วันที่ 15 ต.ค.67  ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ "ดร.นิว" นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas โพสต์เฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ระบุข้อความว่า...

การเซ็นรัฐประหารเป็นเพียงวาทกรรมใส่ร้าย ร.9 

ในหลวง ร.9 โดนบิดเบือนให้ร้ายมากที่สุดในข้อกล่าวหาเซ็นรัฐประหาร ทั้งๆ ที่การเซ็นรัฐประหารเป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น ไม่ได้มีอยู่จริง แต่กลับถูกปั่นกระแสบิดเบือนทางโซเชียลมีเดีย ผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้ท่องตามๆ กัน ไม่ต่างจากนกแก้วนกขุนทอง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ปราศจากความรู้และความเข้าใจในความจริง 

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมของพระมหากษัตริย์ได้ผ่องถ่ายมาสู่ประชาชน พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจึงมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มิได้มีพระราชอำนาจอันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงไม่ได้มีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งการรัฐประหารได้ 

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ต่างจากพ่อที่ได้ยกมรดกหรือกิจการให้ลูกๆ ไปแบ่งปันดูแลเกือบหมด จนเป็นหน้าที่ของลูกๆ ในการบริหารจัดการกันเอง พ่อจึงเป็นได้เพียงแค่ที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงที่มีความเป็นกลาง คอยเฝ้ามองดูอยู่ห่างๆ สามารถแนะนำ ให้กำลังใจ และตักเตือนได้เท่านั้น แต่ไม่อาจแทรกแซงได้ 

การรัฐประหารแต่ละครั้งคล้ายกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ของคณะราษฎรที่ไม่ได้สร้างประชาธิปไตย ไม่ได้ทำอำนาจอธิปไตยให้เป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง หากแต่เป็นการยึดอำนาจที่พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานให้กับประชาชนมาเป็นของคณะราษฎรเสียเอง แล้วก็ไม่เคยที่จะส่งอำนาจนั้นถึงมือประชาชน 

เมื่อการเซ็นรัฐประหารไม่ได้มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีอยู่จริง คือ การนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร ซึ่งการรัฐประหารเหมือนกับการที่ลูกๆ ทะเลาะกัน ส่วนการนิรโทษกรรมก็คล้ายกับการที่ลูกฝ่ายซึ่งได้ดูแลกิจการขอโทษพ่อที่ลูกๆ ทะเลาะกัน โดยต้องยอมรับว่าการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหารเป็นวัฒนธรรมที่คณะราษฎรริเริ่มขึ้น 

การที่ในหลวง ร.9 ไม่ได้ทรงยุ่งเกี่ยวกับการรัฐประหารถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด อีกทั้งยังเป็นไปด้วยความรักที่มีต่อประชาชนอย่างลึกซึ้ง เพราะถ้าหากในหลวงทรงแทรกแซงด้วยการไม่ยอมรับการรัฐประหาร ก็เท่ากับปลุกให้ประชาชนลุกฮือ อันเป็นเหตุให้เกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายรัฐประหารกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร 

นอกจากนี้ การที่ในหลวง ร.9 ทรงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการรัฐประหาร จึงเหมือนกับการที่ในหลวง ร.7 ทรงตัดสินพระทัยไม่ต่อสู้กับคณะราษฎร ในหลวงทุกพระองค์ล้วนรักประชาชนอย่างแท้จริง ในหลวงต่างจากนักการเมืองที่ความรักของในหลวงไม่ได้หวังผลตอบแทน และไม่ได้ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือเฉกเช่นนักการเมือง แต่ทรงรักประชาชนเหมือนดั่งลูก 

ดร.ศุภณัฐ
14 ตุลาคม พ.ศ. 2567
#ประชาธิปไตยTheseries by ดร.ศุภณัฐ