เศรษฐาอารมณ์ดี โชว์ถึงเท้าสองสี หม่ำข้าวสื่อทำเนียบฯ วันคริสต์มาส ด้านวิษณุแนะยิ่งลักษณ์มารับโทษก่อนยื่นถวายฎีกาขออภัยโทษ  ชี้หากร่างกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ผ่านวาระแรก นายกฯ-รัฐบาลต้องรับผิดชอบลาออกหรือยุบสภาฯ   

     
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาลภายหลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจที่กระทรวงการคลัง ทันทีที่นายเศรษฐาเดินทางมาถึงได้ลงจากรถยนต์ส่วนตัวและเดินมายังห้องพักสื่อมวลชน เพื่อพบปะพูดคุยหลังมอบขนมปังอิตาลีขนาดใหญ่น้ำหนักกว่า 10 กิโลกรัม ให้สื่อมวลชนได้รับประทานเนื่องในวันคริสต์มาส และยังได้สอบถามว่า ขนมปังรสชาติอร่อยหรือไม่ สื่อมวลชนตอบกลับ อร่อย และได้ขอบคุณนายกฯ พร้อมกับถามนายกฯ ทานขนมปังชนิดนี้ประจำทุกปีหรือไม่ โดย นายเศรษฐา กล่าวว่า ทานเป็นประจำ และยังแนะนำว่าหากจะทานให้อร่อยต้องกินคู่กับไอศครีมกะทิ
    
 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายกฯ เดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า สื่อมวลชนได้หยอกล้อว่าวันนี้นายกฯ จะใส่หมวกซานตาคลอสหรือไม่ ทำเอานายเศรษฐาหยุดเดินพร้อมกับถกขากางเกงขึ้น โชว์ถุงเท้าที่สวมสีเขียวและสีแดง คนละข้าง ก่อนที่จะเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมระบุว่า ตอนเย็นจะร่วมรับประทานอาหารกับสื่อมวลชน ตนจะพาลูกชาย 2 คน มาร่วมด้วย
   
  ด้าน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองปี 2567 จะมีอะไรพลิกผันหรือไม่ ว่า ไม่ทราบ ตนตอบไม่ถูก เมื่อถามถึงกรณีที่ส.ว.จะหมดวาระ 5 ปี วันที่ 11 พ.ค. จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่  นายวิษณุ กล่าวว่า  ส.ว.ชุดนี้ไม่อยู่ก็มีส.ว.ใหม่มา บทบาทเขาก็เล่นอีกแบบหนึ่ง ในส่วนนี้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก เพียงแต่ว่าอาจมีเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ส่วนรัฐบาลจะปรับคณะรัฐมนตรีหรือไม่นั้นตนไม่ทราบอยู่ที่รัฐบาลและนายกฯ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจริงๆ เมื่อถามย้ำว่า หากพ้นวันที่ 11 พ.ค. ไปแล้วส.ว.ชุดเดิมจะไม่มีส่วนเกี่ยวกับการเลือกนายกฯ แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่เรื่องอื่นยังมีอำนาจอยู่ จนกว่าจะมีส.ว.ชุดอื่นเข้ามาคาดว่าจะใช้เวลา 2 เดือน
   
  เมื่อถามถึงปี 2567 รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หากไม่ผ่านสภาฯ นายกฯต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ นายวิษณุ ตอบว่า ถ้าไม่ผ่านสภาฯ วาระที่ 1 เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ด้วยการยุบสภาฯ หรือลาออก แต่ถ้าไม่ผ่านในวาระ 2 หรือ 3 หรือในชั้นส.ว.ไม่เป็นไร เพราะถ้าสภาฯรับหลักการวาระหนึ่ง แล้วกฎหมายนั้นก็ถือเป็นกฎหมายของสภาฯ เพราะมีการไปแก้ไขแล้ว หลังจากนั้นจะผ่านไม่ผ่านก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่ช่วงวาระหนึ่งถือเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เสนอเข้าไปถ้าไม่ผ่านก็เท่ากับไม่ไว้ใจรัฐบาล เรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบังคับแต่ธรรมเนียมปฏิบัติเป็นเช่นนั้น ขณะที่วาระสองวาระสามไม่มีธรรมเนียมด้วยซ้ำไป
    
 เมื่อถามย้ำว่า หากกฎหมายไม่ผ่านตั้งแต่วาระหนึ่งก่อนรับหลักการ นายกฯไม่ออกได้หรือไม่ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ นายวิษณุ กล่าวว่า มันเป็นธรรมเนียมประเพณี มิเช่นนั้นจะถูกตำหนิเช่นสมัยจอมพล.ป. กฎหมายไม่ผ่านก็ลาออก สมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กฎหมายไม่ผ่านก็ยุบสภาฯ ในอังกฤษในญี่ปุ่นก็เป็นเช่นนั้น เป็นธรรมเนียมไม่ได้เขียนเป็นกฎหมายไว้ที่ไหน
   
  นายวิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะขอพระราชทานอภัยโทษเหมือนกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ  ได้หรือไม่ ว่า การขอพระราชทานอภัยโทษมีลำดับคือ 1.ต้องกลับเข้ามาประเทศ 2.ต้องมามอบตัวเป็นนักโทษ แล้วจึงจะถวายฎีกาได้ ถ้าหากยังไม่ได้รับโทษก็ยังถวายฎีกาไม่ได้ จะไม่เรียกว่าฎีกา เพราะฎีกานั้นคือสิ่งที่นักโทษเด็ดขาดเป็นผู้ถวายขึ้นไป เมื่อถามว่า ขั้นตอนจะเหมือนนายทักษิณ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ส่วนจะโปรดเกล้าฯ หรือไม่ แล้วแต่พระมหากรุณาฯ
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติแล้วหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เห็น ถ้าสื่อไม่ได้เสนอข่าว เพราะตนทราบจากหนังสือพิมพ์เท่านั้น เมื่อถามย้ำว่า คำถามประชามติที่ถามว่าจะต้องมีการตั้ง สสร. เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ตนไม่รู้เรื่องอะไรไม่รู้ความคืบหน้า
   
  นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีผลสำรวจนิด้าโพล ระบุประชาชนอยากเห็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ  เป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ ว่า ก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะการสำรวจขึ้นอยู่กับใครสำรวจสถาบันไหนบ้าง และสำรวจในกลุ่มตัวอย่างเท่าไร จากส่วนไหนบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือพื้นที่ของประชาชนโดยตรง ตนเชื่อว่าพื้นที่ที่รัฐบาลไปพบประชาชนส่วนใหญ่ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง
    
 สำหรับผลโพลถ้าเป็นในเมือง โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว ยอมรับว่าความนิยมของนายพิธายังมีอยู่ แต่คิดว่าอยู่ที่การทำงานมากกว่า รัฐบาลนี้เข้ามาช่วงแรกวุ่นอยู่กับการทำงานอยู่ หลังจากทำงานเสร็จแล้วค่อยไปดูอีกทีว่าประชาชนรู้สึกอย่างไร ส่วนตัวคิดว่าความนิยมไม่เท่ากับผลงานที่ทำงานให้กับประชาชน
   
  ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำโพลภายใน 3 เดือน คิดว่าเร็วไปหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเร็วไปนิดหนึ่ง เหมือนที่บอกว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลเพิ่งเริ่มทำงาน ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลเข้ามาครั้งนี้ มาถึงก็เจอแต่ปัญหาเยอะ เป็นปัญหาที่สะสมมาเกือบ 9-10 ปี จากการรัฐประหาร ดังนั้น การทำงานขณะนี้เป็นการปูรากฐาน
   
  นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีงบลงทุนในการทํางาน ส่วนใหญ่เป็นงบประจำ เพราะงบประมาณเป็นช่วงรอยต่อพอดี ซึ่งงบประมาณปี 2567 กำลังจะเข้าสภาต้นปีนี้ ฉะนั้น เรายังไม่มีเงินทำงาน ดังนั้นงบประมาณที่เราจะทำงานได้ จะมีหลังเดือนพฤษภาคมปีหน้าเป็นต้นไป ที่ผ่านมาเราใช้การบริหารเงินด้วยการนำธนาคารของรัฐมาช่วยบ้าง เป็นการหยิบจับมาโปะ เป็นการเตรียมพื้นที่แก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป และเชื่อว่าหลังจากปีใหม่เป็นต้นไป ทุกคนจะได้เห็นว่าฝีมือการทำงานของรัฐบาลเป็นอย่างไร ซึ่งในช่วงต้นปี 2567 จะมีการชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า 3 เดือนที่รัฐบาลเข้ามา ได้ปูรากฐานอะไรบ้าง
    
 เมื่อถามถึงความมั่นใจ จะใช้ผลงานเป็นตัวดึงคะแนนได้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ผลงานเป็นสิ่งที่สำคัญมากอันดับต้นๆ ในการดึงความรู้สึก เพราะถ้าประชาชนเห็นความตั้งใจของรัฐบาล หรือสามารถแก้ไขปัญหาได้ ประชาชนก็จะพอใจ เชื่อว่าเรามีความสามารถเหนือกว่าพรรคอื่นคือการลงไปพบปะประชาชน ซึ่งสมาชิกที่ลงพื้นที่ก็ได้รับเสียงสะท้อนว่าพรรคเพื่อไทยยังได้รับความเชื่อมั่น เพียงแต่เราอาจจะต้องปรับการสื่อสารกับคนในเมืองและเยาวชน ส่วนการใช้โซเชียลมีเดีย ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยยังไม่แข็งแรง มีข้อจำกัด ซึ่งหลังจากมีการปรับปรุงพรรค มีหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจให้คนเหล่านี้เข้าใจพรรคมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาลมีเวลา 4 ปี ในการทำงาน หลังจากนั้นประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครที่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้ดีที่สุด
    
 นอกจากนี้ นายภูมิธรรม ยังกล่าวถึงเรื่องการดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาตั๋วเครื่องบินที่มีราคาสูงขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ ว่า ทั้งหมดเป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งในส่วนกระทรวงพาณิชย์ดูในส่วนปลายทาง แต่กระทรวงหลักคือกระทรวงคมนาคมที่ต้องควบคุมดูแล สิ่งเหล่านี้ต้องขอความร่วมมือ โดยกระทรวงพาณิชย์จะให้กรมการค้าภายในเข้าไปตรวจสอบ ดูทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง อยากฝากไปถึงผู้ประกอบการว่า อยากให้ช่วยกันส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายหรือกำลังซื้อ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ที่สำคัญต้องดูแลความเดือดร้อนของประชาชน
    
 วันเดียวกัน ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนภายหลังเข้ารับการไต่สวนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในคดี ที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบายแก้ไขมาตรา 112 
    
 นายชัยธวัช กล่าวว่า คิดว่าการไต่สวนเป็นไปด้วยดี เรายังมั่นใจว่า ตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายและเจตนาของเราสามารถชี้ได้ว่าไม่ได้เป็นการล้มล้างการปกครอง และก่อนหน้านี้ได้ทำคำชี้แจงในประเด็นสำคัญๆ มาก่อนหน้านี้แล้ว วันนี้หลักๆ มาตอบคำถามที่ตุลาการซักถามเพิ่มเติม ซึ่งมีคำถามหลากหลาย ซึ่งพูดได้ไม่หมด เพราะระหว่างไต่สวน รอบของนายพิธากับรอบของตนนั้น ตนไม่ได้อยู่ในห้องด้วย อย่างไรก็ตามศาลนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31 ม.ค.67
     
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังศาลไต่สวน ยังเชื่อมั่นหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ยังเชื่อมั่นเหมือนเดิมว่าการเสนอร่างกฎหมายโดยการใช้กระบวนการนิติบัญญัติ และแก้ไขมาตรา 112 รวมถึงกฎหมายอาญา หมิ่นประมาท เรายังมั่นใจว่า ไม่สามารถนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้ ทั้งนี้การเสนอร่างใดๆ มีกระบวนการของสภาแล้วไม่ว่าจะเป็นวาระที่ 1 วาระที่ 2 วาระที่ 3 ซึ่งต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ ต้องใช้กรรมาธิการในการคัดกรองพิจารณาเนื้อหาซ้ำอีกครั้ง ยังมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนผ่านสภา ก่อนประกาศใช้จะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการเสนอกฎหมายไม่มีทางนำไปสู่การล้มล้างการปกครองได้
    
 ด้าน นายพิธา กล่าวว่า การไต่สวนในวันนี้ตนก็ยังมั่นใจว่ากระบวนการราบรื่นดี พอใจที่ได้แถลงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ข้อสงสัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งที่ตั้งใจมาเป็นไปตามความคาดหมาย ยังมั่นใจในข้อเท็จจริงหลายๆ เรื่องข้อเสนอแก้ไขทางนิติบัญญัติไม่ได้มาจากพรรคเราเป็นพรรคแรก แต่มาจากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ดี รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นพรรคเดียวที่ยื่น ดังนั้นน่าจะยืนยันได้ในเรื่องของเจตนาว่า ไม่ได้มีเจตนาจะล้มล้างการปกครอง
    
 เมื่อถามว่า หากผลการตัดสินออกมาเป็นคุณทั้ง 2 คดี จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ไม่ว่าผลการตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไรก็ยังทำงานกับพรรคก้าวไกล แต่ถ้าออกมาเป็นคุณ บทบาทของตัวเองในพรรคก้าวไกลก็ต้องรอเดือน เม.ย.67 ที่จะมีการประชุมวิสามัญใหญ่พรรคก้าวไกล ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดอะไร สามารถทำงานการเมืองได้ทุกรูปแบบ ไม่กังวลใจยังสามารถทำงานต่อได้
    
 ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขมาตรา 112 ยังจะสามารถเป็นนโยบายหาเสียงครั้งต่อไปได้ หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า นโยบายเป็นของ ส.ส.ชุดที่แล้ว และเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ชุดที่แล้ว ตอนนี้เป็น ส.ส. ชุดใหม่ ซึ่งยังไม่ได้มีการหารือพูดคุยกันในพรรคว่าปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะตอนนี้ก็ยังเป็นข้อพิพาทในศาลรัฐธรรมนูญอยู่
    
 เมื่อถามอีกว่า หากศาลวินิจฉัยทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือให้เรายุติ ยกเลิกนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อจุดยืนการทำงานของพรรคก้าวไกล หรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องรอให้คำพิพากษาศาลออกมาก่อน เป็นเรื่องของ ส.ส.แต่ละคน ดูสถานการณ์บริบทของบ้านเมืองซึ่งแตกต่างกันไป ตอนที่เรายื่นตอนนั้นก็ต้องเข้าใจว่าบริบทการเมืองตอนนั้นมีการใช้ความรุนแรง และมีคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นจากหลักสิบเป็นหลักร้อยเป็น 268 คดี ในปี 2563 โดยมีเยาวชน 20 กว่าคน ดังนั้นในปี 2564 เราจึงคิดว่า นี่เป็นทางฝ่ายการเป็นทางออกของการเมืองตอนนั้น ดังนั้นหลายเรื่อง หลายๆ เวลา ต้องดูว่าสิ่งสำคัญในระบบยุติธรรมคือการได้สัดส่วน เมื่อมีการละเมิดสิทธิ์ก็ต้องทางออกในรัฐสภาที่เรายึดถือ ณ ตอนนั้น ตอนนี้ก็ต้องแล้วแต่ สส. แต่ละคน และสถานการณ์ ดูองค์ประกอบหลายเรื่อง รวมถึงสถานการณ์ตอนนั้น
     
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเมินตัวเองหลังไต่สวนให้กี่คะแนน นายพิธา กล่าวว่า คงไม่ตอบเป็นตัวเลข แต่ก็พอใจ หากย้อนกลับไปได้เท่าที่ตัวเองคิดตอนนี้ ก็คิดว่าไม่มีอะไรอยากจะทำเพิ่ม ทำเต็มที่แล้ว ตอนนี้ต้องรอคำพิพากษา ส่วนผู้เชี่ยวชา