน 1 หมื่นส่อขัดมาตรา 73(1) จำคุก 10 ปีตัดสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี แนะกลับตัวทัน สารภาพประชาชนทำไม่ได้ ดีกว่าติดคุกหัวโต
วันที่ 25 มี.ค.2567 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปของสว.เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงแนวทางปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่ลงมติตามมาตรา 153
ต่อมาเวลา 10.30 น.นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา พิจารณาญัตติด่วนขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 โดยอภิปรายในด้านปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปากท้องประชาชนว่า เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ตนเป็นคนหนึ่งที่ลงมติเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 11 ก.ย. 2566 รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา
วันนี้ตนใช้สิทธิ์ตามมาตรา 153 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงการบริหารราชการแผ่นดิน อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทย เต็มศักยภาพอยู่ที่ร้อยละ 35 แต่ด้วยการคาดการณ์ของเศรษฐกิจในปี 2567 เดิมคาดว่าขยายตัวเกินร้อยละ 3 แต่วันนี้ได้ปรับการแก้ใหม่การคาดการณ์ ทั้งจากภาครัฐ สหพัฒน์ แบงค์ชาติ และภาคเอกชน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวโตต่ำกว่าร้อยละ 3 คำถามว่าจึงมีว่าไทยโตต่ำกว่าศักยภาพที่มี หรือศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำจึงไม่โต
นายสถิตย์ กล่าวต่อว่า ตนมีคำถามดังนี้ 1.รัฐบาลจะมีนโยบายเชิงโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพหรือมากกว่านั้นได้อย่างไร การเติบโตที่ดีต้องเติบโตอย่างทั่วถึง และไม่เพียงจะมีประชาธิปไตยทางการเมืองแต่ต้องมีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจด้วย 2.รัฐบาลจะมีเป้าหมาย การลดความเหลื่อมล้ำ เปิดที่ 62 จังหวัด ที่เติบโตน้อยได้อย่างไร 3. รัฐบาลมีแผนที่ชัดเจนในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจสี่ภาคอย่างไร 4. รัฐบาลมีนโยบายที่จะจัดสรรรายได้ท้องถิ่นให้ถึงร้อยละ 35 หรือไม่อย่างไร 5. รัฐบาลผลักดันเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตเพิ่มของภาคการเกษตรอย่างไร
6. รัฐบาลมีแนวทางที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างไร 7. รัฐบาลมีนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ในการบูรณาการนโยบายซอฟต์พาวเวอร์สาขาอย่างไรได้มีการพัฒนาทักษะหนึ่งครอบครัวหนึ่ง ซอฟต์เพาเวอร์ไปแล้วมากน้อยเพียงใดผ่านทางกลไกหรือหน่วยงานใดและจะดำเนินการจัดตั้ง THACCA เมื่อใดโดยวิธีการใด 8. รัฐบาลจะผลักดันไปใช้ Digital ID กับ Digigal Payment ให้ทุกหน่วยงานเข้ามาอย่างไร รวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัลมาไว้ที่กระทรวงดิจิทัลฯ หรือไม่อย่างไร และ 9. รัฐบาลจะมีเป้าหมายระยะยาวในการให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางหรือไม่อย่างไร
จากนั้นเฉลิมชัย อภิปรายถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ว่า นายกฯที่ชื่อเศรษฐาบอกว่าจะพาคนไทยไปเป็นเศรษฐี ปิดสวิตช์ สว. ปิดสวิตช์ 3 ป. เพื่อไทยเป็นรัฐบาลประเทศไทยเปลี่ยนทันที คนไทยมีกินมีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ยังก้องอยู่ในโสตประสาทคนไทยทั่วประเทศ ท่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทยท่านว่าไว้ ตอนนี้คนไทยเป็นอย่างไร ประเทศไทยตอนนี้มีหนี้ครัวเรือน 92% ของจีดีพี หรือประมาณ 6.2 ล้านล้านบาท ขอถามนายกรัฐมนตรีว่าท่านจะแก้ไขอย่างไร ในส่วนของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ตามกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่าให้มีกลไกความรับผิดชอบทางการเมืองที่ไม่ได้วิเคราะห์ผลกระทบ
นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงินตามประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงิน ความคุ้มค่าผลกระทบและความเสี่ยงอย่างรอบด้าน จากเอกสารแจกแจงรายละเอียดที่เผยแพร่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า พรรคเพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ว่าจะแจกเงินให้กับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ประมาณ 56 ล้านคน เป็นเงินประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ประกาศทุกเวทีว่าจะไม่กู้เงิน แต่ตอนนี้เป็นอย่างไร ยังไม่รู้จะไปไหน ตนมีข้อสังเกตว่านโยบายแจกเงินดิจิทัลมีลักษณะสัญญาว่าจะให้ “ใส่ซองพันสองพันก็ยังผิด อันนี้หาเสียงโจ่งครึ่มเลย อาจจะผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 73(1) ที่ห้ามไม่ให้ผู้สมัครผู้ใดเสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด มีโทษจำคุกหนึ่งถึง 10 ปีปรับ 20,000 ถึง 200,000 เพิกถอนสิทธิ์ 20 ปี” นายเศรษฐาได้แถลงข่าวอ้างวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งมีเงื่อนไขเปลี่ยนไป ทำให้ต้องกู้เงิน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ ตอนหาเสียงบอกจะใช้งบประมาณ 2567 ตั้งรัฐบาลได้บอกผมขอกู้ เป็นข้อบ่งชี้ว่าการหาเสียงที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีความรับผิดชอบ สักแต่จะให้ชาวบ้านเลือก
นายเฉลิมชัย ยังกล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) บอกว่า การหาเสียงแบบนี้จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปสำหรับพรรคการเมือง ตนจึงขอกล่าวหาด้วยววาจาว่า การที่ กกต. ใช้ดุลยพินิจในนโยบายดิจิทัล บอกว่าทำได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 162 หรือไม่ ถ้าขาดก็เป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พร้อมถามว่า ป.ป.ช. เปิดโทรทัศน์ ดูหรือเปล่า ถ้าเปิดดู ขอให้ทราบว่าผมกล่าวหาไปแล้ว ในเมื่อ กกต. บอกว่าทำได้ ก็ไปคุยกันที่ ป.ป.ช.