สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...
ผลการเลือกตั้งซ่อมครั้งล่าสุดที่จังหวัดระยอง ถึงจะเป็นการสู้กันระหว่าง 2 พรรคฝ่ายค้าน ก้าวไกลกับประชาธิปัตย์ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ...*...
ความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ว่านี้ จะลากยาวไปถึงการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งหน้าตามที่พรรคก้าวไกลไกลวาดหวังไว้หรือไม่นั้น ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ผลงานของรัฐบาลเศรษฐาในการกอบกู้กระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ดูเหมือนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะมั่นใจใน “ไม้เด็ด” นโยบายใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท แจกเงินผ่านทางดิจิทัลวอลเล็ตให้กับประชาชนจำนวนกว่า 50 ล้านคนๆ ละ 10,000 บาท ...*...
“ด้วยสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ประเทศไทยเปรียบเหมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงโควิด-19 จนมีความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจและกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มความเชื่อมั่น ดึงดูดการลงทุน นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง จะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง กระจายไปทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบ รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบภาษี และจะช่วยวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้ประเทศ เตรียมความพร้อมเข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความเชื่อมั่นต่อมาตรการนี้ระหว่างการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ...*...
จริงๆ แล้วจะว่าไป โดยเนื้อแท้ของมาตรการแจกเงินดิจิทัลจำนวน 10,000 บาทดังกล่าว ไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่ หรือมีอะไรที่ซับซ้อน เพราะไม่ต่างอะไรกับการการแจกคูปองให้แก่ประชาชนนำไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าต่างๆ ภายใต้เงื่อนไข และกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เพียงแค่ใช้คำว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต”มาเรียกแทนคูปอง ให้ฟังดูโก้เก๋ทันสมัยขึ้นเท่านั้น ...*...
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง “กรุงเทพธุรกิจ” นำเสนอความเห็นของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ซึ่งมีมุมมองสวนทางกับนายกฯว่า แม้รัฐบาลเพื่อไทยจะตั้งเป้าให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่หากใช้วิธีการแจกเงินที่เรียกว่าดิจิทัลวอลเล็ต การเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับ 5% จะโตได้แค่ปีเดียว หรือเต็มที่คือ 2 ปีเท่านั้น ...*...
“การใช้เงินจำนวนมากของรัฐบาล สมมุติจะใช้ 5.6 แสนล้านบาทในการแจกคนละ 10,000 บาท ก็จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ได้ในปี 2567 ที่ใช้มาตรการ จากนั้นพลังของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะหมดอย่างรวดเร็ว และรัฐบาลก็จะหมดกระสุนในการอัดฉีดเศรษฐกิจด้วย เนื่องจากใช้เงินก้อนโต และใช้เงินลงไปอย่างที่ไม่ตรงจุดเท่าไหร่” ประธานทีดีอาร์ไอระบุพร้อมกับชี้ว่าถ้ารัฐบาลนำเงินจำนวนนี้ไปลงทุนเพื่อให้คนเก่งขึ้น มีทักษะมากขึ้น ส่วนนี้จะได้ผลดีต่อประเทศในระยะยาว เพราะคนมีทักษะและความรู้มากขึ้น จึงควรต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขของการแจกเงินที่เน้นด้านการบริโภค มาเป็นเพื่อก่อให้เกิดการลงทุนด้วย เช่นการกำหนดให้เงินที่ได้รับแจกไป 10,000 บาท ต้องแบ่งเป็น 5,000 บาท สำหรับนำไปสร้างทักษะอัพสกิล รีสกิล ที่จะทำให้แรงงานมีทักษะมากขึ้น และส่งผลดีกับผลิตภาพของแรงงาน หากสามารถทำให้คนเก่งขึ้นได้ การขึ้นค่าจ้างค่าแรงก็จะทำได้ง่าย เพราะนายจ้างยินดีที่จะจ่ายให้กับแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น โดยที่รัฐไม่ต้องไปทำอะไรมาก ค่าแรงจะขึ้นโดยธรรมชาติ และการประกาศค่าแรงขั้นต่ำนั้นเอาไว้สำหรับคนกลุ่มเล็กๆ ไม่จำเป็นต้องกำหนดให้เป็นกลุ่มใหญ่ เพราะแรงงานส่วนใหญ่เมื่อทักษะเพิ่มขึ้น ค่าแรงจะมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ...*...
ทั้งนี้นายสมเกียรติยังได้ย้ำด้วยว่า นโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรงคือจำเป็นที่จะต้องลงทุน ลงทุนไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภค เพราะการกระตุ้นการบริโภคเป็นการตอบโจทย์ทางการเมืองในการระดมคะแนนเสียง ...*...
อีกไม่นานก็คงได้คำตอบ นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง เป็นผลบวกหรือลบต่อพรรคเพื่อไทย รวมถึงพรรคก้าวไกลมากน้อยเพียงใด
ที่มา:เจ้าพระยา (14/09/66)