แพทองธารเผยไม่ได้ละเลยตอบกระทู้ฝ่ายค้านในสภา บอกส่งรองนายกฯ-รมต.ตอบแทนตรงกว่า ด้าน "ภูมิธรรม" ชม "ประยุทธ์" ฟังเสียงค้าน ยอมถอนร่างกฎหมายสกัดรัฐประหาร ประเสริฐมั่นใจเพื่อไทยไม่โดนรัฐประหารรอบ 3 ชี้โลกเปลี่ยนไปแล้ว ขณะที่ปกรณ์วุฒิยืนยัน ปชน.พร้อมยกมือหนุนกม.สกัดรัฐประหาร เชื่อเป็นจุดเริ่มต้นปฏิรูปกองทัพ
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ถึงข้อเรียกร้องของพรรคประชาชน(ปชน.) ที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีเข้าสภาเพื่อตอบกระทู้ หลังสภาเปิดสมัยประชุม 12 ธ.ค.นี้ ว่า จริงๆ ตนมีแพลนจะไปตอบอยู่แล้ว ก็อยากไป แต่การทำงานของตนในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็กระจายหน้าที่ให้กับรองนายกรัฐมนตรีช่วยกันทำ เพราะฉะนั้นการตอบกระทู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในส่วนที่รับผิดชอบเรื่องนั้นๆ โดยตรง ก็คิดว่าให้ไปตอบกระทู้ก็น่าจะตรงกว่า และให้รายละเอียดในเชิงลึก ได้มากกว่า แต่ว่าแน่นอน ก็มีการเข้าไปอยู่แล้ว ไม่ได้ละเลยงานสภาอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องเป็นกระทู้ลักษณะใดที่นายกรัฐมนตรีจะเลือกเข้าไปตอบด้วยตนเอง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า จริงๆ ก็ลองดูอนาคตว่าเลือกที่ได้หรือเวลาที่เหมาะสม แต่วันที่ 12 ธ.ค. ไม่เหมาะสม ในเรื่องของเวลาจริงๆ เพราะทราบอยู่แล้ว วันดังกล่าวมีการแถลงผลงาน ซึ่งวางแผนมานานแล้ว มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากมาร่วมรับฟัง
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ ซึ่งจะเข้าที่ประชุมพรรคเพื่อไทยพรุ่งนี้ ว่า เรื่องนี้อยู่ในระยะเวลาที่ให้คนแสดงความเห็น มีหลายท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคนบางกลุ่มก็มาพูดรายละเอียดข้อหนึ่ง ถ้าตนจำได้ คือการแต่งตั้งนายทหารระดับสูง นายพลทั้งหลายต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งตำรวจยังไม่ให้ผ่านเลย ทำไมผ่านเฉพาะทหาร จะทำให้เกิดความลักลั่นในการปฏิบัติ จะมีการโต้แย้งได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้พูดคุยกับนายประยุทธ์และนายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมฝ่ายกฎหมายของพรรค
สมาชิกหลายท่านก็มีความเห็นว่าอาจจะให้ท่านถอนมาปรับปรุง มันมีหลายข้อก็ปรับปรุงบางข้อ เป็นเรื่องปกติในการเสนอกฎหมาย ไม่ได้มีปัญหาอะไร เสนอเข้าไปมีคนติงเยอะ ก็จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือถอยออกมานิดหนึ่ง ก็ไม่เป็นไร ทราบว่าท่านรมว.กลาโหมได้ส่งเรื่องกลับไปให้สภากลาโหมพิจารณาใหม่ เข้ามาจะได้สอดคล้องกันบางเรื่อง จะได้ไปด้วยกันได้ ไม่มีอะไรสุดโต่งและไม่ได้มีปัญหาที่ต้องกังวลว่าถ้าหากจะต้องมาปฏิวัติอะไรอีก นายวิสุทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ได้เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลขย่มพรรคเพื่อไทยอยู่ใช่หรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า พรรคการเมืองจะให้พูดเป็นเสียงเดียวกันทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ในระบอบประชาธิปไตย เห็นต่างเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่ในพรรคเพื่อไทยเอง บางทีที่ประชุมเราพูด ก็มีคนเห็นต่าง แต่ที่สุดท้ายมติพรรคเป็นอย่างไร เราก็เอาแบบนั้น อาจจะมีบางท่านไม่สบายใจก็ไม่เป็นไร เราจะไปบังคับให้พรรคอื่นเห็นด้วยทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ก็มีบางอย่างที่เห็นตรงกัน แต่อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติบ้านเมือง เราพร้อมที่จะทำ อย่าง พ.ร.บ.กลาโหม พูดกันว่าทุกสมัย ทางสภากลาโหมก็อยากแก้ไขแต่อันไหนที่มันมากไป รัฐมนตรีเขาก็ยังไม่เอาผ่าน ครม.มา ซึ่งตนทราบว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ส่งกลับไปแล้วให้พิจารณาใหม่ ก็ขอให้รออีกนิดหนึ่ง บางพรรคการเมืองอาจจะยังไม่เห็นร่างของพรรคเพื่อไทยก็เลยไม่สบายใจ แต่ต้องมาพูดจากัน เพราะเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน
เมื่อถามว่า ประเด็นนี้มีคนไปขุดเรื่องการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย ที่เคยรณรงค์ต่อต้านรัฐประหาร นายวิสุทธิ์ ย้อนทันทีว่า พรรคการเมืองไหนก็ต่อต้านรัฐประหาร ไม่มีใครเอาด้วย ไม่มีใครอยากให้มีรัฐประหาร วันนี้ก็เป็นนโยบายของนักการเมืองทั้งหลาย บ้านเมืองมันไปไกลแล้ว เราจะกลับมาอยู่แบบ 20 ปีก่อน ก็คงไม่ใช่ และใครก็อย่าสร้างปัญหาให้ประเทศชาติ เกิดชุมนุมทางการเมืองใหญ่โต สร้างความเดือดร้อนบาดเจ็บล้มตาย ไม่อย่างนั้นทหารก็คงต้องออกมา เพราะฉะนั้น อย่าไปจุดประเด็นให้เกิดปัญหาอีก วันนี้มีปัญหาอะไรขอให้มาคุยกันที่สภา พรรคไหนไม่พอใจก็มาคุยกันที่สภา ยื่นญัตติยื่นกระทู้ได้ทุกอย่าง สภาเป็นทางออกของทุกพรรคการเมือง ไม่จำเป็นต้องใช้อะไรรุนแรงแบบในอดีต ต่อไปนี้คนไทยต้องคิดไปถึงวันพรุ่งนี้ อนาคตของประเทศชาติต่อไปอย่างไร
เมื่อถามว่า ร่างของนายประยุทธ์ที่รับฟังความคิดเห็น ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ใช่ ตนเข้าใจ แต่มีบางประเด็นที่คุณถามไง บางพรรคการเมืองบางประเด็นเขาไม่เห็นด้วย เราก็อาจจะต้องดึงกลับมาพิจารณาใหม่ ก็ปรับปรุงเพื่อให้มันไปในทางเดียวกัน จะได้ไม่มีปัญหาไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งหรือขัดแย้งอะไร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายประยุทธ์ถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ร่างที่ถอนออกไปเป็นร่างส่วนตัวของนายประยุทธ์ ต้องดูว่าจะปรับอย่างไร ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย เพราะยังไม่ได้เข้าที่ประชุม ส.ส. รวมถึงที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย แต่ถือเป็นเรื่องดีที่นายประยุทธ์รับฟังเสียงแล้วนำไปปรับแก้ คิดว่าเรื่องนี้เราทำเพื่อแก้ปัญหาก็ควรให้แต่ละฝ่ายได้ช่วยกันพิจารณา เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการของประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เห็นร่างของกระทรวงกลาโหมเรื่องเค้าโครงการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีสกัดการปฏิวัติ โดยให้อำนาจ รมว.กลาโหมพิจารณาว่าจะเอาหรือไม่เอาหรือยัง นายภูมิธรรม กล่าวว่า เห็นร่างแล้ว เป็นร่างที่ นายสุทิน คลังแสง อดีต รมว.กลาโหม เสนอไว้ ตนได้ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรอง รมช.กลาโหม ก็ได้รับเรื่องกลับไปทบทวน ตนได้บอกว่าให้นำกลับเข้ามาเร็วที่สุดเพื่อที่จะได้ประกบร่างกับของฝ่ายค้านที่ยื่นไว้แล้ว ทุกอย่างให้รอความเหมาะสม เมื่อถามย้ำว่า ส่วนตัวเห็นด้วยหรือไม่กับการให้อำนาจนายกญ สกัดการรัฐประหาร นายภูมิธรรม กล่าวว่า ขอเอาข้อสังเกตของทุกฝ่ายไปดูเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดดีกว่า
เมื่อถามว่า การป้องกันรัฐประหารใช้แค่กฎหมายเพียงพอหรือไม่ หรือต้องพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองของไทย นายภูมิธรรม กล่าวว่า กฎหมายการป้องกันรัฐประหารมีอยู่แล้ว รัฐธรรมนูญบอกไปแล้วว่าการทำรัฐประหารเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและเป็นกบฏ แต่ในความเหมาะสมและความเป็นจริงควรเป็นเรื่องที่ให้ทุกฝ่ายเห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่จะช่วยระงับการรัฐประหาร เช่น การสร้างวัฒนธรรมในการยอมรับระบอบประชาธิปไตย และบรรยากาศขณะนี้ทุกฝ่ายคุยกันได้หมดไม่มีปัญหาอะไร กับพรรคร่วมก็ไม่มีปัญหา ตนคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่ใช่เรื่องที่มีการตัดสินใจอะไร และยังไม่ใช่เรื่องที่มีความขัดแย้งจนเป็นปัญหาเพียงแต่เป็นความเห็น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค้างคาในสังคมมานานแล้ว
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวถึงกรณีที่นายประยุทธ์ยอมถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ซึ่งทำให้พรรคเพื่อไทยเจอกระแสตีกลับว่ายอมมากเกินไป ว่า ที่จริง กระบวนการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรนั้น ส.ส.เข้าชื่อกันและสามารถเสนอได้อยู่แล้ว แต่ต้องผ่านกระบวนการของพรรคเพื่อไทยด้วย ซึ่งตนเข้าใจว่านายประยุทธ์ได้กลับไปทบทวนและรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ การเสนอร่างกฎหมายจะต้องไปชี้แจงในที่ประชุมพรรคให้รับทราบถึงความสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับ และสาระสำคัญของร่างกฎหมาย แต่รอบนี้อยู่ระหว่างปิดสมัยประชุมสภาฯ จึงไม่มีการประชุมพรรค และตามปกติการเสนอร่างกฎหมายจะต้องผ่านคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เป็นคนกลั่นกรองและนำเสนอตามกระบวนการขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่าจะมีการทำรัฐประหารจริงหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่ามี เมื่อถามอีกว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่โดนยึดอำนาจก่อการรัฐประหารเป็นครั้งที่ 3 หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่าถ้าวันนี้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าสังคมโลกเปลี่ยนไปหมดแล้ว เรื่องการปฏิวัติรัฐประหารไม่ควรเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม ส่วนการออกกฎหมายดังกล่าว จะสามารถสกัดรัฐประหารได้จริงหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ วันนี้ประเทศบอบช้ำมามากจากหลายๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีก ก็อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักและใช้สติในการทำเรื่องต่างๆ
ด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงจุดยืนของฝ่ายค้านต่อร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า พรรคประชาชน ตั้งแต่เป็นพรรคก้าวไกลก็มีชุดกฎหมายชุดแรกที่ได้ยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่เดือนก.ค.66 แต่เพิ่งได้พิจารณาเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่คณะรัฐมนตรีได้ขอนำกลับไปพิจารณา 60 วัน ก่อนคืนกลับมายังสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดสมัยประชุม จึงมีการขยับเคลื่อนไหวของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทยที่จะมีการยื่นร่างกฎหมายมาประกบอีกฉบับ ซึ่งเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลไม่ดำเนินการก็เป็นไปได้อาจจะไม่มีพรรคการเมืองใดเริ่มดำเนินการเรื่องนี้ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงยืนยันว่าพรรคก้าวไกลในฐานะผู้เสนอกฎหมาย พรรคจึงสนับสนุนอยู่แล้ว และร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทยที่นำเสนอโดยนายประยุทธ์ถือว่ามีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับของพรรคประชาชน แต่แตกต่างกันในรายเอียด และพรรคประชาชน เห็นด้วยกับทั้งร่างกฎหมายของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทยดังกล่าวอยู่แล้วแน่นอน และเชื่อว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปกองทัพที่หลายพรรคเคยหาเสียงไว้
ส่วนข้อโต้แย้งกรณีการป้องกันการรัฐประหารจะไม่เกิดประโยชน์ เพราะสุดท้ายคณะรัฐประหารในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ก็สามารถฉีกกฎหมายใดๆ ได้อยู่แล้วนั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า หลักการของร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้เป็นการป้องกันรัฐประหารโดยตรง แต่เป็นการทำให้กองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน และการแก้ไขก็สามารถลองดูก่อนได้ เพื่อเป็นช่องทางในการป้องกัน เช่น ปัจจุบันหากจะมีการรัฐประหาร ก็ไม่สามารถมีใครห้ามได้ แต่เหตุใดจึงไม่ลองปรับแก้ เพื่อให้อำนาจประชาชน สามารถต่อต้านอำนาจนอกระบบได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่สภาสามารถยับยั้งกฎอัยการศึกได้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ที่หาเสียงในการเลือกตั้งด้วยนโยบายปฏิรูปกองทัพด้วยดังกล่าว แต่พรรคเพื่อไทยเองก็หาเสียงเรื่องการปฏิรูปกองทัพด้วย จึงไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะยังคงมีจุดยืนดังกล่าวอยู่หรือไม่ เพราะ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าจะมีโอกาสสำเร็จยาก และไม่จำเป็น เพราะไม่สามารถแก้ไขได้จริง
จึงขอถามนายณัฐวุฒิด้วยว่าหากเชื่อว่าจะไม่สามารถสำเร็จและแก้ไขได้จริงแล้วพรรคเพื่อไทยจะหาเสียงด้วยนโยบายดังกล่าวทำไม และโอกาสการผลักดันร่างกฎหมายให้สำเร็จนั้น จะยากได้อย่างไร เพราะเสียงในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งเสียงของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน ถือเป็นเสียงข้างมากแน่นอน หรือยังเป็นเพราะมีอำนาจอื่น ๆ หรือพรรคอื่น ๆ กดพรรคเพื่อไทยอยู่ ก็สามารถบอกกันตรง ๆ ได้ว่า ประเมินจากปัจจัยใด
ส่วนกรณีการถอนร่างกฎหมายจะเป็นเพราะเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หรือไม่นั้น นายปกรณ์วุฒิ เห็นว่า หากย้อนกลับไปที่การเลือกตั้ง ที่มีการนำนโยบายนำเสนอกับประชาชน เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง ก็ควรมองย้อนกลับไปดูตัวเองในตอนนั้นว่าเคยพูดอะไรไว้ ก็คงตัดสินใจได้ไม่ยาก จึงขอให้พรรคเพื่อไทยกลับไปพิจารณาว่า จะกลับไปทำตามแนวทางพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง ประชาชนจะตัดสินอย่างไร และการให้เหตุผลแต่ละอย่าง หากนำกลับไปเปรียบเทียบกับการปราศรัย ก็ไม่ได้สอดคล้องกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินว