วันที่ 11 ต.ค. 2566 เวลา 11.30 น.ที่รัฐสภา ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศปปส. และนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับก้าวไกล ต่อตัวแทนของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
โดยนายอานนท์ กล่าวว่า เราเห็นว่าคนที่ยื่นแก้ไขกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าว ต่างเป็นผู้ที่กระทำการผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งนั้น ไม่ใช่แค่ความคิดต่างทางการเมือง แต่เป็นกฎหมายความมั่นคง เราจึงออกมาคัดค้าน เพื่อไม่ให้ร่างกฏหมายฉบับนี้ผ่านไปได้ ซึ่งไม่ว่าจะต้องทำด้วยวิธีใด เราก็จะทำ เพราะจากการฟังแถลงการณ์จากนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล แล้วรู้สึกคลางแคลงใจ สงสัยในรายละเอียดบางประการ อาทิ การนิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทําความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทาง การเมือง ซึ่งหมายรวมถึงบุคคลซึ่งได้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยหรือไม่ เพราะในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุแต่เพียงว่าไม่นิรโทษกรรมการกระทําผิดตามประมวลกฎหมาย อาญามาตรา 112นั้น ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่า บุคคลซึ่งได้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงใน มาตราอื่นๆด้วยใช่หรือไม่
นิยายของคําว่า “ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง” ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้คืออะไร เพราะยังมีความคลุมเครือระหว่าง“ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง” และ “ผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112” ซึ่งต้องแยกออกจากกันให้ชัดเจน
"ความคลุมเครือไม่ชัดเจนในเรื่องของ “ผู้กระทําความผิดอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง” ที่พรรคก้าวไกลบรรจุอยู่ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว อาจเหมารวมถึง “ผู้กระทําผิด เกี่ยวกับความมั่นคง หรือกฎหมายอาญามาตรา 112” เข้าไปด้วย ซึ่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่ในลักษณะ 1 ของความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1"
นายอานนท์ กล่าวว่า ทางศปปส. และกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงิน ขอให้พิจารณาเรื่องเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อ ผลประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และ หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง และเพื่อดํารงคงอยู่ไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลักของชาติ อันประกอบไปด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข