เริ่มวมันนี้! "นายกฯแพทองธาร" kickoff โครงการ "ฟื้นฟูเศรษฐกิจ" ดึงรายใหญ่ช่วยรายเล็ก ลดค่าครองชีพ ต่อยอดเงินหมื่น กระตุ้นเศรษฐกิจ "คลัง" จัดชุดใหญ่มาตรการช่วยน้ำท่วมผ่านแบงก์รัฐ-เว้นภาษี-ปล่อยสินเชื่อ-งดค่าเช่าที่ดินธนารักษ์

 เมื่อวันที่ 15 ต.ค.67 นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 ต.ค.67) เวลา 10.00 น. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิด "โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ" ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ห้างค้าส่ง-ค้าปลีก และปั๊มน้ำมัน เป็นต้น ดึงคนตัวใหญ่มาช่วยคนตัวเล็กในประเทศ
 
ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดรายจ่ายให้ผู้ประกอบการรายเล็ก ลดค่าเช่าแผง/ร้านค้า ในพื้นที่หน่วยงานราชการและเอกชน ลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ และ จัดมหกรรมลดราคาสินค้า ต่อเนื่องตลอด 5 เดือนเต็ม โดยจัดกิจกรรมนำร่องตั้งแต่เดือน ก.ย. 67 จนถึงเดือน ม.ค.ปีหน้า
 
โดยนายกรัฐมนตรี จะมีการไลฟ์สดพูดคุยกับผู้ประกอบการ และถ่ายทอดบรรยากาศกิจกรรมฟื้นฟูจากสถานที่จริงในทุกภูมิภาค 5 แห่ง ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดลพบุรี จังหวัดอุดรธานี จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดเชียงราย ซึ่งโครงการนี้จะต่อยอดจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ได้โอนเงิน 10,000 บาท เข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในระบบไปแล้วกว่า 145,000 ล้านบาท ร่วมสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน ให้เศรษฐกิจไทยฟื้นฟูโดยเร็วต่อไป
 
วันเดียวกัน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยว่า นอกเหนือจากที่รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายครอบครัวละ 9,000 บาท และค่าล้างโคลนครัวเรือนละ 10,000 บาทแล้ว ในส่วนของกระทรวงการคลังจะมีมาตรการเพิ่มเติม ได้แก่
 
1.การยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาไม่ต้องนำเงินชดเชยมาคำนวณเสียภาษี นิติบุคคลไม่ต้องนำเงินชดเชยมาคำนวณเสียภาษี และยกเว้นภาษีอากรนำเข้าสิ่งของที่นำมาบริจาค

 2.กรมธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่า กรณีที่ได้รับความเสียหายบางส่วน ยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 1 ปี กรณีที่ได้รับความเสียหายทั้งหมด ยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 2 ปี กรณีเป็นเกษตรกร ยกเว้นค่าเช่า 1 ปี กรณีผู้ประกอบการที่ไม่สามารถประกอบกิจการได้ภายใน 3 วัน หรือเกินกว่า 3 เดือน ยกเว้นค่าเช่าโดยพิจารณาเป็นเดือน ๆ ไป กรณีจ่ายค่าเช่าล่าช้าไม่คิดเงินเพิ่ม
 
3.การปล่อยสินเชื่อ 3.1 ธนาคารออมสินมีวงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาทสำหรับเอสเอ็มอี โดยธนาคารพาณิชย์ 16 แห่งจะรับไปดำเนินการต่อในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3.5% ระยะเวลา 2 ปี รายละไม่เกิน 40 ล้านบาท พักเงินต้นไม่คิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 10 ล้านบาท ปรับลดอัตราชำระขึ้นต้นเหลือ 3% ในสามรอบบัญชีสำหรับบัตรเครดิต

 3.2 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขยายเวลาการชำระหนี้เป็น 20 ปี สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อปรับสภาพคล่องไม่เกิน 5 หมื่นบาท/ราย กู้ได้ไม่เกิน 3 ปี คิดดอกเบี้ย 0% ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRRสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิต ซ่อมแซมบ้านเรือน และเครื่องมือทางการเกษตรรายละ 5 แสนบาท คิดดอกเบี้ย MRR-2 ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 15 ปี
 
3.3 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ลดเงินงวดชำระลง 50% ลดดอกเบี้ยเหลือ 2.00% เป็นเวลา 6 เดือน ลูกค้า NPL ที่มีหลักประกันสามารถประนอมหนี้ ช่วง 1 ปี 6 เดือนแรก คิดดอกเบี้ย 0% สามารถผ่อนชำระได้ไม่เกินงวดละ 1,000 บาท หนี้ส่วนที่เหลือคิดดอกเบี้ย 1% สินเชื่อซ่อมบ้านวงเงิน 2 ล้านบาท/ราย ดอกเบี้ย 3 เดือนแรก 0% ส่วนที่เหลือดอกเบี้ย 2-6%
 
3.4 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พักหนี้เงินต้น ชำระเฉพาะอัตรากำไร 3.5 ธนาคารเอสเอ็มอี พักเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้อัตราคงที่ไม่เกิน 12 เดือน ขยายเวลาเงินกู้พี/เอ็นออกไปเป็นไม่เกิน 180 วัน ทุนฉุกเฉินฟื้นฟูกิจการเพิ่มอีก 10%
 
3.6 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ขยายเวลาเงินกู้พี/เอ็นออกไปเป็นไม่เกิน 180 วัน ทั้งนี้กระทรวงการคลังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายเพื่อออกเป็นระเบียบ หรือพระราชกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาต่อไป