วันที่ 20 ส.ค.66 รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Harirak Sutabutr  ระบุว่า...

การที่พรรคเพื่อไทยแถลงว่า หากได้เป็นรัฐบาลและคนของพรรคเพื่อไทยได้เป็นนายกรัฐมนตรี วาระแรกของการประชุมคณะรัฐมนตรี จะเป็นการพิจารณาให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นวาระแห่งชาติ และให้มี ส.ส.ร. เพื่อดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ

คำถามคือ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมไปแล้ว จากที่ใช้บัตรลงคะแนน 1 ใบ มาเป็น 2 ใบ อย่างที่พรรคเพื่อไทยต้องการ สว.ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีก็จะสิ้นสภาพในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ต้องเลือกกันใหม่โดยวิธีใหม่ เพราะวิธีเดิมอยู่ในบทเฉพาะกาลก็สิ้นสภาพไปด้วยเมื่อครบ 5 ปี และจะไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป พรรคเพื่อไทยยังต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันในประเด็นใดอีกบ้าง

การตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จากผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันผ่านประชามติของประชาชนมาแล้ว จึงจะต้องทำประชามติเพื่อถามประชาชนก่อนว่า จะต้องการรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อร่างเสร็จแล้วยังต้องนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปผ่านการทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งการทำประชามติ 2 ครั้งต้องใช้งบประมาณครั้งละประมาณ 4,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 8,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.หากให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และค่าใช้จ่ายในการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งหมดทั้งค่าทำประชามติด้วยจะเกินกว่าหมื่นล้านแน่นอน ใช้เงินมากขนาดนี้เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่ออะไร เพื่อประเทศชาติจริงหรือไม่ หรือเพื่อสนองความต้องการของตัวเองและพวกตัวเอง

หากการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย ส.ส.ร.ไม่มีกรอบว่าจะไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 และให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ย่อมเข้าทางพรรคก้าวไกล เพราะพรรคก้าวไกลมีฐานเสียงในปัจจุบันมากพอที่จะส่งคนของพรรคให้ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.เกือบทุกจังหวัด และถ้าเปิดกว้างให้เปลี่ยนแปลงได้ทุกหมวดทุกมาตรา จะต้องมีความพยายามแก้ไขหมวด 2 ที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นอน

จากเว็บไซด์ของประชาไทยรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์ใน facebook เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดพระราชสถานะประมุขของรัฐ ศูนย์รวมจิตใจ และความเป็นกลางทางการเมือง

2. กำหนดพระราชอำนาจ ขอบเขตของเอกสิทธิ์และความคุ้มกันพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน

3. เปลี่ยนกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ให้เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์

4. ยกเลิกองคมนตรี

5. เปลี่ยนแปลงกระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ การเสนอพระนามองค์รัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

6. กำหนดให้พระมหากษัตริย์และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องปฏิญาณตน(ในสภาผู้แทนราษฎร)ก่อนเข้ารับหน้าที่

7. กำหนดกรณีที่พระมหากษัตริย์ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเปลี่ยนแปลงกระบวนการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสียใหม่ ให้สภาผู้แทนราษฎรเข้ามีอำนาจให้ความเห็นชอบ

8. กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ

9. ยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยในพระบรมราชโองการแต่งตั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า ให้คงไว้เพียงการลงพระปรมาภิไธยบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไดยและอำนาจตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อ้นได้แก่ รัฐมนตรี ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

10. ยกเลิกพระราชอำนาจในการยับยั้งในการลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้กฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากสภา

แนวทางในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหมวด 2 อันเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นแนวทางที่จะตัดทอนพระราชอำนาจ ลดความสำคัญ จำกัดบทบาท จำกัดการใช้จ่ายของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกันเพิ่มบทบาทและความสำคัญของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งดูเหมือนจะต้องการให้มีสภาเดียว ไม่มีวุฒิสภา อันเป็นการสะท้อนความมีอคติและความเข้าใจผิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

เรามาลองพิจารณาแนวทางข้างต้นบางแนวทาง ดังนี้

การกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องปฏิญาณตน ซึ่งเข้าใจว่า ให้ปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นการให้ความสำคัญต่อสภาผู้แทนราษฎร และเป็นการเข้าใจผิดโดยเชื่อว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารทุกครั้ง และยังเข้าใจผิดคิดว่าพระมหากษัตริย์ไม่เคยต้องปฏิญาณตน แต่ข้อเท็จจริงคือ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระมหากษัตริย์ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งก็คือการปฏิญาณตนตามโบราณราชประเพณีอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปฏิญาณตนในที่อื่นๆอีก ซึ่ง อ.ปิยบุตรต้องการให้พระมหากษัตริย์ปฏิญาณตนในสภาผู้แทนราษฎรว่า

“ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศด้วยความซื่อสัตย์ เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่ตราขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรทุกประการ”

วิญญูชนก็คงบอกได้ว่า อ.ปิยบุตรต้องการให้พระมหากษัตริย์ปฏิญาณคนต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออะไร

การยกเลิกองคมนตรีก็เท่ากับเป็นการไม่ให้พระมหากษัตริย์มีผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆเพื่อเป็นคณะที่ปรึกษาในการประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ รวมทั้งไม่ให้มีผู้ที่ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ คงต้องการให้พระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์เท่านั้น ไม่ต้องมีพระราชกรณียกิจใดๆเลย

การยกเลิกการลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งฝ่ายทหาร และพลเรือนตำแหน่งปลัดกระทรวงและอธิบดีหรือเทียบเท่า เหลือเพียงให้ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งรัฐมนตรี ตุลาการศาลปกครอง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เป็นการทำลายความสัมพันธ์และความภาคภูมิใจของทหารและข้าราชการประจำระดับสูง ที่มีต่อองค์พระมหากษัตริย์

การให้กำหนดระบบเงินรายปีแก่พระมหากษัตริย์ และให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจในการกำหนดวงเงินและอนุมัติ เป็นความเข้าใจผิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงได้รับเงินจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้จ่ายส่วนพระองค์ ซึ่งไม่จริง เพราะเงินงบประมาณแผ่นดินใช้เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อส่วนรวมเท่านั้น และสำหรับเงินงบประมาณแผ่นดินส่วนนี้ก็ต้องได้รับอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว

การกำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่ากับเป็นการตัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการที่จะแต่งตั้งผู้ที่ทรงไว้วางพระทัยเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยให้เป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการมิบังควรอย่างยิ่ง

นี่คือทิศทางของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในหมวดที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ หาก ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

อ.ปิยบุตรให้เหตุผลว่า มีคนเป็นจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนที่มองสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนอย่างที่คนทั่วไปมองมาทั้งชีวิต ทำให้เกิดการช็อกและโกรธ อาฆาตเพราะไม่เคยเห็นการแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์แบบนี้มาก่อน จึงทำการไล่ล่าพวกเขาด้วย "นิติสงคราม" แต่ไม่ว่าพวกเขาจะถูกปราบปราม ต้องถูกดำเนินคดี หรือถูกนำเข้าห้องขัง ก็ไม่มีทางเปลี่ยนความคิดพวกเขาได้ อ.ปิยบุตรสรุปว่า ทุกคนต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นความจำเป็นของยุคสมัย ทุกคนต้องร่วมกันปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เพื่อรักษาสถาบันกษัตริย์ และเพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นราชอาณาจักร ไม่ใช่สาธารณรัฐ เพื่อรักษาประชาธิปไตย ให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน

มีคำถามอีกในประเด็นนี้ว่า การที่มีคนจำนวนไม่น้อยมีความรู้สึกและแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่เราได้เห็นในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เป็นเพราะมีขบวนการป้อนข้อมูลเท็จบ้างจริงบ้างต่อเยาวชนในทุกรูปแบบทุกช่องทางอย่างไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่ในชั้นเรียนในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียน และที่สำคัญและมีพลังมากคือใน social media เพื่อสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มาเป็นเวลานานแล้วหรอกหรือ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มึความเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก็ยังเชื่อว่า คนกลุ่มนี้ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะใน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีทัศนคติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แบบพรรคก้าวไกล และจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งมีประมาณ 39 ล้านคน แปลว่ายังมีคนอีก 25 ล้านคนที่ไม่ได้เลือกพรรคก้าวไกล และยังมีคนอีกประมาณ 12 ล้านคนที่ไม่ได้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนั้นไม่อาจเหมารวมว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นดีเห็นงามไปกับพรรคก้าวไกล

หากองค์พระมหากษัตริย์ไม่มีทศพิธราชธรรม ทรงกระทำการที่เป็นการสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชน และไม่ทรงปรับพระองค์ ในที่สุดสถาบันพระมหากษัติย์ก็จะเกิดความเสื่อม และในที่สุดก็จะดำรงอยู่ไม่ได้เอง ไม่ต้องให้ใครมาแสดงความหวังดี แต่อาจประสงค์ร้ายเช่นนี้

ขอถามพรรคเพื่อไทยว่า อยากร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่ออะไรกันแน่ ไม่มีประโยชน์อะไร หาก ยืนยันหนักแน่นว่า จะไม่แตะต้องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่กลับปล่อยให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญหมวด 2 และอาจเปลี่ยนแปลงหมวด 1 ด้วย เนื่องจากพรรคก้าวไกลมีท่าทีไม่ปฏิเสธการประกาศเอกราชเพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีนโยบายกระจายอำนาจที่ไปไกลถึงขั้นให้แต่ละจังหวัดปกครองตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงอยากให้ประชาชนชาวไทยได้ตื่นรู้ว่า หากยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย สถาบันพระมหากษัตริย์จะถูกปู้ยี่ปู้ยำอย่างที่คนที่ยังคงเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ยอมรับไม่ได้

ด้วยเหตุผลทั้งหมดข้างต้น จึงยังเห็นว่า จะอย่างไร คุณเศรษฐา ทวีสิน หากได้รับการเสนอชื่อต่อสภาจริง ก็จะไม่มีทางได้รับคะแนนเสียงที่ให้ความเห็นชอบถึง 375 เสียง เพราะ สว.ส่วนใหญ่จะไม่เอาด้วย

ขอย้ำอีกครั้งและจะย้ำเรื่อยๆว่า พระสยามเทวาธิราชมีจริง ศักดิ์สิทธิ์จริง