สตูลชาวเลอุรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ เรียนรู้การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจชุมชน พร้อมใช้ภูมิปัญญาสร้างบ้านปลา
หอยนางรมตัวใหญ่เท่าฝ่ามือสดๆ จากท้องทะเลอันดามันจังหวัดสตูล ที่กลุ่มประมงชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ นำมาจัดวางเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว พร้อมซาชิมิปลาช่อนทะเล กุ้งมังกร หอยแมลงภู่ทอด จัดวางพร้อมเสิร์ฟให้นักท่องเที่ยวได้ชิมลิ้มรสชาติความอร่อย ใหม่และสด พร้อมผลิตภัณฑ์แปรรูปปลา และสัตว์น้ำในทะเลให้ช็อปเป็นของฝาก ซึ่งเป็นผลมาจากการทำประมงแบบอนุรักษ์ ของชาวเลอูรักลาโว้ย ที่มีสัตว์น้ำทะเลตัวใหญ่ให้รับประทานตลอดทั้งปี
และเพื่อเป็นการส่งเสริม การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและเศรษฐกิจชุมชน สำนักงานประมงจังหวัดสตูล ได้จัดโครงการส่งเสริม การมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัย สัตว์ทะเลชายฝั่ง โดยการฝึกอบรมชาวประมงพื้นบ้าน ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กฎหมายประมง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินการจัดฝึกอบรม จำนวน 4 รุ่น มีผู้เข้าร่วม จำนวน 36 ราย พร้อมโครงการประมงสร้างอาชีพชุมชน เพื่อการฟื้นฟูกู้วิกฤตโควิด-19
ซึ่งนายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นางนงคราญ ธรรมเพชร รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล ร่วมเป็นประธานส่งมอบเครื่องมือการประมง ในครั้งนี้ เช่น อวนลอยกุ้ง อวนจมปู อวนปลาทู ให้กับชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล โดยนายนิพนธ์ เสนอินทร์ ประมงจังหวัดสตูล กล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรม การทำในครั้งนี้พร้อมส่งมอบ ซั้งกอ จำนวน 9 แห่งๆ แห่งละ 150 ต้น จำนวน 3 แห่ง ที่บริเวณชายฝั่ง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล 3 แห่ง.
ที่บริเวณชายฝั่ง อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 1 แห่ง , บริเวณชายฝั่ง อำเภอละงู จังหวัดสตูล 3 แห่ง ,บริเวณชายฝั่ง อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูลอีก 2 แห่ง โดยการวางซั้งกอในพื้นที่บริเวณ หมู่ที่ 7 ตำบล เกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล (เกาะหลีเป๊ะ) เป็นแห่งแรก
ด้าน นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า โอกาสนี้ได้เดินทางมามอบเครื่องมือการทำประมงพื้นบ้านถูกกฎหมาย ตั้งแต่อวน กระชัง และซั้งในทะเล เป็นการต่อยอดอาชีพให้ชาวประมงพื้นบ้านที่เกาะหลีเป๊ะ หลังจากประสบปัญหาโควิด ทำให้พี่น้องชาวประมงและอาชืพอื่นประสบปัญหาในการดำรงชีวิต เป็นการแบ่งเบาภาระได้ระดับหนึ่ง ซึ่งทางจังหวัดจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ด้าน นายนิพนธ์ เสนอินทร์ ประมงจังหวัดสตูล กล่าวในโอกาสนี้ว่า ที่เกาะหลีเป๊ะ มีประชาชนกว่า 1,000 ราย 300 ครอบครัว ทางประมงจังหวัดเองก็ไม่ได้ทิ้งชาวประมง เห็นความสำคัญให้โอกาสกับทุกคน ในเมื่อชาวประมงทำการประมงใกล้ฝั่ง ได้สัตว์น้ำที่ค่อนข้างสด จึงแนะนำชุมชนในเรื่องการแปรรูปอาหาร ทั้งปลาดิบ ปลาแห้ง เพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน
ทางด้าน น.ส. ฉัตรพร พระอ๊ะ ชาวเลอุลักลาโว้ย กล่าวขอบคุณที่ภาครัฐมอบเครื่องมือทำการประมงให้ สามารถหาวัตถุดิบมาให้กลุ่มแม่บ้านต่อยอดทำเป็นสินค้าโอท็อป เป็นปลาแปรรูป กลุ่มแม่บ้านจะได้มีอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
สำหรับ ซั้งกอ เป็นเครื่องมือที่มาจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีมาแต่อดีต โดยมีไว้เพื่อความสะดวกในการจับ หรือทําการประมง โดยการนําซั้งไปทิ้งไว้ในทะเล นอกจากนี้ซั้งกอยังเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก