วันที่ 26 ก.ย.66 นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า  กรมการข้าว มุ่งหวังอยากให้เกษตรกรได้นำเมล็ดพันธุ์ดีไปปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการดูแลอย่างพิถีพิถันเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกในปีต่อไปซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน เริ่มการเพาะปลูกข้าวและเมื่ออายุประมาณ 20-30 วัน เกษตรกร จะต้องตรวจดูข้าวพันธุ์ปนในแปลง โดยสังเกตจากสีต้น สีใบ ความสูงของลำต้น และวัชพืช “การตัดถอนพันธุ์ปนจะเริ่มตั้งแต่ระยะที่ 1 คือ ระยะกล้า ระยะที่ 2 คือระยะแตกกอ เกษตรกรสามารถถอนวัชพืช และข้าวพันธุ์ปนออกจากแปลงได้ในระยะนี้ ข้อสำคัญคือ ต้องใช้วิธีการถอนเท่านั้นและนำไปทิ้งนอกแปลงนา หากใช้วิธีการตัด ข้าวจะงอกขึ้นมาใหม่ ระยะที่ 3 คือ ระยะข้าวตั้งท้อง ซึ่งระยะนี้จะเห็นข้าวพันธุ์ปนได้ชัดเจน และในช่วงที่ระยะข้าวออกรวงเราสามารถสังเกตข้าวพันธุ์ปนได้จาก สีดอก สีใบ ลักษณะใบธง การชูของใบธง การเอียงของใบธง ความสูง-ต่ำ ลักษณะเมล็ดจะแตกต่างจากต้นอื่น ซึ่งถ้าเกษตรกรพบเจอจะต้องกำจัดออกจากแปลงให้หมด

ระยะที่ 4 ระยะก่อนการเก็บเกี่ยวหรือระยะข้าวโน้มรวง เกษตรกรจะต้องดูแลให้ดี อย่าให้มีพันธุ์อื่นปน คอยตรวจเช็คเรื่องโรคและแมลง หากต้นไหนเป็นโรคหรือพบเจอแมลงจะต้องทำลายโดยการตัดทิ้ง ส่วนพันธุ์ปนให้ถอนทิ้งออกไปจากแปลงนา และระยะที่ 5 ระยะสุดท้ายคือ การเก็บเกี่ยว ในส่วนที่ขายเมล็ดให้กับโรงสีเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวโดยรถเกี่ยวได้เลย เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จจะต้องตากให้แห้งและทำความสะอาด คัดพันธุ์ให้ดี แต่ควรเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน เพราะช่วงที่เก็บเกี่ยวเกษตรกรสามารถเช็คดูรวง ลักษณะรวงก่อนกะเทาะ ตากให้แห้งและเก็บรักษาไว้ใช้ในฤดูต่อไปได้อีกครั้ง

ด้านนาย สุนทร โนราช ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลก  เปิดเผยว่า นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว มอบหมายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพิษณุโลกดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ปี 2566 โดยมีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ให้แก่ชาวนา ส่งเสริมให้ชาวนาเปลี่ยนไปใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่ผลิตและจำหน่ายจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว  ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนในการกำจัดวัชพืชในพันธุ์ปน  ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้คือผลพลอยได้ที่เกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตรงความต้องการของตลาด ขายได้ราคาสูงขึ้น ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อยกระดับปริมาณและคุณภาพผลผลิตข้าวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

“สำหรับในปีถัดไป เกษตรกรท่านใดที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ และเป็นผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อน สามารถเตรียมความพร้อมในเรื่องของคุณสมบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือสามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวใกล้บ้านท่าน” อธิบดีกรมการข้าว กล่าวทิ้งท้าย