เลขาฯเพื่อไทย" เผยพรรคพร้อมยื่นร่างพรบ.นิรโทษกรรมประกบฉบับก้าวไกล" เสนอตั้งกมธ.วิสามัญฯ ถกตกผลึกก่อนยื่นเข้าสภาฯ "อนุดิษฐ์" ยกเคสคดี"ทักษิณ" นิติธรรมบิดเบือน หนุนใช้กฎหมายนิรโทษฯ แก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง สร้างความปรองดอง ทวีบอกทักษิณนอน รพ. ต่อหรือไม่ เป็นเรื่องทีมแพทย์ ไม่ใช่อำนาจ รมว.ยธ. ระบุยังไม่ขอพระราชทานอภัยโทษรอบสอง
ที่โรงแรมเดอะกรีนเนอร์รี รีสอร์ท เขาใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.66 นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการยื่นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ว่า พรรคมีความพร้อมอยู่แล้วที่จะยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประกบกับพรรคก้าวไกล แต่พรรคเพื่อไทย ได้พูดคุยกันว่าควรพูดคุยที่ประชุมวงเล็กก่อนมีการเสนอกฎหมาย โดยเสนอตั้งเป็นตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญขึ้นมาเพื่อพูดคุยเรื่องดังกล่าวให้ตกผลึกก่อน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ.ที่ว่าจะเสนอก่อนยื่นกฎหมายหรือรอให้มีการยื่นกฎหมายก่อนเหมือนกระบวนการปกติ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าหากมีการเสนอญัตติขึ้นมาก็สามารถตั้งกมธ.ก่อนได้เลย เพราะถ้ารอให้มีการยื่นกฎหมายก่อน ก็ไม่แน่ใจว่าประธานสภาฯ จะบรรจุเมื่อไหร่ทันสมัยประชุมหน้าหรือไม่ หากตั้งกมธ.ขึ้นมาก่อน เราจะกำหนดได้ว่าจะใช้เวลาศึกษาเรื่องนี้เท่าไหร่จึงจะได้มีความชัดเจน
เมื่อถามถึงจุดยืนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะรวมถึงผู้กระทำผิดเกี่ยวกับมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีความกระทบกับบุคคลหลายกลุ่ม และเราผ่านผู้ชุมนุมมาแล้วหลายคณะ ซึ่งมีทั้งผู้สูญเสีย ผู้ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ส่วนในเรื่อง ม.112 นั้น อาจจะมีหลายคนที่ไม่ได้กระทำความผิดโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ จึงอยากให้มีการศึกษาเรื่องเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมที่หลายพรรคพูดถึง และคาดว่าจะถูกหยิบยกมาพูดคุยในสมัยประชุมที่กำลังจะถึงนี้ ว่า การเข้าไปรับโทษตามคำพิพากษาในเรือนจำ เป็นกระบวนการลงโทษผู้กระทำความผิดตามหลักการสากล แต่กรณีนี้คงต้องยกเว้นผู้ที่ถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม โดยเฉพาะนักโทษการเมือง
ทั้งนี้ การแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 ให้ความสำคัญกับการสร้างความสามัคคีปรองดอง มีนโยบายที่จะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง อันเป็นการยอมรับว่าที่ผ่านมาสังคมไทยยังอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง และมิได้ปกครองด้วยหลักนิติธรรม แต่หลักการนี้กลับถูกบิดเบือนจากฝ่ายที่มีอำนาจในอดีต เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเป็นองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เลือกคู่ขัดแย้งของผู้ถูกกล่าวหามาเป็นคณะทำงาน มีเจตนาเพื่อจัดการกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะโดยเฉพาะ
ล่าสุดคือการแก้ไขหลักเกณฑ์การได้รับพระราชทานอภัยโทษอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้นักโทษอื่นๆ ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย โดยมีเจตนาเพียงเพื่อไม่ให้ นายทักษิณ กลับเข้ามาในประเทศ หรือหากจะกลับก็ต้องยอมรับโทษตามคำพิพากษา จึงเชื่อได้ว่าการกลับมาของ นายทักษิณ เป็นการจำยอมถูกลงโทษเพื่อจะได้กลับเข้ามาอยู่กับครอบครัว มากกว่าเต็มใจยอมรับการลงโทษโดยดุษณี
น.อ.อนุดิษฐ์ เผยต่อว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวคิดของหลายพรรคการเมืองที่จะใช้กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดองให้กับสังคมไทย แต่เห็นเพิ่มเติมว่า การนิรโทษกรรมควรครอบคลุมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกระบวนการทางกฎหมายที่มิได้อยู่บนหลักนิติธรรมด้วย ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรเร่งดำเนินการตามนโยบาย ด้วยการแก้ไขกระบวนการทางกฎหมายที่ตราขึ้นโดยขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักความยุติธรรมอาญา พร้อมทั้งคืนความถูกต้องชอบธรรมให้กับฝ่ายที่ถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เพื่อไม่ให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยกฎหมาย (Rule by Law) แต่ไม่ได้อยู่บนหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งขัดกับหลักการอำนวยความยุติธรรมสากลที่ทั่วโลกเขาใช้กัน
ที่รัฐสภา นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการมองรัฐสภา เกี่ยวกับการการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ความยากของการประชามติคือ ต้องได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ และ ผู้มาออกเสียงเห็นชอบ ดังนั้นจึงไม่ง่าย และอาจจะไม่ผ่าน แต่หากมีคำถามพ่วง เช่น ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ต้องระวัง เพราะอาจจะมีคนที่ไม่เห็นด้วย ไม่ออกมาใช้สิทธิ หากไม่มีคำถามพ่วงประเด็นดังกล่าว ก็จะเกิดการรณรงค์ให้คนไม่ออกไปใช้สิทธิ ดังนั้นสิ่งที่กำลังคิด คือ การคิดมากด้วยกันทั้งสิ้น คิดไปคิดมา คิดเชิงซับซ้อน ตนมองว่าอาจจะไม่ได้แก้ไข
ต้องเอาเสี้ยนตรงนี้ออกไปก่อน หากจะคิดถึงชนวนปัญหาที่ทำให้คิดมาก อาจจะคิดแล้วก็ยังอยู่ที่เดิม ดังนั้นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ หากคิดในเชิงซับซ้อน ต้องทำประชามติอย่างไร ผมมองว่าหากไม่แก้มาตรา 256 ให้เป็นปกติ ประเทศนี้ไปไม่ได้ ชีวิตของประชาชนที่เกี่ยวข้องไปไม่ได้ ดังนั้นควรเสนอว่าควรแก้ มาตรา256 ให้เป็นปกติ ที่เหลือทำอะไรก็ได้หมด" นายโภคิน กล่าว
ด้าน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมองประเด็นการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั้นควรทำ 2 ครั้งตามกติกา แต่ขณะนี้ยอมรับว่ามีผู้ที่เห็นต่างและมองว่าควรทำประชามติ 3 ครั้งซึ่งเป็นเหตุผลทางการเมืองและอาจจะทำให้การเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมมนูญต่อรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงเสนอว่า หากจะทำประชามติในครั้งแรก ควรทำ 1 คำถามหลักและมี 2 คำถามพ่วง โดยคำถามหลักต้องเป็นอย่างกว้าง เช่น เห็นชอบหรือไม่ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ส่วนคำถามพ่วง 2 คำถามนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาความเห็นต่าง คือ ประเด็น ส.ส.ร. ว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะมี ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และ ประเด็นการไม่แก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ หมวด 2
"ผมเชื่อว่าเมื่อผลประชามติที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร จะทำให้เกิดการยอมรับ และการปฏิบัติตามของสมาชิกรัฐสภา เช่น กรณีที่ประชามติระบุว่าไม่แก้ไขปรับปรุงหมวด 1 และ หมวด 2 พรรคก้าวไกลพร้อมจะเดินตามมติของประชามติดังกล่าว
นายพริษฐ์ ยังกล่าวสนับสนุนการแก้ไขพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ว่าด้วยเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่กำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ และเสียงที่จะได้รับความเห็นชอบ เพราะกังวลว่า ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ประชามติผ่านจะได้เปรียบเพราะไม่ต้องออกมารณรงค์ใดๆ
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองเลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า กรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติของรัฐบาลเตรียมจะสรุปและเสนอให้รัฐบาลพิจารณาในช่วงต้นปี 2567 อย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่มีประเด็นการแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ กรรมการเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข แต่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา
ส่วนกรณีที่มีข้อวิจารณ์ว่ารัฐบาลพยายามยื้อกลไกประชามติหรือไม่ ตนขอชี้แจงว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเกิดข้อถกเถียงในสังคมจำนวนมาก เช่น ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอของพรรคก้าวไกลแต่ระยะหลังได้เปลี่ยนแปลงตามเสียงสะท้อน และแม้พรรคก้าวไกลจะไม่ตอบรับเข้าร่วมเป็นกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาล แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับจูน แสดงให้เห็นว่าเกิดการผสานปรับความร่วมมือเข้าหากัน
"ผมเชื่อว่าสุดท้ายจะสอดคล้องและการทำประชามติจะเห็นพ้องจากทั้งผู้สนับสนุนรัฐบาล และฝ่ายค้าน ขอให้มั่นใจการทำงานของรัฐบาล ไม่ได้เตะถ่วง ใช้เวลาเท่าที่จำเป็น และคำนึงถึงการใช้งบประมาณของรัฐที่ไม่เปล่าประโยชน์ ซึ่งหวังว่าจะเกิดกระบวนการขับเคลื่อนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ" นายชนินทร์ กล่าว
ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยกรณี นายทักษิณ ชินวัตร นอนพักรักษาตัว รพ.ตำรวจ จะครบ 120 วัน ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ว่า ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เขียนว่าเป็นอำนาจของอธิบดีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรให้รมว.ยุติธรรมรับทราบ แต่ไม่ให้รมว. ยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงงานกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นดุลยพินิจของคณะแพทย์ รพ.ตำรวจ และแพทย์จากราชทัณฑ์ ที่รายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม และเสนอมายังรมว.ยุติธรรม แต่ไม่ใช่อำนาจ รมว.ยุติธรรมพิจารณาจะนอนรักษาตัวต่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการรักษาเป็นหลัก ส่วนการขออภัยโทษรอบสองนายทักษิณ ทราบว่ายังไม่มี
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ระเบียบคุมขังสถานที่อื่นนอกเรือนจำ ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบ ซึ่งเป็นเรื่องภายในและอำนาจหน้าที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แต่ตามหลักการเนื่องจากมีผู้ต้องขังล้นคุก ต้องแก้ปัญหาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม.29 การกล่าวหาใครจะกระทำผิดต้องให้ศาลตัดสินแล้ว แต่ในระหว่างยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ต้องไม่ปฏิบัติต่อผู้นั้นเหมือนผู้กระทำผิดไม่ได้ ดังนั้นต้องออกกฎกระทรวงในเรื่อง ผู้ต้องขังระหว่างศาลยังไม่ตัดสินถึงที่สุด เป็นดุลยพินิจของศาลที่อาจไม่ต้องนำคนนั้นๆ เข้าสู่เรือนจำก็ได้ ถ้าสามารถทำได้ก็จะลดผู้ต้องขังได้เกือบ 3 หมื่นราย ส่วนนายทักษิณเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดไม่เข้าเงื่อนไข