“ก้าวไกล” จัดหนักเตรียม 11 ขุนพล ถล่มงบฯ 67 ซัดดันทุรังทำดิจิทัลวอลเล็ต กระทบโครงการอื่นเสียโอกาสลงทุน 5 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถึง 2.5 แสนล้าน   “วันนอร์” ส่ง “พิเชษฐ์” หารือวิป 3 ฝ่าย วางกรอบถกงบฯเพิ่มกลางปี 67 คาดวันเดียวจบ 

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 16 ก.ค.67 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมพ.ศ.2567 ว่า ได้มอบให้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่ 2 ประชุมหารือกับตัวแทนรัฐบาลและคณะกรรมการประสานงานทั้งพรรคร่วมฝ่ายค้านและรัฐบาล เพื่อกำหนดกรอบเวลา และทิศทางในการพิจารณาว่าจะแบ่งกันอย่างไร ซึ่งคิดว่าคงเรียบร้อย เป็นการพิจารณางบประมาณเพิ่มเติมที่รัฐบาลเสนอเข้ามาทราบว่าจะใช้เวลาวันเพียงวันเดียวน่าจะเพียงพอ เพราะเป็นงบประมาณก้อนเดียวไม่ได้แยกเป็นรายกระทรวง หรือมีรายละเอียดมากมาย ซึ่งรัฐบาลก็ต้องชี้แจงว่าจำนวนที่ขอเท่าไหร่ ประมาณส่วนนี้มาจากไหนและจะไปใช้อย่างไรขณะที่สมาชิก ก็ต้องอภิปรายว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับที่รัฐบาลเสนอ ก็เป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับการประชุม

เมื่อถามว่า จะมีการพิจารณา 3 วาระรวดหรือไม่ ประธานสภาฯ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่โดยปกติแล้ว ก็จะพิจารณา กัน 3 วาระโดยพรุ่งนี้ จะเห็นชอบในหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษา หรือหากที่ประชุมเห็นว่ามีเพียงมาตราเดียวจะเอา 3 วาระรวดก็ต้องแล้วแต่ที่ประชุม

ด้าน  นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิทักษ์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมสภาฯในวันที่ 17 ก.ค. ที่จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. ..ว่า พรรคก้าวไกลเตรียมผู้อภิปรายไว้ 10-11 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์แจ้งมาแล้ว 3 คน และจะมีเพิ่มเติมภายหลัง โดยจะอภิปรายในหลายแง่มุม ทั้งกฎหมาย วิธีการงบประมาณ ความคุ้มค่า ค่าเสียโอกาส และข้อกังวล เนื่องจากการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต  โดยเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่ต่างจากร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2568 ที่เบ่งงบประมาณให้ขาดดุลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกทั้งยังเบ่งงบประมาณปี67 การทำทุกอย่างมีค่าเสียโอกาส ทำให้โครงการอื่นๆไม่สามารถทำได้ เพราะงบประมาณใช้จนเต็มกรอบวงเงินไปแล้ว

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวอีกว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้มีเพียงแค่การทำโครงการดิจิตอลฯเท่านั้น ถ้าเราเสียโอกาสแก้ไขปัญหาอื่นๆ แล้วไปวัดดวงกับโครงการนี้เพียงโครงการเดียว โดยทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่านโยบายเงินโอนเช่นนี้ สร้างตัวคูณทางการคลังน้อยมาก ซึ่งล่าสุดรัฐบาลก็ทราบและยอมรับตัวเลขประเมินที่ทางรมช.คลังออกมากล่าว และยอมรับแล้วว่าตัวคูณทางการคลังไม่ถึง 0.5 ด้วยซ้ำ ลงทุนไป 5 แสนล้าน แต่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถึง 2.5 แสนล้าน ฉะนั้น ตนจึงไม่มั่นใจว่าจะคุ้มค่ากับการที่ยอมเดิมพันทุกสิ่งอย่าง เพื่อทำโครงการดิจิตอลหรือไม่

“ผมอยากทำความเข้าใจกับหลายคนที่มองว่ารัฐบาลทำตามที่หาเสียงไว้ ว่าเวลาพูดถึงนโยบายหาเสียง โดยเฉพาะที่ใช้งบประมาณ อยากให้มอง 3 ส่วนคือ งบฯมาจากไหน ทำอะไร ผลจะเกิดอะไรขึ้น อยากให้มองย้อนกลับไปที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ คือไม่กู้ ไม่เบ่งงบประมาณแบบนี้ แต่ตอนนี้ที่มางบเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม เหลือแค่วิธีการที่จะแจกเงิน 1 หมื่น ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ถ้วนหน้าด้วย ถือว่าไม่เหมือนเดิมด้วยซ้ำ ถ้ามองกันจริงๆนโยบายที่หาเสียงไว้คืออะไร กับนโยบายที่รัฐบาลกำลังทำ ผมคิดว่านโยบายตอนนี้ไม่ใช่นโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงไว้เลย”