สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

ตลอดรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีครั้งใดที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลังปะหน้านักข่าว แล้วไม่ถูกถามเรื่องชะตากรรมแรงงานไทยในอิสราเอลที่กลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน และความคืบหน้าในการดำเนินการตามนโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ตจำนวน 1 หมื่นบาทให้กับทุกคนไทยที่มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป …*…

เรื่องราวของแรงงานไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกันที่อิสราเอลนั้น แม้ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่านายเศรษฐา หรือรัฐบาลคงทำอะไรไม่ได้มาก ต้องรอลุ้นผลการเจรจาจาก 2 ชาติที่รับบทเป็นคนกลางคือการ์ต้า และอียิปต์กับกลุ่มฮามาส แต่ก็มีโอกาสจะกลายมาเป็นประเด็นส่งผลในแง่ลบต่อนายเศรษฐาได้ หากการปล่อยตัวประกันล็อตใหญ่จำนวน 50 คน ที่กำลังมีการต่อรองกันอยู่ ไม่ปรากฏว่ามี “คนไทย”ร่วมอยู่ด้วย …*…

เพราะแน่นอนว่า จะมีการย้อนกลับไปขุดการแสดงท่าทีของนายเศรษฐาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ซึ่งเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่าขาดความเป็นกลาง สร้างความสุ่มเสี่ยงให้ประเทศชาติอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับกลุ่มฮามาสที่โลกอาหรับหนุนหลังโดยไม่จำเป็น …*…

ส่วนกรณีแจกดิจิตอลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่ต้องใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้านบาทที่ยังเป็นประเด็นที่นายเศรษฐาถูกถามถึงทุกวันนั้น เพราะจนถึงนาทีนี้ นอกจากคำยืนยันจากนายเศรษฐาที่ว่าจะมีการกดปุ่มแจกดิจิตอลวอลเล็ตดังกล่าวในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ที่จะถึงนี้อย่างแน่นอนแล้ว ในอีกหลายๆ ข้อกังขากลับไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนจากนายเศรษฐา โดยเฉพาะที่ว่าจะเอาเงิน 5.6 แสนล้านบาทมาจากไหน และกระบวนการขั้นตอนการแจกเป็นอย่างไร ...*...

ไม่เพียงแต่ไม่มีการอธิบายให้ประชาชนได้คลายความกังวลต่อหลายๆ ข้อติติงจากกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการ อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติที่ได้เข้าชื่อเป็นหางว่าวคัดค้านโครงการแจกดิจิทัล วอลเล็ตนี้เท่านั้น หากแต่ยังมักมีการประดิษฐ์วาทกรรรมออกมาใช้ตอบโต้ทางการเมืองอีกต่างหาก ...*...

“โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหลุดพ้น “กับดักแห่งความเขลา” ที่มักอ้างวินัยการเงิน เอาใจผู้ปล่อยกู้ให้โขกดอกเบี้ยสูงๆ (และยิ่งสูงขึ้น) ในภาวะ “หนี้สาธารณะของรัฐบาล ต่ำกว่า หนี้ครัวเรือนท่วมประชาชน” บางช่วงบางตอนจากโพสต์ของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ...*...

จากนั้นนายกิตติรัตน์ก็ได้ออกมาโพสต์อีกหน เพื่อแสดงความเห็นหักล้างมุมมองของ นางรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.ที่เปรียบเทียบดิจิตอลวอลเล็ตเป็นเสมือน “เงินเลว” โดยนายกิตติรัตน์ได้ทิ้งท้ายโพสต์ดังกล่าวว่า “ผมช้ำใจทุกครั้ง ที่มีคนเรียกเราว่า “กะลาแลนด์” คือขยับซ้ายก็ไม่เอา ขยับขวาก็ไม่ยอม เอาแต่จมปลักทับปัญหาไว้ เราอย่าปล่อยให้ผู้คนส่วนใหญ่ แต่เสียงเบา ต้องลำบากยากจนแบบไม่คิดแก้ไขกันเลยนะครับ” ...*... 

ใครจะ “เขลา” ใครจะ“ฉลาด” อีกไม่นานเวลาจะเป็นเครื่องให้คำตอบ แต่ในเมื่อเป็นโครงการที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก  รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรไขทุกข้อสงสัยอย่างสร้างสรรค์ มากกว่ามุ่งในทางเหยียดหยัน ด้อยค่าผู้มีความเห็นต่าง เพราะสุดท้ายแล้วผลเสียจะตกอยู่กับรัฐบาลเอง ...*...

ที่มา:เจ้าพระยา (26/10/66)