สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...

จากข้อมูลผู้สูงอายุในประเทศไทยที่บันทึกไว้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 12,519,926 คน คิดเป็นสัดส่วน 18.94 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ 66,090,475 คน ...*...

โดย 10 จังหวัดที่มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดคือ 1. กรุงเทพฯ 1,180,095 คน 2.นครราชสีมา 590,535 คน 3.เชียงใหม่ 378,920 คน 4.ขอนแก่น 350,624 คน 5.อุบลราชธานี 311,553 คน 6.นครศรีธรรมราช 295,434 คน 7.บุรีรัมย์ 279,596 คน 8.อุดรธานี 266,889 คน 9.นนทบุรี 260,948 คน และ 10.ศรีสะเกษ 260,754 คน ...*...

เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมการหาเสียงเลือกตั้งใน 10 จังหวัดดังกล่าวที่เพิ่งผ่านมา ถึงมีหลายพรรคชูนโยบายเรื่องเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ และได้รับกระแสการตอบรับเป็นอย่างดี ...*...

จึงเป็นที่น่าแปลกใจว่า เพราะอะไร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงมหาดไทยถึงได้เดินหน้าสวนทาง ด้วยการออกประกาศระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 โดยสาระสำคัญคือ ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ...*...

และเป็นไปตามความคาดหมายที่เรื่องนี้ได้ กลายมาเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง  ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจากทุกขั้ว ไล่ตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช ออกมาชูธงคัดค้านสุดตัว ด้วยการชี้ว่า การปรับเปลี่ยนเกณฑ์ดังกล่าว ถือเป็นการสร้างความสับสนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา เกณฑ์ที่ตั้งไว้แต่เดิมก็เป็นที่เข้าใจของประชาชนอยู่แล้ว แต่เมื่อมีการประกาศเกณฑ์ใหม่ กำหนดให้ กผส. เป็นผู้กำหนดนั้น มองว่าอาจจะเป็นการตีเช็คเปล่าให้ กผส. กำหนดเกณฑ์ได้ตามใจชอบ โดยไม่ได้อ้างอิงกับความเป็นจริงของปัญหาในผู้สูงอายุแต่ละพื้นที่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ...*...  

“รวมทั้งการออกระเบียบนี้ เป็นการออกประกาศแบบที่ประชาชนไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อน เปรียบเสมือนเป็นการลักหลับ โดยมาเฉลยทีหลังว่า ต่อจากนี้ไป ผู้สูงอายุที่ยากจนอาจจะไม่ได้เบี้ยยังชีพทุกคน ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทางกระทรวงมหาดไทย ดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบฯ โดยกลับไปใช้เกณฑ์เดิมที่ประชาชนคุ้นเคยกันดี เกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และการออกระเบียบใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่มาออกระเบียบแบบที่ไม่ให้ใครตั้งตัว” ความเห็นจากส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ...*...

สอดรับกับท่าทีของพรรคก้าวไกลที่ได้ออกมาคัดค้านผ่าน นายชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล ว่าพรรคไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุการที่กระทรวงมหาดไทยได้มีประกาศออกมา เพราะสวัสดิการควรจะเป็นสิทธิของทุกคน ไม่ใช่การสังคมสงเคราะห์ที่จะต้องมาพิสูจน์ความจน ...*...

“การปรับนโยบายเรื่องสวัสดิการที่เป็นเรื่องใหญ่กระทบกับคนจำนวนมาก ไม่ควรทำในช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาลใหม่เป็นอย่างยิ่ง คิดว่าเมื่อรัฐบาลใหม่ไม่ว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี คงจะต้องเร่งทบทวนเรื่องนี้ เรายืนยันว่านโยบายสวัสดิการควรจะถ้วนหน้า การมีสวัสดิการถ้วนหน้าไม่ได้เป็นการเอาเงินไปให้คนรวย ข้อมูลทางวิชาการต่างๆ ชัดเจนว่าสวัสดิการช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และคนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องดังกล่าวส่วนใหญ่คือคนที่มีฐานะปานกลางและยากจน ดังนั้น หลายคนอาจจะไม่เข้าใจ มองว่าการให้สวัสดิการถ้วนหน้าโดยไม่แยกแยะว่าใครรวย หรือจน จะทำให้ใช้ภาษีของประชาชนโดยสิ้นเปลือง แต่ความเป็นจริงไม่ใช่อย่างนั้น ที่ผ่านมาการพิสูจน์ความจนนั้นมีปัญหาเยอะ เพราะมีคนตกหล่นจากการพิสูจน์ความจนอยู่ไม่น้อย”เลขาฯพรรคก้าวไกลระบุ ...*...

ขณะที่มีคำอธิบายจาก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย ว่าการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการแก้ไขหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในลักษณะที่ทำให้อาจเชื่อได้ว่า ทำให้กระทบกับสิทธิของประชาชนนั้นเป็นการเข้าใจผิด ...*...

“ขอทำความเข้าใจพี่น้องประชาชนผ่านไปยังสื่อมวลชน เพื่อช่วยกันสร้างการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องกับพี่น้องประชาชนว่า การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ต้องเป็นไปตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นฝ่ายเลขานุการ เป็นผู้กำหนด กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ต้องออกระเบียบเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเบิกจ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุตามหลักเกณฑ์ได้” ถ้อยแถลงจากรัฐมนตรีมหาดไทย ...*...

พร้อมกับมีการขยายความเพิ่มเติมจากนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป ...*...

ก็ต้องรอดูต่อไป ในที่สุดแล้วประเด็นนี้จะกลายเป็นดราม่าการเมือง ผลักให้กลุ่มผู้สูงวัยกลายไปเป็น”ด้อมส้ม”มากขึ้นหรือไม่

ที่มา:เจ้าพระยา (17/08/66)