บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยฟื้นตัว หลังการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเชื่อมั่น และรอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,520-1,600 จุด แนะลงทุนใน 7 หุ้นเด่นได้ประโยชน์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ TNP-KK- CPALL-CPAXT-STEC-CK-ITD
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้คาดว่ามีโอกาสปรับตัวขึ้น โดยมีแรงหนุนจากการเมืองในประเทศที่มีเสถียรภาพมากขึ้น หลังสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงให้กรอบการแกว่งตัวของดัชนีที่ 1,520-1,600 จุด
ขณะที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (FED) แถลงสุนทรพจน์ในการประชุมประจำปีที่เมืองแจ๊กสัน โฮส รัฐไวโอมิง ส่งสัญญาณขึ้นหรือคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงเพื่อสกัดเงินเฟ้อแม้ว่าจะชะลอตัวลงแต่ยังคงอยู่ที่ระดับสูง ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 78.5% ที่ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 21.5% ที่ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% สำหรับการประชุมในเดือนพ.ย. นักลงทุนให้น้ำหนัก 51% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% และให้น้ำหนักเพียง 38% ที่ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะที่ให้น้ำหนัก 11% ที่ FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.75-6.00%
ด้านเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด ขณะที่กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนในเดือนก.ค. ปรับตัวลง 6.7%YoY ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ ส่วนเศรษฐกิจในประเทศ ธปท.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจในเดือนก.ย. จากการส่งออกที่ชะลอตัวและภาระหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงฉุดกำลังซื้อ รวมทั้งการที่ตลท.สรุปมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์สะสมตั้งแต่วันที่1 มกราคม-25 สิงหาคม 2566 พบว่านักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิสูงถึง 1.31 แสนล้านบาทเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในปีนี้
ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ อาทิ วันที่ 31 ส.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) แถลงดัชนีอุตสาหกรรม ส่วนปัจจัยต่างประเทศ อาทิ วันที่ 29 ส.ค. สหรัฐ รายงานราคาบ้านเดือนมิ.ย. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนส.ค.จาก Conference Board วันที่ 30 ส.ค. สหรัฐ รายงานตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค. GDP 2Q66 (ประมาณการครั้งที่ 2) ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนก.ค. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ วันที่ 31 ส.ค. จีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนส.ค. และอียู รายงานอัตราว่างงานเดือนก.ค. พร้อมทั้งสหรัฐ รายงานจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนก.ค. ส่วนวันที่ 19-20 ก.ย กำหนดประชุม FED ครั้งถัดไป ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์การลงทุนใน 7 หุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ TNP, KK, CPALL, CPAXT, STEC, CK และ ITD และหุ้นได้ประโยชน์จากกรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงทะเล ได้แก่ TU, ASIAN, TC และ CFRESH
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำสัปดาห์นี้ว่า ยังคงต้องจับตาการประกาศตัวเลขภาคแรงงานและดัชนีเงินเฟ้อส่วนบุคคลของสหรัฐ หากตัวเลขที่ประกาศออกมาสูงกว่าคาดการณ์จะมีผลให้ FED คงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปจะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำ
ฝ่ายวิจัยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังทรงตัวเหนือระดับ 3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟดที่ 2% เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและทรงตัวเหนือ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยระหว่างสัปดาห์มองราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบ 1,885-1,930$/oz คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้