รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. ในฐานะรักษาการเลขาธิการ กสทช. ได้ลงนามในหนังสือเรื่องการบรรจุวาระเพื่อพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.เพื่อเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ถึงเลขาธิการ สดช. โดยระบุความตอนหนึ่งว่า "สำนักงาน กสทช. พิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงขอเสนอบรรจุวาระเพื่อพิจารณาให้ความเห็นร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. จำนวนทั้งสิ้น 5,828.5146 ล้านบาท"

ทั้งนี้ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช. ฉบับที่ นายไตรรัตน์ ลงนามส่งไปยังเลขาธิการ สดช.นั้นเป็นฉบับที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. โดยในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ครั้งที่ 19/2566 เมื่อวันที่ 21 ก.ย.66 ได้มีการทักทวงว่า ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.ที่ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมในวันนั้นยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีรายละเอียดให้คณะกรรมการ กสทช.พิจารณา จึงมีมติไม่เห็นชอบ และไม่ให้นำร่างงบประมาณรายจ่ายฯ เข้าสู่การพิจารณา

แหล่งข่าวระดับสูงกสทช.ระบุว่า การนำส่งร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ของสำนักงาน กสทช.ไปยัง สดช.หรือคณะกรรมการดีอี ถือเป็นการท้าทายอำนาจคณะกรรมการ กสทช. เพราะถือเป็นร่างงบประมาณฯ ที่ยังไม่ได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.แต่อย่างใด แต่ก็เชื่อว่าคงได้รับไฟเขียวจาก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ทำให้ นายไตรรัตน์ ลงนามในหนังสือถึงเลขาธิการ สดช. ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้อำนาจในการอนุมัติงบประมาณ และการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารและจัดการงบประมาณที่ได้กำหนดขั้นตอนในปฏิทินงบประมาณดังกล่าว เป็นอำนาจของคณะกรรมการ กสทช. นอกจากนั้นที่ผ่านมายังได้ทำการยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณ กสทช. และเปลี่ยนเป็นคณะทำงานพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อมติที่ผระชุม กสทช. ที่ต้องการให้กรรมการ กสทช.ทุกคนส่งผู้แทนที่มีความรู้ด้านงบประมาณมาเป็นอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณากลั่นกรองก่อนที่จะให้ คณะกรรมการ กสทช.ร่วมกันพิจารณาอนุมัติ แต่กลับไม่ดำเนินการตามมติและตั้งคณะทำงานฯ ซึ่งเป็นคำสั่งภายในของสำนักงาน กสทช. ที่รักษาการเลขาธิการ กสทช.เป็นผู้ลงนามแทน

"ปัจจุบันพนักงานกสทช.มีความอึดอัดต่อสิ่งที่ต้องดำเนินการที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย และขัดต่อมติ กสทช. หากหมดหนทางคงต้องมีการถวายฎีกาในการแก้ไขปัญหาภายในองค์กร"