วันที่ 9 พ.ย.2566 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ สส.กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ในเขตพื้นที่พระโขนง ที่แผ่นรับน้ำหนักใต้พื้นถนนยุบตัวลงเมื่อรถบรรทุกวิ่งผ่าน ซึ่งถูกมองว่ารถบรรทุกอาจมีน้ำหนักเกินกว่ากำหนด ว่า จากการสอบถามทางผู้กำกับ สน.พระโขนง ยืนยันว่า ยังไม่ปรากฏเหตุในกรณีที่มีการรับสินบน หรือส่วย แต่มีการตั้งคำถามว่า สติกเกอร์ตัวอักษร ‘B’ สีเขียว หมายความว่าอย่างไร ซึ่งได้รับคำชี้แจงว่า เป็นตัวอักษรย่อจากชื่อ บิ๊ก ซึ่งเจ้าของบริษัทผู้รับเหมารถบรรทุกรายนี้ ส่วนสีเขียวคงเป็นสีทึ่เขาชอบเท่านั้นเอง เบื้องต้นจากการสอบถามมีจำนวนรถบรรทุกประมาณ 4-5 คน ในพื้นที่พระโขนงที่มีสติกเกอร์ดังกล่าว แต่ไม่ทราบว่าในเขตพื้นที่อื่นมีจำนวนเท่าใด
      
นายปิยรัฐ กล่าวต่อว่า ตนได้พยายามติดตามเข้าไปในไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นกระบวนการทอยดิน หรือถ่ายดินออกจากที่เกิดเหตุใส่รถบรรทุกที่สำรองไว้ เพื่อชั่งน้ำหนักพร้อมกัน แต่ท้ายสุดเจ้าหน้าที่ได้พยายามขับรถไปที่ไซต์งานก่อสร้างดังกล่าว และตนก็ได้พยายามตะโกนเรียกแล้ว แต่ไม่มีใครฟัง โชคดีว่า วิศวกรในไซต์งานรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล จึงยังพอเก็บตัวอย่างดินกลับมาได้ แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการชั่งน้ำหนักดินดังกล่าว
     
"หลังจากนี้ ผมต้องมีการตรวจสอบจากทุกหน่วยงาน ว่า มีการใช้ดินจากตัวอย่างหรือไม่ เพราะมีลักษณะเป็นดินเลนที่อุ้มน้ำ ทำให้มีน้ำหนักมากกว่าดินปกติทั่วไป สามารถนำไปคำนวณตามหลักวิศวกรรม และวัดน้ำหนักรถปกติแล้วเป็นเท่าใด ซึ่งตามที่ปรากฏข้อมูลก็พบว่า เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแน่นอน"นายปิยรัฐ กล่าว
    
เมื่อถามว่าสาเหตุที่รถบรรทุกเข้ามาในเมืองได้ โดยไม่ผ่านการตรวจสอบ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ไม่อยากปรักปรำเจ้าหน้าที่รัฐโดยไม่มีหลักฐาน แต่เมื่อจุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากไซต์ก่อสร้างไม่มาก หรือไม่เกิน 300 เมตร จึงมีการว่าจ้างบริษัทรถบรรทุกมารับผิดชอบ แต่รถบรรทุกในเมืองจำเป็นต้องมีใบอนุญาต และห้ามวิ่งในเวลาห้ามวิ่ง รวมถึงน้ำหนักต้องไม่เกิน 15 ตัน ทั้งนี้ ทาง กทม. อ้างว่า ไม่มีตาชั่งสำหรับชั่งน้ำหนักรถบรรทุก จึงเป็นปัญหา และช่องโหว่ให้เกิดการลักลอบขนส่งน้ำหนักเกิน
      
นายปิยรัฐ กล่าวอีกว่า รถบรรทุกมักจะบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นเท่าตัว เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ถ้ารถบรรทุกรับน้ำหนักได้ 25 ตัน ก็ต้องบรรทุก 30 -40 ตันขึ้นไปอยู่แล้ว ซึ่งถนนไม่สามารถรองรับได้ ก่อให้เกิดผู้บาดเจ็บซ้ำซ้อน ตราบใดที่มีช่องโหว่ ให้ผู้รับเหมาที่ยังเห็นแก่ตัว จึงทำให้ปัญหาตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่รัฐว่า จะมีมาตรการอย่างไรต่อไป เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นซ้ำในพื้นที่ กทม. อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงรถบรรทุก แต่รวมถึงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
     
"ต้องตรวจสอบทั้งรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และแผ่นรองพื้นถนนที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะยังมีพื้นที่ใน กทม. ลักษณะนี้อีกหลายแห่ง ต้องคอยจับตาดู และตรวจสอบว่า จะเกิดเหตุแบบนี้ซ้ำขึ้นอีกหรือไม่"นายปิยรัฐ กล่าว
     
เมื่อถามว่า ในกรณีนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องส่วยหรือไม่ นายปิยรัฐ กล่าวว่า ทั้งนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และสมาพันธ์รถบรรทุก ต่างยืนยันว่า มีมูล ตนในฐานะผู้แทนเขตต้องตรวจสอบ แต่ตนไม่มีข้อมูลเชิงลึก จึงต้องรอนายวิโรจน์มาตอบในเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็ยังไม่ได้ตอบเรื่องนี้อย่างชัดเจนนัก
      
นายปิยรัฐ เปิดเผยด้วยว่า ทางคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ จะเดินทางเข้าไปพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในวันที่ 13 พ.ย. นี้ โดยจะถือโอกาสนี้สอบถามกรณีดังกล่าวโดยตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รวมถึงคณะอนุกรรมการที่ศึกษาเรื่องส่วยทางหลวง จะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อหาคำตอบต่อไป พร้อมย้ำว่า ปัญหาเรื่องส่วยรถบรรทุก ทำให้เกิดเหตุอุกอาจระดับประเทศ ที่สังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแล้วถึง 2 คนในอดีต