[ ให้ฉายาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับ ‘วิตกกังวล’ และ ข้อเสนอถึงรัฐบาล ใช้มาตรการทางบริหาร บรรเทาเยียวยาคดี 112 ]
นายปิยบุตร แสงกนกกุล ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กเพจ กล่าวถึงประเด็นทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา โดยขยายความใน 2 เรื่องสำคัญ
หนึ่ง กรณีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพุธ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ สส. พรรคก้าวไกล เสนอการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สอง กรณีคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวนมาก ที่ช่วงนี้มีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง
[ เวลาเปลี่ยน จุดยืนเปลี่ยน ]
เริ่มที่เรื่องแรก เมื่อ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นด้วยกับญัตติที่ สส. พรรคก้าวไกล เข้าชื่อกันเสนอเพื่อขอให้รัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา มีมติเห็นด้วยกับการทำประชามติว่าประเทศไทยจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ 2560 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่
ผลปรากฏมติที่ประชุมเห็นด้วยกับญัตติ 162 เสียง ไม่เห็นด้วย 261 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง เป็นอันว่าช่องทางในการขอให้ทำประชามติโดยตั้งคำถามตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ เป็นอันตกไปตั้งแต่ชั้นสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับการทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น มีอีก 2 ช่องทางที่กำลังวิ่งอยู่ หนึ่งคือช่องทางผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ครม. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาฯ ขึ้นมา สองคือช่องทางที่ภาคประชาชนเข้าชื่อกันมากว่า 200,000 ชื่อ ตั้งคำถามคล้ายกับที่พรรคก้าวไกลตั้ง ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจเอกสาร ก่อนจะเข้า ครม. ต่อไป
หากทุกท่านยังจำกันได้ ช่วงก่อนการเลือกตั้ง ปลายสมัยของการประชุมสภาฯ ชุดที่แล้ว เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 มีการนำญัตติทำนองนี้เข้าไปเช่นเดียวกัน ครั้งนั้นพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยร่วมกันเสนอ คำถามประชามติคล้ายกันเลย แต่ปรากฏว่าผ่านฉลุย ทุกพรรคการเมืองยกมือให้หมด ก่อนจะไปตกที่ชั้นวุฒิสภา
ผมจึงตั้งคำถามตัวโตๆ ว่าทำไมรอบนี้ 25 ตุลาคม 2566 สส. ไม่โหวตให้ผ่านเหมือนเดิม ยังไม่พอ หลายพรรคการเมืองเอาไปหาเสียงด้วยว่าจะให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. แต่ทำไมไม่แสดงจุดยืนให้ตรงกับนโยบายหาเสียง เสร็จแล้วก็ให้ไปตกในวุฒิสภาก็ยังได้
ในเมื่อพวกคุณพูดกันอยู่เสมอไม่ใช่หรือ ว่ายังไงก็ไปตกในชั้น สว. อยู่ดี เพราะวุฒิสภายังเป็นชุดเดิม เขาคงยืนยันแบบเดิมแน่ เช่นนั้น สส. ก็ยืนตัวตรงทะนงองอาจ เห็นชอบให้หมดเลย จะได้ยืนหลักเรื่องนี้ไว้ แต่กลับกลายเป็นว่า สส. ร่วมมือร่วมใจกัน 261 คนไม่เห็นด้วย นี่เป็นข้อสังเกตแรกที่น่าสนใจ
อาจตั้งสมมุติฐานได้ว่า 3 พฤศจิกายน 2565 เป็นช่วงท้ายของสภาชุดที่แล้ว อีกไม่นาน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะยุบสภา ดังนั้นเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ สส. หรือ นักการเมืองจากทุกพรรค จะทำอะไรต้องคิดอ่านให้รอบคอบ ต้องระแวดระวังเข้าไว้ เพราะเดี๋ยวจะมีการเลือกตั้งใหญ่ ถ้าทำอะไรที่ประชาชนไม่พอใจ ประชาชนไม่เห็นด้วย เขาก็จดจำแล้วจะไม่เลือกพรรคคุณ
นี่เป็นที่มาว่าทำไม รอบนั้น สส. ยกมือเห็นด้วยหมด แล้วให้ไปตกที่ สว. ให้ สว. เป็นแพะ แต่พอตอนนี้ เลือกตั้งเสร็จหมาดๆ พรรคก้าวไกลยื่นญัตติเดิมเข้าไปอีก คราวนี้กลับตาลปัตร
ดังนั้น ไม่ใช่แค่เนื้อหาของญัตติเท่านั้นที่สำคัญ การที่แต่ละญัตติเข้าสภา แล้ว สส. จะลงมติแบบไหน จังหวะช่วงเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน
[ ตลอดประวัติศาสตร์ทำรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่เคยล็อกหมวด 1 หมวด 2 ]
ในการประชุมวันนั้น มีหลายเรื่องที่ดีเบตถกเถียงกัน แต่สรุปได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรก คือฝ่ายหนึ่งจะทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อีกฝ่ายอยากให้ยกเว้นหมวด 1 (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) และเรื่องที่สอง ถกเถียงกันว่าท้ายที่สุดจะได้เลือกตั้ง สสร. ร้อยเปอร์เซ็นต์ทุกคนหรือไม่ หรือจะสรรหาคัดสรรอย่างไร
ผมยืนยันก่อนว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในอดีตของประเทศไทย ไม่เคยมีความกังวลใจที่จะต้องล็อกหมวด 1 หมวด 2 ไม่ว่าฉบับ 10 ธันวาคม 2475 จนถึงฉบับ 2489 หรือฉบับ 2534 มายังฉบับ 2540 แม้กระทั่งฉบับ 2549 ไปยังฉบับ 2550
แสดงให้เห็นในทางประประวัติศาสตร์ของไทย ว่าการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากฉบับหนึ่งไปอีกฉบับหนึ่ง ไม่มีความจำเป็นต้องเว้นหมวด 1 หมวด 2 เวลาทำใหม่ก็คือทำใหม่ทั้งฉบับ
ยิ่งตามหลักวิชาการ การปรับปรุงแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 เป็นสิ่งที่ทำได้ ในทางตัวบทรัฐธรรมนูญก็ทำได้ ขนาดรัฐธรรมนูญ 2560 ยังบอกในตัวเองเลยว่าการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ทำได้ แต่ต้องไปจบด้วยประชามติ
ดังนั้น ข้อห้ามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเพียง 2 เรื่อง คือห้ามเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และห้ามเปลี่ยนรูปแบบของรัฐ จากรัฐเดี่ยวไปเป็นสหพันธรัฐ
ลองมาคิดดู ทำไมต้องกังวลล่วงหน้าขนาดนี้ สมมติเลือก สสร. กันมา เราจะรู้ได้อย่างไรว่า สสร. จะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน จะแก้หรือไม่แก้ เขาอาจจะไม่ยุ่งกับหมวด 1 หมวด 2 เลยก็ได้ ทำไมถึงกังวลใจไปล่วงหน้า ทั้งที่ในอดีตไม่เห็นกังวลใจเรื่องแบบนี้
ลองคิดดูว่า ถ้าเขียนล็อกไว้แล้วเกิดมีปัญหาในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไร ถ้าจำกันได้ หลังจากทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ต่อมาช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่าจำเป็นต้องแก้ไขตัวร่าง 2560 อีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับหมวดพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจ เพราะต้องการทำให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
จึงต้องถามว่า ในเมื่อเราไม่ทราบอนาคตว่าจะเกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นหรือไม่ หากไปล็อกหมวด 1 หมวด 2 เอาไว้ เกิดมีความจำเป็นต้องเข้าไปเปลี่ยนแปลงปรับปรุงแก้ไข เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับร่าง 2560 แล้วจะทำอย่างไร เราจะปิดประตูนี้ไว้ทำไม ยังไม่นับว่าการปิดประตูนั้น ไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้องในทางวิชาการด้วย
[ เห็นทิศทาง ความเห็นที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับ สสร. ]
อีกคำถามหนึ่ง ย้อนไปก่อนผลการเลือกออกมา ทำไมตอนนั้นแต่ละคนแต่ละพรรค พูดจาเป็นทิศทางเดียวกัน บอกว่าทำรัฐธรรมนูญ ให้ทำโดย สสร. และต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่พอผ่านการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม แนวคิดนี้เริ่มเปลี่ยน
- สสร. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ได้
- สสร. ต้องแบ่งให้มีการสรรหาตามวิชาชีพมาด้วยก็ได้
- สสร. ต้องมีการสรรหาเชิงประเด็นมาด้วยก็ได้
ประเด็นนี้น่าสงสัยหรือไม่? ลองไปดูการออกรายการของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ที่มีคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ของก้าวไกล และคุณนิกร จำนง ในฐานะรองประธานคณะกรรมการศึกษาฯ ที่รัฐบาลตั้งขึ้น คุณนิกรพูดไว้ชัดเจน ว่ามีความกังวลใจของคนบางกลุ่ม
ว่าหาก สสร. เลือกตั้งทั้งหมด เกิดคนที่เชียร์ก้าวไกลไปสนับสนุนคนกลุ่มนี้ให้เป็น สสร. เขาก็กังวลฐานเสียงของพรรคก้าวไกลที่ได้มาจากการเลือกตั้งกว่า 14 ล้านเสียง เลยกลายเป็นว่ากลัวพลังของการเลือกตั้ง เช่นนี้ สสร. อย่าไปเลือกตั้งให้หมดเลย เดี๋ยวฝั่งนั้นกวาดไปหมด
นี่คือทิศทางการเดิน เรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของนักการเมืองหลายคนหลายพรรคในช่วงไม่ถึงปี เรื่องนี้น่าตั้งข้อสังเกต
[ ทำรัฐธรรมนูญแบบ ‘ตระหนกตกใจหวาดกลัวไปล่วงหน้า’ ]
สุดท้ายผมมองว่าการทำรัฐธรรมนูญรอบนี้ เป็นการทำรัฐธรรมนูญแบบ ‘ตระหนกตกใจหวาดกลัวไปล่วงหน้า’
- กลัวล่วงหน้าไปก่อน ว่าถ้าให้ สสร. เลือกตั้งทั้งหมด เกิดได้คนที่มีวิธีคิดแบบไอ้พวกพรรคก้าวไกลเข้ามาหมด มันจะยุ่ง เพราะคะแนนเลือกตั้งของมันมี 14.4 ล้าน
- กลัวล่วงหน้าไปก่อน ว่าถ้าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องมีการแก้ไขฉบับ 2560 เบื้องต้นก่อน ถ้าไม่ยอมลดเงื่อนไขต่างๆ ให้ท่าน สว. พอใจ เดี๋ยวมันไม่ผ่าน
- กลัวล่วงหน้าไปก่อน ว่าถ้าไม่ล็อกหมวด 1 หมวด 2 เกิด สสร. เข้ามาแล้วไปเขียนแก้ไข จะทำอย่างไร
อย่ากระนั้นเลย ก็ล็อกมันทุกชั้น ตั้งแต่ สสร. หมวด 1 หมวด 2 ตลอดจนบทบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ
กล่าวได้ว่า นี่เป็นรัฐธรรมนูญที่กว่าจะเริ่มต้นทำได้ คุณมีความกังวลตลอดเวลา ว่าเดี๋ยวสิ่งนั้นจะเกิด เดี๋ยวสิ่งนี้จะเกิด เลยทำให้การเดินหน้าทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องติดขัดอยู่ตลอดเวลา สภาพกระท่อนกระแท่น ทำให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อจำกัดเยอะมาก
[ 2 ฝั่งความคิด วัดพลังทางการเมือง ]
หากมองภาพใหญ่ทั้งหมด วิธีคิดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความกังวลล่วงหน้ากันขนาดนี้ สะท้อนถึงความเป็นจริงทางการเมืองในปัจจุบัน ว่าประเทศนี้กำลังมี 2 พลังที่วัดกันอยู่
พลังฝั่งหนึ่งคือฝั่งที่อยากเปลี่ยนแปลง พลังอีกฝั่งคือฝั่งที่อยากอนุรักษ์ แต่ตอนนี้ฝั่งที่มีวิธีคิดแบบอนุรักษ์ดั้งเดิม เขาเข้าไปมีอำนาจแล้ว ก็ต้องใช้ทุกวิถีทางป้องกันแดนอำนาจ ไม่ให้ฝั่งที่มีวิธีคิดแบบเปลี่ยนแปลงสามารถรุกคืบเข้ามาได้
ดังนั้นเวลาดูสมรภูมิการทำรัฐธรรมนูญตอนนี้ อะไรที่เป็นเรื่องเทคนิคต่างๆ ก็ว่าไป แต่ภาพใหญ่คือเรื่องตัวชี้วัดพลังทางการเมือง มันสะท้อนว่าวิธีคิดแบบใหม่ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง เริ่มเพิ่มขึ้น เพียงแต่คุณยึดอำนาจรัฐไม่ได้ ขนาดได้เสียงข้างมากกันมาขนาดนี้ เมื่อฝ่ายเดิมเขายึดได้ จึงสกัดทุกทางและยิ่งสกัดแรงขึ้น ตั้งป้อมมากขึ้นกว่าเดิมด้วย
นี่คือภาพใหญ่ทั้งหมด ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ผ่านรัฐบาลสืบทอดอำนาจ ผ่านรัฐบาลข้ามขั้ว จนมาถึงปัจจุบัน
[ เตือนรัฐบาล ตั้งคำถามประชามติให้เปิดกว้าง หวั่นเสียงแตก คนอยากแก้ แพ้คนไม่อยากแก้ ]
มองความเป็นไปในระยะสั้น จะทำอย่างไรต่อ เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้?
ผมเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลตอนนี้ คือถ้าท้ายที่สุดรัฐบาลตัดสินใจให้มีประชามติ และตั้งคำถามว่า “ประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 และบทบัญญัติในมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ”
ถามแค่นี้ ก็หมายความว่าทำได้ทั้งฉบับ เว้นหมวด 1 หมวด 2 และโดย สสร. แต่ไม่รู้ สสร. มาจากไหน จบ
ถ้าคำถามแบบนี้ออกไปโดยรัฐบาล เมื่อถึงวันประชามติ ลองคิดดูว่ากลุ่มคนต่างๆ จะมีวิธีคิดอย่างไร ผมคิดว่ามีคน 3 กลุ่ม
- กลุ่มที่หนึ่ง ไม่อยากให้ทำใหม่เลย อยากอยู่กับฉบับ 2560 ไปเรื่อยๆ
- กลุ่มที่สอง อยากทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ขอเว้นหมวด 1 หมวด 2 และ สสร. ขอพักไว้ก่อน ยังไม่บอกว่ามาจากไหน
- กลุ่มที่สาม อยากให้ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ต้องล็อกอะไรไว้ จัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ข้อห้ามมีแค่เรื่องห้ามเปลี่ยนรูปแบบการปกครองและรูปแบบของรัฐ
ถ้ามีประชามติเกิดขึ้น แต่ละกลุ่มต้องเข้าไปลงคะแนนตามคำถามข้างต้นของรัฐบาล เวลาตอบก็ตอบได้แค่เอาหรือไม่เอา YES or NO ลองดูว่าพลังความคิดของ 3 กลุ่ม จะออกมาเป็นอย่างไร
- กลุ่มแรก ที่อยากให้รัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ไปเรื่อยๆ พวกนี้โหวต NO อยู่แล้ว ไม่ให้ทำฉบับใหม่
- กลุ่มที่สอง คงตอบ YES เพราะคำถามตรงกับที่พวกเขาต้องการ
- แต่กลุ่มที่สาม จะโหวตอย่างไร ในเมื่อเขาอยากทำใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าโหวต YES ก็ขัดกับเจตนารมณ์ของตัวเอง แต่ถ้าโหวต NO ทำไปทำมา อาจทำให้เสียงของการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ไม่ผ่าน
ดังนั้น ถ้าตั้งคำถามแบบที่รัฐบาลกำลังคิดอ่านกันอยู่ ถึงเวลาประชามติจริงๆ อาจทำให้เสียงแตก ระหว่างกลุ่มที่สองกับกลุ่มที่สาม สุดท้ายถ้าแพ้กลุ่มที่หนึ่ง จะยุ่งเลย เว้นเสียแต่ว่าจะตั้งคำถามให้หลายชั้นมากขึ้นไปอีก
ตรงนี้จึงน่ากังวลอยู่ว่าสุดท้ายคำถามประชามติของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นไปได้ ควรตั้งคำถามให้เปิดเอาไว้ ให้ถูกต้องตามหลักการ สสร.ไม่มีทางเปลี่ยนรัฐธรรมนูญให้เป็นรูปแบบระบอบอื่นได้อยู่แล้ว
[ เสนอแก้รายมาตราไปพลางก่อน ไม่ต้องรอ 4 ปี ]
เส้นทางการทำรัฐธรรมนูญใหม่ คงทอดยาวต่อไปตามที่รองนายกรัฐมนตรีบอก ว่าภายใน 4 ปี คงจบแน่ เลือกตั้งครั้งหน้ายังไงก็ได้เลือกตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แต่ผมเห็นว่า 4 ปี นานเกินไป เดี๋ยวก็ติดขัดปัญหาต้องตั้งคณะกรรมการ ตั้งอนุกรรมการ ไปรับฟังความเห็นประชาชนต่างๆ นานา กว่าจะต้องทำประชามติ
ดังนั้นระหว่างทาง แก้รายมาตราในบางประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ได้หรือไม่ เพราะถ้ารอทั้งฉบับ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อไร
แน่นอนว่าต้องเจอ สว. ขวางอีก แต่อีกไม่นาน สว. ชุดนี้จะหมดวาระแล้วไม่ใช่หรือ เราพอมีความหวังได้หรือไม่ว่า ส.ว. ชุดต่อไป น่าจะมีหน้าตาอีกแบบหนึ่ง ที่คงไม่ขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกเรื่อง
นี่คือความน่าสนใจในการติดตามเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไร ถึงอย่างนั้น เรายังมีความหวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญ 2560 ไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ในที่สุด
[ 3 แนวโน้มคำพิพากษาคดี 112 ]
เรื่องต่อมา เกี่ยวข้องกับคดี 112 ที่เห็นได้ว่าช่วงนี้แต่ละเดือนมีกำหนดการพิพากษาทยอยออกมาเรื่อยๆ ผมลองนำคำพิพากษามาจัดกลุ่ม พบว่าแนวโน้มเป็นแบบนี้
- กลุ่มที่หนึ่ง ศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยไม่มีความผิด บ้างเพราะพยานหลักฐานไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ บ้างเพราะข้อความที่เขียนหรือแสดงออกไม่เข้าข่ายความผิด สำรวจดูส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ การยกฟ้องมักเกิดขึ้นที่ศาลจังหวัดอื่น ไม่ใช่ศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการก็มักอุทธรณ์ต่อ เลยต้องไปสู้คดีกันอีก
- กลุ่มที่สอง ศาลพิพากษาจำคุก แต่ให้รอลงอาญา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอัยการจะอุทธรณ์หรือไม่
- กลุ่มที่สาม จำคุก ไม่รอลงอาญา แล้วไปลุ้นการประกันตัวว่าจะได้หรือไม่ ซึ่งก็มีทั้งได้และไม่ได้
[ บรรยากาศเวลานี้ การสร้างบทสนทนาคดี 112 ไม่เกิดขึ้น ]
จะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ผมให้ความเห็นไปแล้วหลายครั้ง ว่าสนับสนุนให้มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง นิรโทษกรรมให้หมดแล้วมาเริ่มต้นกันใหม่
โดยความเห็นของผม คือรวมคดี 112 ด้วย เพราะ (1) การแสดงออกที่กลายมาเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ที่โดนคดีกันจำนวนมาก เกิดขึ้นจากมูลเหตุจูงใจทางการเมืองในช่วงเวลานั้นๆ ที่มีการชุมนุม และ (2) ในอดีตเรื่องนี้เคยทำมาแล้ว หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 มีการเพิ่มอัตราโทษในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 มีคนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการนิรโทษกรรมเหมือนกัน
การนิรโทษกรรม จะเป็นการเปิดฉากสร้างบรรยากาศปรองดอง แต่ปัญหาคือจะนิรโทษกรรมกันอย่างไร ยิ่งในเวลานี้ แม้มีคนพูดแสดงความคิดขึ้นมา แต่ไม่มีบรรยากาศการสร้างบทสนทนา
ขณะที่พรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมายเข้าสภาฯ แต่ร่างที่พรรคก้าวไกลยื่นไม่ได้นิรโทษกรรมคดี 112 ตรงๆ เป็นการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง โดยให้มีคณะกรรมการที่สภาฯ ตั้งขึ้นเป็นคนวินิจฉัย
ดังนั้น เสนอร่างเข้าไปแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะตกหรือเปล่า เดี๋ยวคนคงตั้งคำถามอีกว่ารวมคดี 112 ด้วยหรือไม่ ถ้ารวมก็อาจหาเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่ได้ ส่วนซีกคณะรัฐมนตรี ยังไม่มีวี่แววว่าจะผลักดันเรื่องเหล่านี้
ถ้าลองดูว่า ระยะยาวมีความพยายามจะผลักดันเสนอแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ ในสภาชุดนี้ ปิดสมัยประชุมครั้งที่หนึ่งแล้ว ยังไม่มี สส. พรรคไหนเสนอร่างแก้ไข 112 และถามว่าถ้าเสนอไป โอกาสผ่านเป็นอย่างไร ก็คงจะยากเมื่อเทียบพลังทางการเมือง เพราะปีกเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรประกาศตลอดเวลาว่าเขาไม่แตะเรื่องนี้ หรือต่อให้มีปาฏิหาริย์ผ่านไปได้ ก็คงไปติดที่วุฒิสภาอีก
ในขณะที่คดีต่างๆ เดินหน้าไปเรื่อยๆ เป็นสภาวะการณ์ที่ไม่สามารถเดินหน้าเข้าสู่บรรยากาศการสร้างความสมานฉันท์ได้ เพราะมีคนที่แสดงออกทางการเมืองยังต้องติดคุก ถูกดำเนินคดีจำนวนมาก เส้นทางของการแก้ปัญหาระยะยาว คือการแก้ไขปรับปรุงมาตรา 112 หรือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองผ่านการตรากฎหมายนั้น ดูแล้วยากเย็นแสนเข็ญพอสมควร แล้วจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้
[ ขอรัฐบาล พิจารณาใช้มาตรการทางบริหาร บรรเทาคดี 112 ]
ผมคิดว่าสามารถแก้ปัญหาระยะสั้นไปพลางก่อนได้ ด้วยการใช้มาตรการทางบริหารหรือใช้การแก้กฎหมายมาตราอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง 112 เป็นวิธีการแก้ไขแบบละมุนละม่อม
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2554 เข้าใจว่านักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยหลายท่านเคยออกมาพูดในที่สาธารณะ ว่ามีวิธีมาตรการในทางบริหารที่สามารถทำให้คดีต่างๆ ช้าออกไปหน่อย ยังไม่ต้องรีบเร่งถึงขั้นสั่งฟ้อง แทนที่จะทำปุบปับเหมือนบุรุษไปรษณีย์ ที่มีใครก็ไม่รู้มาแจ้งความที่โรงพัก โรงพักเห็นคดี 112 ตกใจสั่งฟ้องเลย อัยการเดินหน้าต่อเลยทันที มันไม่จำเป็นต้องเร่งขนาดนั้น
ผมเสนอให้รัฐบาลช่วยนำไปพิจารณา ใช้อำนาจที่ท่านพอจะมี ในการออกมาตรการในทางบริหาร เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ก่อนได้หรือไม่
ท่านรู้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ สามารถชะลอออกไปได้อยู่บ้าง
หรือในอนาคตหากต้องมีการแก้กฎหมาย โดยที่ไม่ต้องไปแตะ 112 เช่น แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำอย่างไรไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งฟ้องข้ามพื้นที่ไปมา ประเภทรวมตัวกัน ศูนย์นั้นองค์กรนี้ เที่ยวไปดูว่าใครโพสต์อะไรแสดงความเห็นอะไร เสร็จแล้วก็เอาไปแจ้งความในที่ที่ห่างไกล เช่น บ้านเขาอยู่พะเยา แต่ไปแจ้งความที่สุไหงโกลก แล้วก็ต้องขึ้นศาลที่นราธิวาส เวลาติดคุกก็ต้องไปติดคุกในพื้นที่นั้น
หรือแก้กฎหมายป้องกันไม่ให้ใครก็ได้มาฟ้องกันมั่วๆ เช่น ตั้งองค์กรหรือหน่วยเฉพาะกิจหนึ่ง ขึ้นมารับหน้าที่ ริเริ่มร้องทุกข์กล่าวโทษคดี 112 โดยเฉพาะ
ส่วนท่านอัยการ ช่วยออกแนวปฏิบัติได้ไหมว่า ถ้าศาลชั้นต้นยกฟ้องคดี 112 แล้วว่าไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท ไม่มีความผิด ท่านไม่อุทธรณ์ได้หรือไม่ ให้คดีถึงที่สุดไปเลย
ศาลที่เคารพช่วยกันได้หรือไม่ แนวทางการประกันตัวคดี 112 ให้ทำเหมือนคดีอื่น เลิกคิดว่าเป็นคดีพิเศษ เวลาพิจารณาคดีเรื่องการให้ประกันตัวก็ทำด้วยความรวดเร็ว ไม่ต้องส่งไปศาลอีกศาลหนึ่งให้เสียเวลา จนสุดท้ายต้องไปนอนคุกก่อน
ในเมื่อคนที่มีความผิดฐานคอร์รัปชันยังหลบหนีไปประเทศอื่น กลับมารายงานตัวพบพนักงานสอบสวนเสร็จ ก็ได้ประกันตัว หรือคดีฆ่าคนตายก็ได้ประกันตัว คดีอุกฉกรรจ์เต็มไปหมดก็ได้ประกันตัว ทำไมคดี 112 ไม่ให้ประกันตัวเหมือนคดีอื่นๆ หลักการก็เหมือนกัน ต้องสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ทำให้ได้มาตรฐานเดียวกันได้หรือไม่
เช่น ทนายอานนท์ นำภา ผ่านไปหนึ่งเดือนยังไม่ได้ประกันตัว เขาเคยมีพฤติกรรมหลบหนีหรือไม่ เขาไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนที่เกาหลีใต้ ก็ยังกลับมาทั้งที่เขาจะไปไหนมาไหนก็ได้ พฤติการณ์ของเขาไม่คิดหนีคดีอยู่แล้ว ดังนั้น วางมาตรฐานให้เหมือนกับทุกคดี ให้เขาได้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ต้องให้ปล่อยตัวชั่วคราว
หลายคนที่เป็นนักการเมืองอยู่ในวันนี้ เกิดวันดีคืนดีโดนคดี 112 ศาลตัดสินจำคุก ระหว่างรอประกัน ดันพิจารณาการประกันนานออกไป จะทำอย่างไร เข้าไปติดคุกวันสองวันได้ประกันตัว แต่ในทางรัฐธรรมนูญก็ถือว่าพ้นจากตำแหน่ง
[ เรียกร้องรัฐบาล ปัญหาอยู่ตรงหน้า อย่าวางเฉยเหมือนมองไม่เห็น ]
ผมย้ำอีกครั้ง ว่าผมมีจุดยืนเรื่องการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คือปรับปรุงมาตรา 112 ยกเลิกมาตรา 112 นิรโทษกรรมคดีทางการเมือง คดีการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งต้องรวมถึงเรื่อง 112 ด้วย
แต่ถ้าดูแล้วมันยาก สถานการณ์ความเป็นจริงทางการเมืองวันนี้ดูท่าจะไม่ผ่านสภาฯ ด้วยซ้ำ ปัญหาเฉพาะหน้าจะมีวิธีบรรเทาเบาบางเยียวยาไปได้ก่อนหรือไม่
จึงอยากเสนอไปยังเพื่อนพ้องน้องพี่ในรัฐบาลเวลานี้ ว่าท่านไม่ควรวางเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมเข้าใจข้อจำกัดของการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ดี ที่ข้ามฝั่งไปตั้งกับพรรคอื่นๆ ที่เคยสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจข้อจำกัดของที่มาของรัฐบาลชุดนี้ดี ว่ามันเกิดจากอะไร ทำให้ต้องแบกรับเงื่อนไขเอาไว้จำนวนมาก
แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะปฏิเสธ หรือมองไม่เห็น หรือแกล้งทำเป็นมองไม่เห็นกับปัญหาคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเมือง กับการแสดงออกทางการเมือง อย่างไรมันก็กองอยู่ตรงหน้า จะทำเป็นปิดตาไม่เห็น ไม่สนใจ พูดแต่เรื่องเศรษฐกิจ ดิจิทัลวอลเล็ต เน้นโรดโชว์ต่างประเทศ เป็นไปไม่ได้ คดีมันตัดสินทุกวัน
พรรคเพื่อไทยเองตอนรณรงค์หาเสียง พูดเรื่องพวกนี้ ช่วงแรกมีการยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไข ต่อมาบอกว่าจะเอาเข้าสภาให้ไปถกเถียงพูดคุย ต่อมามีการแสดงความคิดเห็น บอกว่าจริงๆ ไม่ต้องไปแก้หรอก ถ้าเข้าไปมีอำนาจเมื่อไร จะใช้มาตรการในทางฝ่ายบริหารที่ตัวเองมี เพื่อบรรเทาเยียวยาคดีเหล่านี้
ตอนนี้ผ่านมาแล้วหลายเดือน เริ่มคิดเริ่มอ่านทำสักหน่อย นึกถึงตอนที่ท่านรณรงค์หาเสียงสักหน่อย อะไรที่พอทำได้ ลองทดลองทำดู
ผมไม่เรียกร้องรัฐบาลถึงขั้นแก้ไข 112 หรือไฟเขียวนิรโทษกรรมคดี 112 เพราะดูแต่ละท่านก็ออกตัวมาแล้วว่าจะไปไม่ได้ แต่อย่างน้อยระหว่างทาง ช่วยหาวิธี เพราะคดี 112 ตอนนี้ ไม่ใช่แค่กรณีเดิมที่ค้างอยู่ แต่ผมเห็นนิสิตนักศึกษาเยาวชนหลายคน ยังมีพนักงานสอบสวนส่งหมายใหม่ๆ ไปที่บ้าน ดังนั้นทำอย่างไรไม่ให้มีการเปิดช่องกลั่นแกล้งกัน
บทสรุปของเรื่องนี้ ทุกพรรคการเมือง นักการเมืองแต่ละท่าน เวลาเข้าไปเป็นรัฐบาล ก็จะเจอข้อจำกัดของระบบ หรือสิ่งที่ท่านแบกไว้ก็ตาม แต่มันไม่ใช่ข้ออ้างในการบอกว่าเราจะไม่มองเห็นปัญหาเรื่องนี้ หรือจะไม่แตะปัญหาเรื่องนี้เลย ท่านเคยมีประสบการณ์ หลายเรื่องผมเชื่อว่าทำได้ขยับได้
ถ้าเราเริ่มต้นแบบนี้ อย่างน้อยจะเริ่มต้นการคลี่คลายปัญหาในทางการเมืองไปได้