วันที่ 25 ส.ค.2566 เวลา 11.00 น.ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ให้สัมภาษณ์ถึงภาพที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 พบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มองว่ามีนัยะอะไรซ่อนอยู่หรือไม่ว่า ก็ดูดี ดูบรรยากาศดี มีการพูดคุยกันไม่ใช่การเผชิญหน้ากัน ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในการที่จะมีรัฐบาลที่จะบริหารประเทศต่อไป ส่วนโผครม.ที่ออกมาจะเรียกความเชื่อมั่นได้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของข้อตกลงว่าแต่ละพรรคการเมืองที่มาร่วมให้เกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นอยู่กับการร่วมมือกันของแต่ละพรรค ดังนั้นเมื่อมีการตกลงกันแล้วก็เป็นไปตามที่ตกลง และเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้กับประชาน ซึ่งอาจจะมีการคำถามออกมาเยอะ แต่เชื่อว่าในเบื้องต้นคงจะดำเนินการไปได้ด้วยดี

เมื่อถามว่าภาพของ 2 นายกฯพบกันมีการตั้งข้อสังเกตว่ามีนัยะทางการเมืองอะไรหรือไม่ เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจต่อที่พล.อ.ประยุทธ์ ส่งต่อให้พรรคเพื่อไทย นายเสรี กล่าวว่า เรื่องสืบทอดอำนาจไม่น่าจะมี เพราะเป็นการส่งต่ออำนาจกัน ส่วนเรื่องการสืบทอดอำนาจ ไม่รู้จะสืบกันอย่างไร ขอให้มองในแง่ดีไว้ก่อนดีกว่า เพราะในการปรับเปลี่ยนรัฐบาลก็เป็นมารยาทกันอยู่แล้วที่ให้เกียรติพูดคุย และแสดงออกด้วยมิตรไมตรีต่อกัน ตนคิดว่าขอให้ประเทศเดินหน้าไปก่อน เพราะเรายุ่งๆมาระยะหนึ่งพอสมควรแล้ว ดังนั้นต้องให้โอกาสกันน่าจะดีที่สุด เพราะประชาชนก็อยากจะเห็นรัฐบาลที่สามารถทำงานได้ และทุกอย่างจะได้บเคลื่อนต่อไปได้ บางทีอะไรที่อยู่ในใจก็เก็บๆกันไว้ก่อน อย่าเพิ่งแสดงออกอะไรตอนนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่ารัฐบาลใหม่ทำงานอะไรไม่ได้ เพราะมีแต่เรื่องขัดแย้งกัน จึงต้องให้โอกาสกัน

เมื่อถามว่าในนาทีนี้ถือเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ ไม่ใช่เปลี่ยนผ่านได้แล้วหรือยัง  นายเสรี กล่าวว่า เป็นประชาธิปไตยที่ดีที่สุดในขณะนี้ แต่จะระดับไหน เต็มใบ ครึ่งใบ ก็มาจากการการเลือกตั้ง ประชาชนตัดสินใจเลือกตัวแทนมาแล้ว ตัวแทนก็เข้ามาบริหารจัดการ เลือกคนเข้ามาบริหารประเทศต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็เป็นประชาธิปไตยอย่างที่ต้องการ

เมื่อถามต่อว่าในอนาคตจะมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรในการทำงานหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจอย่างหนึ่งว่าการตั้งรัฐบาลร่วมที่มาจากพรรคการเมืองหลายๆพรรคคือจุดอ่อน  เพราะการมีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ แต่การที่มีพรรคการเมืองร่วมกันหลายๆพรรค ฉะนั้นความเห็นที่แตกต่าง และจะทำงานร่วมกันได้มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการร่วมแรงร่วมใจ เพราะเห็นมาหลายครั้งแล้วว่าการที่มีรัฐบาลหลายๆพรรคในที่สุดก็เกิดความเปราะบาง และขัดแย้งกัน แยกตัวกัน รัฐบาลก็อาจจะอยู่ลำบาก เพราะฉะนั้นก็เป็นเพียงการเริ่มต้น ส่วนจะอยู่อย่างมั่นคง มีเสถียรภาพเข้มแข็งหรือไม่อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่จะเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ หากเสนอนโยบายที่เห็นแก่กลุ่มตัวเองหรือฝ่ายตัวเองมากจนเกินไปก็อาจจะกลายเป็นความขัดแย้ง

“ถ้าเป็นเรื่องนโยบายที่ไม่สุจริต ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีจริยธรรม ไม่มีคุณธรรม ความเห็นที่ต่างก็จะเกิดขึ้นง่าย เพราะฉะนั้นรัฐบาลใหม่ที่ต้องขึ้นมาจะต้องตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์สุจริต ข้อสำคัญที่ต้องพูดกันคือต้องรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองให้เกิดขึ้น อย่าให้มีใครมากระทำผิดต่อกฎหมาย จนกระทั่งเกิดความแตกแยก และที่รับปากว่าจะไม่แก้มาตรา 112 รวมทั้งจะไปจัดทำรัฐธรรมนูญแล้วไม่นำสถาบันพระหากษัตริย์เข้ามาแก้ไขก็จะสามารถทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ แต่ถ้าพูดแล้วผิดคำพูดหรือไม่สนับสนุนคน หรือกลุ่มคน หรือพรรคการเมืองใดก็ตามที่กระทบกับสถาบัน นั่นคือจุดอ่อนที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐบ่าลใหม่ต้องคำนึงถึงจุดเปราะบางหรือจุดที่มีปัญหา ขอให้คิดดูให้ดี และไม่ทำในเรื่องเหล่านี้ ผมเชื่อว่าประเทศไทยก็สามารถอยู่สงบได้”นายเสรี กล่าว

เมื่อถามว่าในวันโหวตสว.มีความเห็นแตกต่างกันหลายคนประเมินว่าอาจจะมีผลต่อจุดยืนของสว.ในอนาคตที่เอื้อให้กับพรรคการเมืองบางพรรค นายเสรี กล่าวว่า ระยะเวลาสว.เหลือแค่ 10 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้นผลของการโหวตนายกฯก็ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ในอนาคตถ้าไม่มีการไปทำอะไรผิด ๆตนคิดว่าส.ว.ก็คงอยู่ในสถานภาพที่ใกล้จะหมดอายุ คงไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้น เพียงแต่ว่าถ้าไปทำอะไรผิด แล้วเกิดการไม่เห็นด้วยขึ้นมาก็จะกลายเป็นประเด็น จนถูกหยิบยกขึ้นมาก็จะกลายเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นรัฐบาลใหม่ก็ต้องทำสิ่งที่ดีงาม อย่าไปทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของประชาชน และขัดกระบวนการทางกฎหมายที่เป็นธรรม หรือจะออกกฎเกณฑ์อะไรก็ตามต้องคำนึงถึงประชาชนอื่นๆ ด้วย อย่าไปทำอะไรส่วนตัวหรือส่วนบุคคล จนประชาชนเกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจ หรือเกิดความรู้สึกเหลื่อมล้ำ ตนคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวรัฐบาลเอง