เศรษฐาสวนกลับจุรินทร์ ลั่นไม่ใช่งบฯ เป็ดง่อย คงแค่กลอนพาไป เหน็บซ้ำสมัยเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ทำงาน 4 ยังสู้ŽภูมิธรรมŽทำงานแค่ 3 เดือนไมได้ ขณะที่สภาฯถกต่องบฯ 67 ฝ่ายค้านอภิปรายเดือด จี้ตัดงบฯ กอ.รมน. จวกรัฐบาลเดินตามรอยบิ๊กตู่ ทำงบฯผูกยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก่อวิกฤติประเทศ
ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 4 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวระหว่างเดินทางเข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ถึงการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันแรก ว่า ก็ดี มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ได้มีการพูดจาอธิบายกันในภาษาที่ตนคิดว่าดูเป็นการสร้างสรรค์พอสมควร อาจมีบ้างเล็กๆน้อยๆ เมื่อถามว่า คิดว่าแตกต่างจากการอภิปราย ในสมัยก่อนอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า สมัยก่อนไม่เคยฟัง ไม่ทราบ พูดไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการอภิปรายงบประมาณมีการใช้วาทกรรมตั้งฉายาให้เป็นงบฯเป็ดง่อยรู้สึกอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนดูเป็น 2 มิติ ซึ่งมิติแรกเรื่องของวาทกรรมกับเรื่องของเจตนารมณ์ ตนเชื่อว่าเจตนารมณ์ของผู้อภิปราย อยากให้เราไปปรับปรุงแก้ไขในวาระ2 และวาระ3 ซึ่งเป็นโอกาส ที่เราจะเอาข้อเสนอแนะข้อติชมไปปรับปรุงในวาระ 2 และ 3 ได้
ส่วนเรื่องเป็ดง่อยก็ไม่แน่ใจว่ากลอนพาไปหรือเปล่า แต่ผมมั่นใจว่าถ้าท่านพูดถึงกระทรวง พาณิชย์ที่ท่านเคยดูแลอยู่ ผมมั่นใจว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในระยะเวลา 1 ปี ทำได้มากกว่าท่านทำมา 4 ปี เพราะเรื่องของสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ FTA ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ผมว่าเป็นที่ประจักษ์ว่าที่ผ่านมาง่อยหรือไม่ง่อย และที่เราทำตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง ผมมั่นใจในตัวรัฐมนตรีของเรา และเรื่องบางเรื่องจริงๆแล้วนโยบายใช้น้อยมาก เป็นเรื่องของการใส่ใจ อย่างเรื่อง FTA รัฐบาลมีความตั้งใจจริง รัฐมนตรีทุกท่านมีความปรารถนาดีนายเศรษฐา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส.ส.ก้าวไกล พยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้จัดงบฯเดินตามรัฐบาลชุดที่ผ่านมามากไป นายเศรษฐา กล่าวว่า เรื่องของงบประมาณที่จริงแล้วมีที่มาที่ไปของมัน ที่มาที่ไปชัดเจนอยู่แล้ว แต่จะเดินตามหรือไม่เดินตามดูที่ความเป็นหลักดีกว่า อย่าพูดที่คนว่าเป็นรัฐบาลไหนอย่างไร อะไรที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมาจากรัฐบาลที่แล้วเราก็ทำตาม อะไรที่ต้องมีการปรับปรุง เราก็จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง
เมื่อถามว่า มีการอภิปรายถึงเงินดิจิทัลที่ไม่บรรจุไว้ในร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ซึ่งสวนทางกับที่พูดไว้ว่าจะไม่กู้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นพระราชบัญญัติ กำลังคอยข้อแถลงของกฤษฎีกาอยู่ เมื่อถามว่า ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แจ้งความคืบหน้าในข้อกฎหมายของเงินดิจิทัลที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติแล้วหรือยัง นายเศรษฐา ตอบว่า ยังเลย วันนี้เดี๋ยวเจอก็จะถามความคืบหน้า
เมื่อถามว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ที่ตั้งฉายานายกรัฐมนตรีเป็นนักกู้ถุงเท้าสีชมพู นายเศรษฐา กล่าวว่า ก็ใส่มาให้ท่านดูในวันนี้ด้วย พร้อมกับดึงขากางเกงเผยให้เห็นถุงเท้าสีชมพู พร้อมหัวเราะและกล่าวอีกว่า เป็นสีสันไม่ได้มีอะไร ซึ่งทุกคนก็กู้หมด สำคัญว่ากู้แล้วมาทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศชาติ และทำอะไรมากกว่า ซึ่งตนมั่นใจในรัฐบาลนี้ เมื่อถามว่า ยึดหลักอะไรในการจัดทำงบประมาณ นายเศรษฐา กล่าวว่า เอาพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง
จากนั้น นายเศรษฐา ได้ดึงขากางเกงโชว์ถุงเท้าสีชมพูให้สื่อมวลชนได้ถ่ายภาพ โดยผู้สื่อข่าวถามว่า จะใส่สีไหนก็ทำงานได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า สีไหนก็ทำได้ ไม่เกี่ยวอะไรกับการทำงาน
ด้าน นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ในฐานะวิปรัฐบาล กล่าวถึงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ต่อวันที่ 2 ของฝ่ายค้าน ว่า ผิดคาด ตอนแรกนึกว่าน้องๆ พรรคก้าวไกลจะอภิปรายออกไปนอกจอ แต่เป็นการอภิปรายเชิงวิชาการ โดยเฉพาะ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือนายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ก็ดี คงเหลือเพียงวาทกรรมเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้แรง ทำให้บรรยากาศเงียบเหงากว่าปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะก่อนหน้านี้เป็นเหมือนสงครามกลางสภาฯระหว่าง 3 ป. ฝ่ายค้านที่มีพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จึงเหมือนคู่ตรงข้ามอย่างชัดเจน จึงอาจจะบู๊กันตั้งแต่เรื่องงบประมาณไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
นายครูมานิตย์ กล่าวว่า มีการพูดคุยระหว่างนายกรัฐมนตรี และส.ส. ของพรรคเพื่อไทยโดยตลอด เพราะตนก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลส.ส. รุ่นน้องในพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงประสานงานกับวิปฝ่ายค้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ประจำอยู่ที่รัฐสภาตลอด ไม่ได้มีความกังวล และเปิดโอกาสให้ ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลไปพบเป็นการส่วนตัวที่ห้อง เพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่
เมื่อถามว่า มีการอภิปรายเกือบจะพาดพิงถึง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกหรือไม่ นายครูมานิตย์ กล่าวว่า สภาฯ วันนี้คงแยกแยะกันออก ยกเว้น นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ตนจึงลุกขึ้นมาประท้วง เนื่องจากเห็นว่านายจุรินทร์เป็นนักการเมืองอาวุโส
"ถ้าเป็นน้องๆเด็กๆมาอภิปราย ผมก็ไม่ค่อยซีเรียส คนเคยเป็นรองนายกฯเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการมาแล้วไม่รู้กี่กระทรวง มาอภิปรายเรื่องรองเท้า แล้วก็พยายามพายเรือออกนอกกรอบ นี่เป็นสไตล์เดิมๆ ซึ่งก็ไม่แปลก แต่อยากจะเตือนว่าหากจะอธิบายเรื่องนี้ก็มีเวทีอยู่ เรื่องงบประมาณไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล้มป่วยของนายทักษิณ ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเลย"
นายครูมานิตย์ กล่าวยอมรับว่า อาจจะประท้วงนายจุรินทร์เร็วเกินไปนิดหนึ่ง คิดว่าต้องประท้วงไว้ก่อน และเชื่อว่ารมว.ยุติธรรมก็ต้องมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว ส่วนจะมีคนบอกว่าตนเองเป็นองครักษ์รัฐบาลหรือไม่ ก็แล้วแต่มุมมอง เพราะตนเองก็เป็นผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีหัวหน้าพรรคเป็นนายทักษิณ ตามด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่รู้จักและมีความเคารพนับถือกัน
"ผมตอบแบบไม่อายเลยว่า บางครั้งมันมีความจำเป็น เพราะว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งที่ทำให้ผมได้มีโอกาสยืนอยู่ ในสภาฯวันนี้ตั้งแต่ปี 2544 เมื่อครั้งท่านยังเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยอยู่" นายครูมานิตย์ กล่าว
เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยจะทำอย่างไรให้กรณีของนายทักษิณ ไม่ให้ถูกนำมาเชื่อมโยง นายครูมานิตย์ กล่าวว่า ต้องเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ จะให้ตนมาตอบแทนตรงนี้ไม่ได้ เมื่อถามว่า การอภิปรายของน.ส.ศิริกัญญา ที่ระบุว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีฝีมือในการบริหารประเทศนั้น นายครูมานิตย์ กล่าวว่า เป็นวาทกรรม เป็นมุมมอง แม้ตนเองจะยอมรับในการอภิปรายของน.ส.ศิริกัญญา แต่การใช้งบกลางก็เหมือนการตีเช็คเปล่าอยู่แล้วในทุกๆ รัฐบาล มองว่ามีทั้งวาทกรรมผสมไปกับวิชาการ หากสักวันถ้าพรรคเพื่อไทยแพ้การเลือกตั้ง และพรรคก้าวไกลได้จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ แล้วเขาจะรู้ว่าการเป็นฝ่ายปฏิบัติกับฝ่ายทฤษฎีนั้นต่างกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ได้เริ่มขึ้น เมื่อเวลา 09.00 น. โดยก่อนเข้าสู่การพิจารณาต่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในการอภิปรายวันแรก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้เวลารวม 7 ชั่วโมง 52 นาที แบ่งเป็นของ ครม. 3 ชั่วโมง 37 นาที , ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ใช้เวลา 4 ชั่วโมง 14 นาที คงเหลือเวลา 12 ชั่วโมง 7 นาที ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้เวลาไป 6 ชั่วโมง 43 นาที คงเหลือเวลาอภิปราย 13 ชั่วโมง 16 นาที รวมเวลาที่ใช้อภิปรายในวันแรก รวม 14 ชั่วโมง 57 นาที คงเวลาเหลือเวลารวม 28 ชั่วโมง 2 นาที
ต่อจากนั้นเป็นการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน โดย นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปไตยใหม่ อภิปรายว่า ตนไม่ขอรับหลักการในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จำนวน 5,112 ล้านบาท ตามงบประมาณรายจ่ายของสำนักนายกฯ และหน่วยงานในกำกับ เพราะพบว่ามีการจ่ายเงินพิเศษให้ข้าราชการ ที่ตนมองว่าเป็นเห็บในวงราชการ ได้รับงบประมาณซ้ำซ้อน เช่น นายกฯ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กอ.รมน. ได้รับเงินเดือนทั้งตำแหน่งนายกฯ และผอ.กอ.รมน. เช่นเดียวกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับเงินเดือนตำแหน่งผู้ว่าฯ และเงินเดือน ผอ.กอ.รมน.จังหวัด เป็นต้น โดยตนขอตัดงบประมาณส่วนดังกล่าว 100% เพราะปีที่ผ่านมาไม่พบผลงานของ กอ.รมน. ที่ทำเพื่อประชาชน นอกจากการการร้องเพลงรักชาติ ซึ่งต่างจากกลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) ที่ต้องขายขี้ยางเพื่อเดินทางมาที่สภาฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ ดังนั้นตนขอเรียกร้องให้จัดสรรงบประมาณให้กับ กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) วงเงิน 6,000 ล้านบาท
ขณะที่ นายคริสฐ์ ปานเนียม ส.ส.ตาก พรรคก้าวไกล กล่าวอภิปรายตำหนิการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล ว่า เป็นการจัดทำงบประมาณที่ล้าหลังในลักษณะผูกยึดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการสืบทอดอำนาจ อีกทั้งก็มีกฎหมายที่บิดเบือนฉุดรั้งประเทศ ทำให้เกิดความล่าช้ากว่าประเทศอื่น ล้วนแต่ก่อให้เกิดวิกฤตกับประเทศ
โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณในการแก้ปัญหาและการบริหารจัดการน้ำนั้น ไม่ตรงกับความต้องการในการแก้ปัญหาแต่เป็นการดำเนินการในลักษณะเดียวกับรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และเลือกที่จะเดินตามรอยของรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นการจัดทำงบประมาณที่ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีคำตอบสำหรับอนาคตของประเทศ สวนทางกับคำพูดและการกระทำโดยเฉพาะสมัยที่เป็นฝ่ายค้านด้วยกัน อดสงสัยไม่ได้ว่าในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นการภาคต่อของรัฐบาลชุดที่แล้วหรือไม่Ž
ส่วน นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระแรก ถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนหนึ่งว่า นับจากเหตุการณ์ปล้นปืน เมื่อปี 2547 พบว่าสถานการณ์ความไม่สงบจนถึงปัจจุบัน พบว่าเกิดขึ้นแล้วกว่า 22,296 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บกว่า 2หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 7,000 คน ทั้งนี้พบว่ารัฐใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหากว่า 5.4 แสนล้านบาท โดยในงบประมาณ 2567 พบการเสนอของบรวม 2.5หมื่น ซึ่งกำหนดโครงการไว้ในแผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภาคใต้ ถือว่ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 6.5% โดยส่วนตัวมมองว่างบฯ ดังกล่าวสามารถปรับลดได้ ถึง 1,032 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายแผนบูรณาการดับไฟใต้เพื่อความสงบเรียบร้อยและราบคาบ แต่ตนมองว่าไม่พอ เพราะเป็นสันติภาพเชิงลบ ดังนั้นต้องเพิ่มสันติภาพเชิงบวกได้แก่ ความยุติธรรม เพราะเงื่อนไขคนต่อต้านก่อกบฎเพราะคนไม่รับความเป็นธรรม ต้องคุ้มครองสันติภาพ แก้ไขกฎหมาย แต่การจัดงบของรัฐบาลทำให้เกิดสันติภาพเชิงลบและเชิงลดเท่านั้น
สำหรับงบประมาณที่ใช้ดับไฟใต้ซึ่งกำหนดไว้นอกแผนบูรณาการ 3 ใน 4 อยู่ใน กอ.รมน. รวมกว่า 5,000 ล้านบาท เช่น งบฯการกำลังพลและการดำเนินงานของ กอ.รมน. วงเงิน 3,535 ล้านบาท ที่อาจเกี่ยวข้องกับบุคลากรผี ที่มีชื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้แต่ไม่ได้ทำงานจริง ถือเป็นงบหล่อเลี้ยงกำลังพลที่ไม่ได้ทำงานในพื้นที่ ดังนั้นของ กอ.รมน. ชี้แจงว่ามีคนทำงานจริงเท่าไร หรือเป็นเพียงงบฯ ที่ใช้หากินเท่านั้น
ผมขอตั้งคำถามไปยัง กอ.รมน.รับมือกับภัยคุกคามความมั่นคง ทำให้จำเป็นต้องมีภัยคุกคามเพื่อให้องค์กรดำรงอยู่ หากทิศทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง กอ.รมน.ต้องสกัดขัดขวางเพื่อไม่ให้การแสวงหาทางออกทางการเมืองเป็นไปได้
นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นในส่วนของ กอ.รมน. พบว่ามีค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใน 52 หน่วยงาน รวมงบประมาณ 1,527 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้คนในพื้นที่ดำเนินการในส่วนดังกล่าวและปรับลดงบประมาณของ กอ.รมน.ลง
นายรอมฎอน ยังอภิปรายด้วยว่า ตนมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลที่มีนโยบายด้านยุติธรรม ให้ฟื้นคดีตากใบ ที่อีก 10 เดือนจะหมดอายุความ โดยให้ริเริ่มเป็นคดีพิเศษ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รวมถึงให้นายกฯ กำชับไปยัง กอ.รมน. ภาค4ส่วนหน้า ให้ยุติการฟ้องปิดปากเพื่อให้การเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นได้จริง รวมถึงเปิดพื้นที่ทางการเมือง เจรจาหาทางออกร่วมกันระหว่างคนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบฯจำนวนมาก