7วันอันตราย ฉลองปีใหม่ผ่านมา 3 วัน สังเวยแล้ว 128 ศพ บาดเจ็บกว่าพันคน ศปถ.จี้กวดขันขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ-ง่วงไม่ขับ กำชับใช้กฎหมายบังคับเอาผิดผู้ฝ่าฝืน

     ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อวันที่ 1 ม.ค.67 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ,นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ,นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ,น.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ประจำวันที่ 31 ธ.ค.66 เกิดอุบัติเหตุ 424 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 416 คน ผู้เสียชีวิต 51 ราย สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29-31 ธ.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,150 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,151 ราย ผู้เสียชีวิต รวม 128 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 22 จังหวัด ซึ่ง ศปถ. ได้กำชับดูแลกวดขันขับรถเร็ว-ดื่มแล้วขับ เน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และดำเนินมาตรการดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง


     ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2567 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธ.ค.66 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ เกิดอุบัติเหตุ 424 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 416 คน ผู้เสียชีวิต 51 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 37.26 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.91 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 80.19 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 37.03 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.56 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 8.02 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.20 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,780 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,670 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (18 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (20 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครพนม และอุดรธานี (จังหวัดละ 4 ราย) 


     โดยสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (29-31 ธ.ค.66) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,150 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ รวม 1,151 คน ผู้เสียชีวิต รวม 128 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ กาญจนบุรี (44 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (43 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (8 ราย) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 22 จังหวัด  อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ประชาชนบางส่วนยังคงเดินทางท่องเที่ยวและทำบุญตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจในภาคต่างๆ ทำให้เส้นทางหลักและเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด มีปริมาณรถหนาแน่น 


     ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน เจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องในเส้นทางสายต่างๆ โดยเฉพาะเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านและอำเภอ ซึ่งประชาชนใช้เป็นทางลัดออกสู่ถนนสายหลัก พร้อมคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รวมถึงประเมินความพร้อมของผู้ขับขี่ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการขับรถเร็วและง่วงหลับใน นอกจากนี้ ให้ดูแลความปลอดภัยของประชาชนบริเวณสถานีขนส่ง ตรวจสอบพนักงานขับรถและสภาพรถโดยสารให้มีความพร้อมในการให้บริการผู้โดยสาร และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนอย่างต่อเนื่อง 


     ด้าน นายไชยวัฒน์  ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า ศปถ.ได้กำชับให้กวดขันพฤติกรรมเสี่ยงขับรถเร็ว และดื่มแล้วขับบนเส้นทางสายหลักและสายรองในช่วงเวลามีสถิติอุบัติเหตุสูง และเน้นย้ำให้ด่านชุมชนปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อป้องปรามผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ให้สวมหมวกนิรภัย และไม่ขับขี่ด้วยความคึกคะนองและเสี่ยงอันตราย รวมถึงเตรียมความพร้อมการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขับขี่อำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงจุดเกิดเหตุและรับส่งผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ขอฝากประชาชนให้เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ด้วยความไม่ประมาท และเพิ่มความระมัดระวังอุบัติภัยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงดูแลสภาพร่างกายให้พร้อมขับขี่ และตรวจเช็กสภาพรถให้ปลอดภัยก่อนออกเดินทางกลับเพื่อความปลอดภัย