เฉลิมชัย" เผย "สตง." ตั้งคณะทำงานศึกษาแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตขู่ขนาน"ปปช." ด้าน"จุรินทร์" ซัดรัฐบาลแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท กลืนน้ำลายตัวเอง ไหนบอกไม่กู้ เตือนระวังล้มละลายความน่าเชื่อถือ ชัยชนะ อัดซ้ำเข้าทำนอง กลับไม่ได้ ไปไม่ถึงเผยเตรียมหาทางลงโดยการออกพ.ร.บ. หวังโยนบาปส.ส.ที่ไม่เห็นด้วย
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.66 นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หนึ่งในคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมาธิการเมื่อเร็วๆ นี้ มีการเชิญตัวแทนจากสามองค์กรอิสระคือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มาร่วมประชุมกับกมธ.ที่มีการพิจารณาเรื่อง การดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยทางตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการว่าขณะนี้ทางผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อมาศึกษาเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลจะดำเนินการ
ทั้งนี้ สตง.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 245 ที่บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา ทำให้ตอนนี้ นอกจากสำนักงานป.ป.ช.ที่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว สตง.มีการตั้งเช่นกัน
ก็เตรียมลับมีดกันหมดแล้ว แต่ของสตง.เขาก็ต้องรอก่อนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร เพราะอย่างตอนหาเสียงเขาบอกว่า ดิจิทัลวอลเล็ต จะใช้งบประมาณจากพรบ.งบปี 2567 โดบบอกว่าจะมาจากแหล่งต่างๆเช่น ภาษีเก็บได้เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศจากสำนักงบประมาณ 260,000 ล้านบาท จะไปรีดไขมันจากงบส่วนเกินต่างๆ อีก 100,000 ล้านบาท ยกเลิกงบซ้ำซ้อน ประมาณ 90,000 ล้านบาท แต่ถึงตอนนี้ที่หาเสียงไว้ลืมหมดแล้ว นายกฯเคยไปให้สัมภาษณ์ออกทีวียืนยัน บอกจะไม่กู้ แต่ตอนนี้เศรษฐา ลืมหมดแล้ว
มีรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหน้าที่ศึกษาความเสี่ยงและผลกระทบจากการด าเนินนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีรายงานว่า คณะทำงานชุดดังกล่าวของสตง.ได้มีการศึกษากรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดเตรียมความพร้อมของข้อมูล แต่ยังไม่ได้มีการเข้าไปทำอะไรได้ เพราะต้องรอให้รัฐบาลประกาศความชัดเจนในการดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตออกมาก่อนโดยเฉพาะความชัดเจนเรื่องแหล่งที่มาของเงินและกระบวนการทำนโยบาย แต่ที่ผ่านมาคณะทำงานชุดดังกล่าวได้มีการติดตามข้อมูลโครงการดังกล่าวของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการประสานที่ปรึกษาจากภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์เพื่อขอให้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตด้วย
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการป.ป.ช.มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานกรรมการ และขณะนี้ สตง.ที่เป็นองค์กรอิสระอีกหน่วยงานหนึ่ง ก็มีการขยับเข้ามาติดตามตรวจสอบนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จึงทำให้ตอนนี้ สององค์กรอิสระคือ ป.ป.ช.และสตง.ได้เข้ามาติดตามมอนิเตอร์นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลแล้ว
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปแจกตามโครงการดิจิตอล วอลเล็ต ว่า นอกจากจะแจกไม่ตรงปกแล้ว ที่นายกฯ ยืนยันแข็งขันมาตลอดว่าจะไม่กู้ สุดท้ายก็กลับลำมากู้ ถึงขั้นเตรียมออก พ.ร.บ.เงินกู้ กลายเป็นกลืนน้ำลายตัวเอง และยังจะเป็นภาระหนี้ให้กับประเทศและประชาชนต่อไปในอนาคตอีกถึง 5 แสนล้านบาท เพียงเพื่อสนองนโยบายหาเสียง ซึ่งก็เหมือนกันกับเรื่องที่ออกมาตอกย้ำหลายรอบว่าจะฟื้นฟูหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง ถ้าไม่กลืนน้ำลายตัวเองก็คงไม่เกิดนักโทษ 2 มาตรฐาน
"ผมขอเตือนให้ระวัง เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการเดินไปสู่การล้มละลายทางความน่าเชื่อถือของรัฐบาล พูดอะไรออกไปต่อไปก็จะไม่มีใครเชื่อ"
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนพ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะผิดกฎหมายหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้าเกิดผิดกฎหมายขึ้นมา ก็จะมาอ้างเป็นเหตุโทษคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่รัฐบาลที่จะต้องหาช่องทางอื่นที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย มาถึงวันนี้ดิจิทัลวอลเล็ตจึงกำลังกลายเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่มุ่งแต่จะหาเสียงแบบประชานิยม ซึ่งหาก พ.ร.บ.นี้เข้าสภาฯได้ตนก็จะให้ความเห็นต่อไป
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่หลายฝ่ายมีการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ ว่า นโยบายดังกล่าว ถือเป็นการเทหน้าตักอีกเรื่องของพรรคเพื่อไทยในช่วงของการจัดตั้งรัฐบาล เพราะต้องการจะดันให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อหวังคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อๆไป โดยหวังว่าจะสามารถสร้างภาพจำให้กับประชาชนในเรื่องของประชานิยม ซึ่งตลอดมาถือว่าถ้านึกถึงพรรคเพื่อไทย ก็ต้องนึกถึงนโยบายทำนองนี้
รวมทั้ง ยังเป็นการทุ่มหมดหน้าตักทางด้านตัวบุคคล โดยนายเศรษฐาตั้งใจที่จะมาควบตำแหน่งรมว.คลังด้วยตนเอง มีการส่งขุนพลคู่ใจอย่าง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ มาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ และเอาข้าราชการประจำที่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจอย่าง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ มาเป็นมือไม้ โดยหวังเกลี้ยกล่อมให้ข้าราชการประจำคล้อยตามนโยบายดังกล่าว แต่ปรากฏว่ามาจนถึงวันนี้ ก็ไม่มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงแสดงท่าทีว่าจะสนับสนุนนโยบายนี้ รวมทั้ง เท่าที่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ก็ไม่มั่นใจว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เหมือนกับการนำเงินที่ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ มาใช้ดำเนินนโยบายโดยวัดดวงแบบไปตายเอาดาบหน้า และก็ได้สะท้อนกลับมาอย่างจริงจังว่า ขอเป็นเงินสดที่ใช้ได้จริง ณ วันนี้ ไม่ใช่เงินสกุลในอากาศที่เขาต้องรอกระบวนการต่างๆ มากมาย ซึ่งเชื่อว่า มีช่องทางในการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
ฉะนั้น ขณะนี้ตนเชื่อว่านโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น เข้าทำนองที่ว่า กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง เพราะก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทยก็โฆษณาหาเสียงว่า จะดำเนินนโยบายโดยไม่มีการกู้เงินมาอย่างแน่นอน แต่ปรากฏว่า สุดท้ายก็ต้องหาทางลงแบบไม่ให้เสียหน้ามาก โดยเปิดช่องให้มีการตราเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อที่ต้องการให้ ส.ส. ที่ไม่เห็นด้วย ลงมติไม่เห็นชอบ และหวังจะโยนบาปว่า ที่ทำนโยบายไม่ได้ เพราะ ส.ส. ที่ลงมติไม่เห็นชอบ จะได้มาเป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องความสงสารจากประชาชน
ดังนั้น ตนจึงอยากให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ควรนำเสียงจากประชาชนมาปรับปรุงนโยบายดังกล่าว ซึ่งถือว่า ยังมีเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางในการทำนโยบาย โดยยึดถือประโยชน์ที่ประชาชนจะได้เป็นสำคัญ มากกว่าจะดันทุรังเพื่อให้คนไม่กี่คนได้ประโยชน์บนความทุกข์ของประชาชนและลูกหลานในอนาคตด้วย
ผมเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยต้องการรักษาแนวทางประชานิยมที่ทำให้ตนเองได้คะแนนนิยมมาตลอดในการเลือกตั้ง และนโยบายนี้ถือเป็นการเทหมดหน้าตักของจริง ซึ่งผมเห็นว่า น่าจะเป็นเที่ยวสุดท้าย เพราะก่อนหน้านี้ เรื่องนโยบายจำนำข้าว ก็มีการดำเนินการไปจนสุดซอย แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏว่า ประเทศติดหนี้โครงการดังกล่าวมหาศาล จนต้องมีการตั้งงบประมาณเพื่อชดใช้เงินคงคลังมาตลอดหลายปี และเชื่อว่ารัฐบาลนี้ก็จะต้องตั้งงบประมาณชดใช้โครงการที่พรรคเพื่อไทยเอง เป็นผู้ก่ออีกด้วย ซึ่งนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ผมเกรงว่า หากดึงดันทำไปแล้ว จะส่งผลเสียต่อประเทศในระยะยาว เพราะไม่สามารถคาดเดาไว้ว่า อัตราเงินดิจิทัลจะมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่าใดในช่วงเวลาที่ดำเนินโครงการ ซึ่งมีความเสี่ยงมาก เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ต้องการอยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจของประชาชนจริงๆ ก็ต้องหานโยบายที่มีความเหมาะสม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีความสบายใจ และเต็มใจที่จะช่วยเหลือและเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จตามที่ผู้วางนโยบายคาดหวังเอาไว้ นายชัยชนะ กล่าว