เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า

วันนี้ (28 ธ.ค. 2566) เวลา 9.30 น. ห้องพิจารณาที่ 611 ศาลแพ่ง (รัชดา) นัดอ่านคำพิพากษา คดีที่ผู้เสียหาย และ ผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและเรียกค่าเสียหายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หลังจากได้ผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 โดยมีอังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ สมาชิกคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ (UN Human Rights Expert- WGEID)  ซึ่งเป็นหนึ่งในโจทก์ที่ยื่นฟ้องคดีครั้งนี้ พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ – ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) และเจ้าหน้าที่จาก Protection International (PI) เดินทางเข้ารับฟังคำพิพากษาในวันนี้

โดยศาลแพ่งเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 09.30 น. และศาลมีคำพิพากษาว่าแม้จะปรากฎว่ามีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามฝ่าแนวกั้นรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่รัศมี 50 เมตร ซึ่งเป็นเขตหวงห้าม ประกอบกับไม่ปรากฎว่ามีผู้แจ้งการชุมนุม การชุมนุมดังกล่าวจึงเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานฯใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน เมื่อผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ยังคงชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การที่เจ้าหน้าที่ฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตา ที่ไม่สามารถควบคุมทิศทางได้และไม่ประกาศแจ้งให้ผู้ชุมนุมได้ทราบ รวมถึงผลกระทบที่จะได้รับก่อน การกระทำของเจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ปฏิบัติตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะฯ ไม่ได้สัดส่วนต่อความรุนแรง เป็นกระทำข้ามขั้นตอนที่กำหนด เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นต่อผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมและประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่อยู่บริเวณดังกล่าวรับความเสียหายด้วย และการกระทำของเจ้าหน้าที่เป็นการใช้กำลังเกินความจำเป็น อันเป็นการละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

และศาลจึงพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการทำละเมิดต่อเสรีภาพในการชุมนุมและสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกายต่อโจทก์ดังต่อไปนี้  โดยโจทก์ที่ 4 จำนวน 58,968 บาท , โจทก์ที่ 5 จำนวน 126,775 บาท , โจทก์ที่ 6 จำนวน 22,000 บาท , โจทก์ที่ 8 จำนวน 50,000 บาท และโจทก์ที่ 9 จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 1 ถูกฟ้องตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นแกนนำ/ผู้แทนของผู้ชุมนุม แต่ไม่สามารถควบคุมการชุมนุมได้ จึงเป็นผู้มีส่วนให้เกิดเหตุละเมิด ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ และโจทก์ที่ 2-3 และ 7 นั้นไม่ปรากฎหลักฐานว่าอยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมและหลักฐานการรักษาพยาบาล ไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ และส่วนคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยยุติการปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพในการชุมนุมด้วยการตั้งวางเครื่องกีดขวางและกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามหลักความจำเป็นและได้สัดส่วนนั้น การกำหนดดังกล่าวเป็นอำนาจของหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศาลไม่มีอำนาจก้าวล่วงฝ่ายบริหารได้ ทั้งนี้ศาลยังได้ยกฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ด้วย

อังคณากล่าวภายหลังฟังคำพิพากษาของศาลเสร็จสิ้นแล้วว่า ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาล เห็นว่าคำพิพากษาของศาลมีความก้าวหน้า โดยมีการอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี อย่างไรก็ดียังมีข้อห่วงกังวล และไม่เห็นด้วยในบางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ศาลมีความเห็นว่า ในการชุมนุมหากผู้จัดการชุมนุมไม่แจ้งเจ้าพนักงาน  ถือว่าการชุมนุมนั้น เป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ในขณะที่หลักสิทธิมนุษยชนยึดถือว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง โดยรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบ โดยหากการชุมนุมที่มีการใช้อาวุธ หรือใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง การชุมนุม ในลักษณะนี้จึงถือเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบและไม่เป็นสิทธิของผู้ชุมนุม ซึ่งรับรองโดยกฎหมายและหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สมควรหยิบยกมาถกแถลงกันต่อไป

ส่วนเรื่องการชดใช้หรือเยียวยาความเสียหาย ศาลมีคำพิพากษาให้ชดใช้และเยียวยาความเสียหายโดยเฉพาะคนที่มีหลักฐานการรักษาพยาบาล แต่ในคนส่วนของคนที่ไม่ได้มีหลักฐานนั้น บางคนอาจจะไม่สะดวกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและมีใบรับรองแพทย์เป็นหลักฐาน โดยที่อาจซื้อยามากินเองกรณีเช่นนี้คงต้องมาหารือว่าจะทำอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าศาลเองยังไม่ได้พิจารณาไปถึง คือ การชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายทางด้านจิตใจ เช่น กรณีของเด็กที่ได้รับผลกระทบ โดยที่พ่อของเด็กให้การต่อศาลว่าเด็กยังมีความหวาดกลัวต่อรถดับเพลิง ซึ่งศาลอาจจะยังมองไม่เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะผลกระทบหรือความเสียหายทางด้านจิตใจนั้นจะติดไปในใจไปอีกนานโดยเฉพาะกับเด็กที่จะทำให้เกิดความหวาดกลัว แม้แต่เราซึ่งเป็นผู้ใหญ่เมื่อเห็นรถฉีดน้ำของตำรวจเรายังมีความรู้สึกถึงความกังวลหรือกลัว 

ส่วนตัวต้องขอบคุณศาลที่มีคำพิพากษาว่าผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ้างว่ามีผู้ชุมนุมจะทำลายเครื่องกีดขวาง ศาลก็มองว่าการทำลายเรื่องกีดขวางเป็นกลุ่มคนจำนวนน้อย หากตำรวจพบเห็นว่ามีกาทำลายเครื่องกีดขวางนั้นก็สามารถดำเนินการจับกุมได้เนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า แทนที่จะเหมารวมว่าผู้ชุมนุมทุกคนชุมนุมโดยไม่สงบ และใช้การปราบปรามด้วยความรุนแรงโดยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อบุคคล กลุ่มเปราะบาง รวมถึงผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม ซึ่งสิ่งเหล่านี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมควรนำไปปรับปรุงในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลโดยการชุมนุมอย่างสงบ และยังมีหลายประเด็นที่สังคมควรที่จะเปิดกว้างที่จะนำคำพิพากษานี้มาถกแถลงและวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน และความสงบเรียบร้อยของสังคม

สำหรับที่มาที่ไปของการฟ้อง

คดีดังกล่าวนี้ สืบเนื่องจากการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นในนามกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 บริเวณใกล้กับอาคารรัฐสภา เพื่อร่วมติดตามการประชุมรัฐสภาในวาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ และเรียกร้องให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขที่ประชาชนร่วมกันใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกว่า 1 แสนรายชื่อ อันเป็นการใช้เสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรอง

ซึ่งในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลับออกประกาศพื้นที่ห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร รอบรัฐสภาและทำการปิดกั้นถนนเส้นทางสัญจรในบริเวณรอบรัฐสภาด้วยเครื่องกีดขวางต่าง ๆ เพื่อสกัดกั้นผู้ชุมนุม ไม่ให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือเดินทางผ่านเข้าออกบริเวณหน้ารัฐสภาได้ ทั้งยังมีการสลายการชุมนุมด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมี และใช้แก๊สน้ำตา โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักการสากล จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกละเมิดเสรีภาพการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และได้รับบาดเจ็บ มีอาการคัน แสบร้อน ผิวหนังมีแผลไหม้พุพอง ปวดอักเสบ แสบตา แสบคอ หายใจไม่ออก เกิดอาการแพ้และมีเลือดออกทางจมูก และบางรายถูกยิงโดยผู้ก่อเหตุไม่ทราบฝ่าย

ก่อนหน้านี้ ผู้เสียหายร่วมกับทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้ยื่นฟ้องผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 64 แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่าเนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาต่อศาลปกครองสูงสุด

ปัญหาความคลุมเครือของเขตอำนาจศาลดังกล่าวนี้ จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีบางส่วนจำนวน 9 คน ตัดสินใจถอนฟ้องจากศาลปกครองและยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่12 พ.ย. 64 เนื่องด้วยเหตุผลทางอายุความที่หากต้องการฟ้องคดีนี้ใหม่ต่อศาลยุติธรรม ต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากวันที่เกิดเหตุละเมิด โดยการฟ้องแพ่งในครั้งนี้ก็เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อเสรีภาพการชุมนุม และสิทธิในชีวิตและร่างกาย รักษาพยาบาล และขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นขัดขวางและใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายการชุมนุมสาธารณะและหลักสากล

การยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งนั้นเพื่อยืนยันว่า การปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมและการใช้กำลังความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมตามอำเภอใจ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่ต้องถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม ไม่ปล่อยให้กลายเป็นการพ้นผิดลอยนวล เพื่อให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้รับการเยียวยา และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชนให้สามารถกระทำได้อย่างปลอดภัยตามที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรอง การที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาในครั้งนี้จึงกลายเป็นคำพิพากษาครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่จะยืนยันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้กับประชาชน