ตำรวจไซเบอร์ แถลงข่าว 2 คดีออนไลน์ คดีแรกทลายขบวนการหลอกทำภารกิจตุ๋นเยาวชน ม.4 ทำภารกิจร่วมลงทุนทิพย์ สูญเงินกว่า 3 แสนบาท รวบตัวการฝั่งไทย-บัญชีม้า กว่า 17 ราย ยึดทรัพย์กว่า 5 ล้าน พบแอดมินอยู่ประเทศเพื่อนบ้านเร่งประสานตามตัว อีกคดีจับทหารเกณฑ์และพวก ขบวนการหลอกใช้ชื่อ ผบ.ตร. ปลอมเพจเฟซบุ๊กทำใบขับขี่ออนไลน์


เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 10 พ.ย.พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม , พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รรท.รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1, พล.ต.ต. สถิตย์ พรมอุทัย ผบก.สอท.3 และพ.ต.อ.ภูมิพัฒน์ ภัทรศรีวงษ์ รรท.ผบก.สอท.5 ร่วมกันแถลงจับผลการจับกุม 2 คดี

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า คดีแรก เป็นการแถลงผลการปฎิบัติการ Operqtion job scam รุกฆาตแก๊งหลอกทำภารกิจนำ หมายค้นเพื่อตรวจค้นเป้าหมาย 4 จุด ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี , นนทบุรี และสระแก้ว จับกุมผู้ต้องหาได้ 17 คน พร้อมของกลางเงินสด 3 ล้านบาท , ทองรูปพรรณ หนัก 13 บาท และอายัดเงินในบัญชีได้อีกกว่า 2 ล้านบาท  โดยพฤติการณ์ของมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะใช้วิธีการหลอกลวงผู้เสียหายให้โอนเงินทำภารกิจ โดยโฆษณาบนแพลตฟอร์มโซเชียล หรือ ทักแชทหาผู้เสียหายเพื่อเสนอให้ทำงานที่ง่ายแต่รายได้ดี เช่น การดูวิดีโอบน youtube เพิ่มยอดวิว , การกดรีวิวสินค้า , การออเดอร์สินค้าเพื่อเพิ่มยอดขายให้แก่แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดัง หากมีเหยื่อหลงเชื่อมิจฉาชีพจะให้ผู้เสียหายโอนเงินเพื่อรอรับผลตอบแทน ซึ่งในครั้งแรกจะให้ลงทุนในจำนวนน้อยแล้วได้ผลตอบแทนกลับมาจริง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อตายใจว่าทำแล้วได้เงินจริง จากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกล่อให้ผู้เสียหายค่อย ๆ โอนเงินในจำนวนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ หากผู้เสียหายต้องการถอนเงินคืน มิจฉาชีพจะอ้างเหตุผลให้โอนเงินจนถึงขั้นต่ำ หรือ ให้โอนเงินค่าภาษี , ค่าธรรมเนียม หรือค่าอื่น ๆ จึงจะถอนเงินคืนได้ และทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าโดนหลอกลวง สุดท้ายก็ไม่สามารถถอนเงินคืนได้

สำหรับปฎิบัติการในครั้งนี้ เริ่มจากมีผู้เสียหายที่เป็นเด็กนักเรียน ม.4 ในจังหวัดนครราชสีมา ไปพบ Instagram ชื่อ “g rayhuman” ได้โพสต์รับสมัครงานดูวิดีโอในเว็บไซต์ YouTube โดยอ้างว่าเพื่อเพิ่มยอดคนเข้าชม และรับประกันรายได้จริง จึงได้เพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชั่น LINE และติดต่อผ่านแอดมิน จากนั้นจึงได้แชทพูดคุยกัน โดยแอดมินได้หลอกให้โอนเงินลงทุน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เงินตามที่ตกลง โดยเด็กนักเรียนผู้เสียหายรายนี้ได้โอนเงินไป จำนวน 16 ครั้ง รวม 302,500 บาท ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึง มกราคม 2566

ต่อมาทาง บก.สอท.3 จึงสืบสวนขยายผลวิเคราะห์เส้นทางการเงินของกลุ่มคนร้าย โดยนำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีบัญชีม้าในแถวที่ 2 ในคดีนี้ ไปเชื่อมโยงเป็นบัญชีม้าแถวที่ 1 ในคดีอื่นอีก 121 คดี และมีความเกี่ยวพันกันในหลายพื้นที่ โดยแก๊งคนร้ายรายนี้ มียอดเงินหมุนเวียนในรอบ 6 เดือน ไม่ต่ำกว่า 230 ล้านบาท 

พล.ต.ต.สถิตย์ กล่าวเสริมว่า ขบวนการนี้มีการตั้งบริษัททำธุรกิจแก๊สบังหน้า มีเงินหมุนเวียนกว่า 100 ล้านบาท แต่พอไปตรวจสอบที่อยู่ตามหลักฐานการจดทะเบียนบริษัทก็พบว่า เป็นบ้าน ทาวน์เฮ้าส์เก่าๆ ที่มีผู้อื่นให้เช่า  จึงดำเนินคดีในข้อหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน , ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และร่วมกันฟอกเงิน อีกทั้งออกหมายผู้ต้องหาชาวกัมพูชาอีก 4 ราย ส่วนแอดโกปาย ที่แชทคุยกับผู้เสียหาย เบื้องต้นทราบว่าอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้ตำรวจกำลังเร่งขยายผลและประสานกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อนำตัวกลับมาดำเนินคดี


จากการรวบรวมสถิติของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 31 ตุลาคม 2566 คดีที่ผู้เสียหายถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หรือทำภารกิจ มากเป็นอันดับที่ 2 มียอดผู้เสียหาย จำนวน 46,488 ราย รวมมูลค่ากว่า 5,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเยาวชนตกเป็นเหยื่อ 1700 ราย มีมูลค่าความเสียหายกว่า 14 ล้านบาท ส่วนที่การหลอกลวงที่มีผู้เสียหายมากเป็นอันดับ 1 คือ การหลอกขายของ

นอกจากนี้พล.ต.ท. วรวัฒน์ ยังเปิดเผยถึงการดำเนินงานของ ศูนย์AOC ที่มีการบูรณาการกันหลายหน่วยงานเพื่อสกัดกั้นบัญชีม้า ซึ่งตั้งแต่ที่มีการเปิดศูนย์เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สามารถปิดบัญชีม้าได้แล้วกว่า 800 บัญชี จึงฝากเตือนประชาชนถึงการหลอกลวงที่อาจจะมาในรูปแบบต่างๆ

 

ด้านพล.ต.ท.วิวัฒน์ กล่าวว่า อีกคดีเป็นการจับกุมคนร้ายสวมรอยใช้ชื่อ พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุวิมล สร้างเพจ Facebook ปลอม ชักชวนให้ประชาชนทำใบขับขี่ออนไลน์ โดยไม่ต้องมาสอบด้วยตนเอง เมื่อมีผู้เสียหายสนใจทักสอบถามไป คนร้ายจะให้ผู้เสียหายเลือกประเภทของการทำใบขับขี่ และให้เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ เช่น ถ่ายหน้าบัตรประชาชน , หมายเลขโทรศัพท์ , รูปหน้าตรง และที่อยู่ปัจจุบัน จากนั้นจะให้ผู้เสียหายจ่ายค่ามัดจำ 500 บาท แล้วส่งรูปบัตรส่งให้ผู้เสียหาย เพื่อให้จ่ายเงินอีก 3,999 บาท แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใบขับขี่แต่อย่างใด มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก

ต่อมาตำรวจพบว่า มีผู้ก่อเหตุ 2 คน คือ นายกฤษณพล อายุ 22 ปี และ นายอนิวรรต อายุ 23 ปี ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ  จึงออกหมายเรียกและเชิญตัวมารับทราบข้อกล่าวหา ในข้อหา ฉัอโกง และผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ก่อเหตุรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา โดยตำรวจพบว่ามีเงินหมุนเวียนอยู่ในบัญชีของผู้ก่อเหตุหลักแสนบาท และจะขยายผลว่า มีการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่นอีกหรือไม่ต่อไป