วันที่ 18 ธ.ค.2566 ที่รัฐสภา นายคำนูณ  สิทธิสมาน สว.และในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ)  เปิดเผยว่า ที่ประชุมจะพูดคุยเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายนิกร  จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ โดยส่งแบบสอบถามเกี่ยวกับการทำประชามติ  มาให้สมาชิกวุฒิสภาแสดงความคิดเห็น  ซึ่งก็ถือว่าเป็นอิสระที่จะให้สมาชิกได้ตอบแบบสอบถาม  โดยไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด โดยเงื่อนไขของกฎหมาย การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก  คือ 1. ต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ว่าในการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องสอบถามประชาชน  ซึ่งตามกฎหมายต้องทำอีกอย่างน้อย

2.หลังครั้งแรกผ่าน  ครั้งที่สองจะเกิดขึ้น ในการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256  ที่เปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อฉบับนี้แล้วเสร็จจะต้องมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง และการทำประชามติทั้ง 3  ครั้งตามที่กฎหมายกำหนด   จะต้องมีผู้ออกเสียงออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์  และผลของประชามติก็ต้องเกินกึ่งหนึ่งเช่นกัน 

โดยได้ยินมาว่ามี สส. บางพรรคเสนอให้แก้ไขกฎหมายการทำประชามติ   แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเนื่องจากยังไม่เคยใช้กฎหมายฉบับนี้เลยตั้งแต่ปี 2564   หากจะไปสรุปว่าทำแล้วไม่สำเร็จ เหตุผลไม่เพียงพอ  แต่หากจะแก้ไขต้องใช้ทั้งสองสภารวมกัน  ซึ่งวาระของ สว.ก็จะหมดแล้ว   ดังนั้นการจะทำประชามติให้ผ่านทั้งสามครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย    รวมทั้งการจะแก้ไขกฎหมายการทำประชามติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในคำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของสมาชิกวุฒิสภาเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส่งมาสอบถามสมาชิกวุฒิสภามีจำนวนสองหน้า  มีจำนวน 5 คำถาม  โดยคำถามแรกถามว่าเห็นสมควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่  2.ในกรณีที่เห็นว่าไม่สมควรจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ   เห็นสมควรแก้ไขเป็นรายมาตราหรือไม่  3.ในกรณีที่เห็นว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ   เห็นว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญมีปัญหาประการใดที่จำเป็นต้องแก้ไข

4. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ   เห็นว่าสมควรจัดตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด  หรือที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสัดส่วนด้วยวิธีการได้มาตามที่กรรมาธิการกำหนด

5. ในการจัดทำประชามติ  เห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติก่อนเริ่มดำเนินการใดใดในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   และเห็นด้วยหรือไม่ที่จะจัดให้มีการทำประชามติ  เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว   เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง   ก่อนนายกฯจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ