วันที่ 15 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภา ว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานกมธ. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ได้พิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันการรัฐประหารที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยเชิญ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ในฐานะผู้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการรัฐประหารเข้าชี้แจง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงหนึ่งของการพิจารณา นายปริญญา นำเสนอผลงานวิจัยตอนหนึ่งว่า ต้องถอนพิษรัฐประหาร ผ่านการรวบรวบคำสั่งหรือประกาศจากคณะปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีอยู่ 62 ฉบับ ที่ไม่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ดังนั้นสามารถรวบรวมและเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยกเลิกทั้งหมด
ทั้งนี้มีตัวอย่างจากการประกาศของคณะปฏิวัติ เมื่อปี 2519 ที่แก้ไขโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถูกแก้ไขในเรื่องโทษโดยคณะปฏิวัติ ปี 2519 จากเดิมที่กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี แต่ไม่กำหนดขั้นต่ำ ซึ่งศาลสามารถพิพากษาโทษขั้นต่ำได้ 1 สัปดาห์ เป็นต้น ทั้งนี้เหตุผลที่ต้องเพิ่มโทษดังกล่าวเพราะเป็นการใช้ข้อมูลที่บิดเบือนจากการทำกิจกรรมของนักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ต.ค.2519 ที่ถูกมองว่าพาดพิงสถาบันเบื้องสูง ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นกรณีดังกล่าวการใช้อำนาจของคณะปฏิวัติจึงเป็นการกระทำข้างเดียว ไม่ผ่านการรับฟังความเห็นใดๆ และมาจากการบิดเบือน ดังนั้นหากแก้ไขดังกล่าวจะทำให้คืนบทลงโทษเป็นเหมือนเดิม คือ จำคุกสูงสุด 7 ปี ไม่มีกำหนดขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ศาลจะพิจารณา
นายปริญญา กล่าวต่อว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าบรรดาคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติรัฐประหาร ตั้งแต่ปี 2514, 2519,2520,2534 และ 2549 ไม่ถูกรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 เพราะ มาตรา 279 ที่รับรองการกระทำของคสช. นั้นคุ้มครองเฉพาะที่เกิดขึ้นในปี 2557 เท่านั้นแต่ไม่ครอบคลุมย้อนหลัง ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือ ต้องทำให้ศาลเปลี่ยนบรรทัดฐาน และต้องทำก่อนจะเกิดการรัฐประหารครั้งถัดไป
นายปริญญา กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นต้องใช้กลไกของสัญญาประชาคมเข้าร่วม คือ ให้ทหารเข้าร่วมทำสัญญาประชาคมว่าจะไม่ปฏิวัติ รวมถึงให้ฟื้นคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนของผู้นำเหล่าทัพที่ต้องรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ ซึ่งไม่เฉพาะอดีตนายกรัฐมนตรีจะไม่กล่าวถ้อยคำดังล่าวเท่านั้น แต่ผู้นำเหล่าทัพไม่กล่าวประโยคดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาของ กมธ.นั้นนายพริษฐ์ ได้ตั้งคำถามถึงวิธีปฏิบัติที่จะนำไปสู่การยกเลิกคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติที่ไม่ถูกรับรองตามรัฐธรรมนูญจะทำได้อย่างไร และกรณีการใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎรจะทำได้หรือไม่ ซึ่งนายปริญญา กล่าวว่า ในการปฏิบัติต้องมีคนที่นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อเปลี่ยนบรรทัดฐานของศาลที่คำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติที่ไม่ถูกรับรองตามกฎหมาย และส่งสัญญาณถึงกองทัพว่าศาลเปลี่ยนบรรดทัดฐาน แล้ว จะยึดอำนาจไม่ได้แล้ว โดยใช้ประเด็นประกาศต่างๆ ที่ไม่ถูกรับรองเป็นกฎหมายขัดกับ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฐานะกฎหมายสูงสุด ทั้งนี้ตนมองว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะทำเพราะลูกตุ้มทางการเมืองอยู่ทางฝั่งประชาธิปไตย
"ต้นตอของการรัฐประหารที่ผ่านมา เพราะสถานการณ์การเมืองพาไปสู่ทางตันจากการนำพาไปสู่จุดดังกล่าว ทั้งนี้ผมมองว่าก่อนจะถึงจุดที่นำไปสู่ทางตันเราสามารถรับทราบได้ก่อน จึงเป็นประเด็นที่จะป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารได้ ทั้งนี้ฝ่ายตุลาการคือหัวใจสำคัญ ส่วนอื่นๆ เป็นส่วนเสริม แม้จะเปลี่ยนใจทุกคนไม่ได้ แต่ขอสักคดีเพื่อให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ ทั้งนี้ในแนวทางที่จะเป็นทางออก คือเข้าพบประธานศาลฎีกา หรือ ผบ.ทบ. เพื่อพูดคุยในทางปิดเพื่อหาทางออกร่วมกัน" นายปริญญา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการประชุม นายพริษฐ์ กล่าวว่า ต้องเตรียมข้อมูลกับคดีที่ค้างอยู่ เพื่อนำเรื่องขึ้นไปสู่ศาล รวมถึงการแก้ไข มาตรา 279 ของรัฐธรรมนูญและเสนอร่างพ.ร.บ.เพื่อยกเลิกคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิวัติ หากจะเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งคณะปฏิวัติหรือการแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากให้ประชาชนเข้าชื่อกัน มีทางที่เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้กองทัพเข้าชื่อเพื่อให้เขาประกาศว่าพร้อมเป็นกองทัพที่ไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง