“วิป 3 ฝ่าย” ถกจัดสรรเวลาศึกอภิปรายแก้ รธน. 13-14 ก.พ. ฝ่ายละ 6 ชม. ด้าน “ชูศักดิ์” ชงวิป 3 ฝ่าย ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความทำ “ประชามติ” กี่ครั้ง เชื่อรับพิจารณาให้ “สส.-สว.” สบายใจเดินหน้าต่อ “วันนอร์” บรรจุวาระเข้าที่ประชุมสภา 13-14 ก.พ.นี้ ส่วน “เท้ง” นำทีม “ปชน.” ขึ้นดาดฟ้ารัฐสภาสู้ฝุ่นพิษ! เตือนวิกฤต PM 2.5 คือ วิกฤตภาวะผู้นำ พร้อมชง 3 มาตรการจี้ “รัฐบาล-กทม.” ผนึกกำลังแก้ปัญหาจริงจัง
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.พ.68 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้ประชุมวิป 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภา เพื่อหารือถึงกรอบการประชุมร่วมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่ม เติม ทั้งนี้ภายหลังการประชุม นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ ส.ว.ในฐานะเลขาธิการวิปวุฒิสภา เปิดเผยว่า นายวันมูหะมัดนอร์ ได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมี 2 ร่าง คือร่างของพรรคเพื่อไทย และร่างของพรรคประชาชน
นายพิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า การจัดสรรเวลาในการอภิปรายนั้น วิป 3 ฝ่าย แบ่งเวลาอภิปรายฝ่ายละ 6 ชั่วโมง คือ พรรคร่วมรัฐบาล 6 ชั่วโมง พรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 ชั่วโมง และ สมาชิกวุฒิสภา 6 ชั่วโมง ซึ่งกรอบการประชุมจะเริ่มวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30-22.00 น. หลังจากอภิปรายเสร็จสิ้น คาดว่าในเวลา 15.00 น. เป็นต้นไปจะเป็นการเริ่มกระบวนการโหวตให้ความเห็นชอบในวาระรับหลักการ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จะเป็นการโหวตโดยการขานชื่อทีละคนจากจำนวนสมาชิกของรัฐสภาเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ จำนวน 692 คน ซึ่งจำนวน ส.ส. มี 493 คน และ ส.ว.199 คน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ในวันนี้วิปทั้ง 3 ฝ่าย จะมีการหารือถึงทิศทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-14 ก.พ. โดยมีการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราและการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประกอบด้วย ร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีความกังวลจากสมาชิกว่าสุดท้ายแล้วจะต้องทำประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้ง ตนจึงได้เสนอผ่านไปทางวิปรัฐบาลให้มีการยื่นรัฐธรรมนูญตามมาตรา 210 ให้วินิจฉัย ว่าสามารถทำประชามติได้กี่ครั้ง ซึ่งการยื่นวินิจฉัยครั้งนี้ แตกต่างจากครั้งก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย เพราะครั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้บรรจุระเบียบวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคนที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้รับเป็นสส.หรือ สว.ก็ได้
นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สามารถยื่นได้ทันทีหรือจะประชุมไปแล้วก็สามารถยื่นได้ และเชื่อว่าทำให้ทุกคนสบายใจ เพราะหากเดินหน้าต่อไปอาจจะทำให้ สส.และสว.หลายคนเกิดความกังวลและไม่กล้าพิจารณาโหวตรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วย ที่จะให้มีการคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปเสียก่อนเพราะจะเป็นการเสียของ
นายชูศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สมมติหากศาลวินิจฉัย ให้เดินหน้าทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ส่วนจะยึดร่างของพรรคเพื่อไทยที่ไม่แก้ในหมวด 1 และ 2 แต่ในส่วนของพรรคประชาชน นั้นเสนอให้มีการแก้ไขทั้งฉบับ เรื่องนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันขอให้ผ่านขั้นตอนแรกไปก่อน
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา พรรคประชาชน (ปชน.) นำโดย นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค พร้อมด้วย สส. และสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ร่วมกันแถลงข่าว “วิกฤต PM 2.5 คือวิกฤตภาวะผู้นำ” และข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยได้ขึ้นไปแถลงที่บริเวณดาดฟ้าชั้น6 อาคารรัฐสภา
ทั้งนี้ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องฝุ่นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. จนถึงวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่าเป็นช่วงเวลาที่พี่น้องชาวกรุงเทพฯ ต้องอยู่ภายใต้วันที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานประมาณ 30 กว่าวัน จึงถือเป็นปัญหาวิกฤตอย่างมาก เพราะประชาชนคนไทยไม่ได้เพิ่งรู้จักปัญหานี้ แต่รู้จักมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งปัญหาฝุ่น ไม่ได้กระทบกับประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กระทบตั้งแต่เด็กในครรภ์ จนถึงผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียง ยังสร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจนับเป็นมูลค่าราวๆ 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น คิดว่าเป็นเวลาที่รัฐบาลและผู้บริหารท้องถิ่น จำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการร่วมกันอย่างจริงจัง เพื่ออุดช่องว่างที่เกิดในการบริหารระหว่างกันและเดินหน้าแก้ไขเพื่อประชาชนโดยเร็วที่สุด
ส่วน น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า ที่ผู้ว่าฯกทม.อ้างว่าไม่มีอำนาจเต็มมือในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ตนพบว่ามี 3 เรื่องที่ผู้ว่าฯกทม. มีอำนาจเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่กลับใช้ไม่เต็มประสิทธิภาพ 1.มาตรการเขตลดฝุ่น LEC ที่ห้ามรถบรรทุกเกิน6ล้อที่ไม่ได้ลงทะเบียนกรีนลิสต์เข้ามาวิ่งในโซนกทม.ชั้นใน เป็นจำนวน 2 วัน ซึ่งผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจเต็มตามมาตรา29 ของพ.ร.บป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยในการจัดการแต่เหตุใดถึงประกาศแค่โซนกทม.ชั้นใน ไม่ประกาศทั่วกทม. 50 เขตที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานเป็นสีแดง โดยผู้ว่าฯกทม.ได้แจ้งว่า ที่บังคับใช้มาตรการ LEC ในกทม.ชั้นใน เพราะมีฝุ่นPM2.5 จากรถยนต์ และรถสาธารณะมากกว่าโซนอื่น แต่หากเราใช้มาตรการ LEC ทั่วกทม. แล้วขยายเวลาจาก 2 วันเป็น 1 สัปดาห์ ตนคิดว่าจะสามารถลดฝุ่นได้จำนวนมาก 2.ไม่มีการประกาศมาตรการเวิร์คฟรอมโฮม ทั้งที่ กทม.ประกาศค่าฝุ่นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มมาตลอดสัปดาห์ ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ว่าฯกทม.ก็มีอำนาจเต็ม ดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรออะไร และ 3.กรณีที่ผู้ว่าฯกทม.เสนอไปยังรัฐบาลให้ลดเกณฑ์ตรวจค่าทึบแสงควันดำรถยนต์ จาก 30 เปอร์เซ็นต์เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจ ไม่ทราบว่าได้ดำเนินการให้ลดเหลือ10เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เนื่องจากยังพบว่ามีควันดำปล่อยออกมาจากรถอยู่
หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวอีกครั้งว่า ถ้าผู้นำทั้งสองระดับทั้งระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นร่วมมือสอดประสานกันจะสามารถดำเนินมาตรการหลายๆอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงขอแนะข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มที่ผู้บริหารทั้งสองระดับอาจจะดำเนินการทำแล้วแต่ยังทำไม่เพียงเพียงพอ 2. กลุ่มที่สื่อสารมาแล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำอย่างจริงจัง และ 3.กลุ่มที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ ส่วนเรื่องนโยบาย Low emissions zone ในกทม.หลายพื้นที่ยังไม่ครอบครุม ข้อเสนอคืออยากให้มีการพลักดันมาตรการดังกล่าวให้ครอบคลุมมากขึ้น และเรื่องอำนาจที่ยังไม่มากพอที่รัฐบาลส่วนกลางยังไม่มอบให้กับท้องถิ่น ดังที่กรุงเทพมหานครระบุว่ายังไม่มีอำนาจในการตรวจ จับ ปรับรถควันดำ ซึ่งต้องอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.การขนส่งทางบก ที่รอการสอดประสานจากรัฐบาลส่วนกลาง
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า เราเสนอผลักดันข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต แต่น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้กฤษฎีกาตีความว่ากรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจในการดำเนินการทำเอง แต่อย่าลืมว่ายังมีรัฐบาลระดับประเทศมีอำนาจเต็มในการที่จะออกกฎหมายลำดับรองหรือประกาศต่างๆ เพื่อกำหนดให้พื้นที่กทม.ต่อจากนี้อีกกี่ปีต้องใช้รถโดยสารพลังงานสะอาดส่วนเรื่องปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ทำอย่างไรให้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้สอดคล้องกับอายุของรถ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น และการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งกรุงเทพมหานครยังขาดอำนาจในการจัดการมลพิษในกทม. คือการรอประกาศกรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ ให้สามารถควบคุมมลพิษจากภาคขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การเผาภาคการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถขจัดปัญหาฝุ่นได้ ก็จะสามารถเป็นโรลโมเดล หรือแบบอย่าง ให้กับพื้นที่อื่นๆต่อไป อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 13 ก.พ.นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน สภาฯ จะมีการถกแนวการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง