หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขายข่าวขายความจริงให้ประชาชนคนไทยได้อ่านมาอย่างต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประเทศไทยฉบับนี้ ประจำวันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2566  ความผิดคนอื่นเท่าภูเขา ความผิดตัวเราเท่าเส้นขน ...*...

ขนาด คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ให้โอกาสนักเลือกตั้ง ชิงประกาศรับรอง 500 สส. จากสองบัญชี เลือกตั้งเขต 400 คน และ บัญชีรายชื่อ 100 คน ด้วยนโยบาย ประกาศรับรองไปก่อน แล้ว ค่อยตรวจสอบสอยทีหลัง ทำให้มีความหวังว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่โดยเร็ว แต่จนแล้วจนรอด ผ่านมา 3 เดือน 2 วัน แล้ว ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ หน่ำซ้ำ ยังเพิ่มความขัดแย้งกันเอง ถึงขนาด ต่างฝ่ายต่างจัดม็อบลงถนน และ โจมตีกันไปมาในโลกโซเชียลทุกแพลมฟอร์ม ชนิดไม่มีใครยอมใคร พฤติกรรมยิ่งกว่าเผด็จการ พวกประชาธิปไตยจอมปลอม ...*...

ถูกตราหน้า ว่า เป็นเผด็จการ แต่ รัฐบาลลุงตู่ คือผู้อยู่เบื้องหลัง ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวดการเลือกตั้ง ให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และ บัญชีรายชื่อหารร้อย คล้อยตาม พรรคเพื่อไทย แกนนำใหญ่พรรคฝ่ายค้าน ท่ามกลางเสียงต่อต้านพรรคเล็กพรรคน้อย ที่ สนับสนุนรัฐบาล ที่นี่ บารอน ถึงว่า การเมืองไทยบิดเบี้ยว ที่อยู่ๆ เผด็จการเลี้ยวหักมุมเป็นประชาธิปไตย ส่วน ประชาธิปไตยกลายพันธุ์เป็นเผด็จการ ด้วยการ ใช้ม็อบกดดันรัฐสภา และ พรรคการเมืองที่เห็นต่าง เป็นรอยด่างประชาธิปไตยไปแล้วครับ ...*...

ในกติกาเลือกตั้งใหม่ที่เสียเปรียบ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เพื่อ จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เท่ากับ คืนอำนาจให้ประชาชน และ ถอดเครื่องแบบประกาศตนลงสู่ถนนการเมืองเต็มตัว ด้วยการ ตั้งพรรคการเมืองใหม่ ได้ชื่อว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยการ เป็นสมาชิกพรรค ในตำแหน่ง ประธานยุทธศาสตร์ และ แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี ยังไม่วายโดนโจมตีด้วยวาทกรรม เป็นฝ่ายเผด็จการ ทั้งๆที่ ถอดเครื่องแบบหัวโขน กระโจนเข้าสู่ถนนประชาธิปไตย เอากบาลส่วนไหนมาคิด ...*...

เหมือนติดปีกให้พรรคเพื่อไทย ด้วยกติกาเลือกตั้งใหม่ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หารร้อย ถอยแคมเปญหาเสียง แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน หวังกินรวบ ได้ สส.บัตรเลือกตั้งสองใบควบ 310 เสียง เพียงพอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ ประมาณการผิดปีกหัก เลือกตั้งได้มาเพียง 141 เสียง เป็นพรรคอันดับสอง รองจาก พรรคก้าวไกล ที่ ไปไกลเกินฝัน ถึงขั้นขึ้นแท่น เป็นพรรคอันดับหนึ่ง 151 เสียง ...*...

แทนที่ พรรคอันดับหนึ่ง กับ พรรคอันดับสอง จะต้อง แยกกันจัดตั้งรัฐบาล ด้วยการ ไปรวบรวมพรรคการเมืองอื่นๆให้เข้ามาร่วม ฝ่ายใดได้เสียงข้างมาก เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ คือ 251 เสียงขึ้นไป จะได้ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เพราะ พรรคเพื่อไทยเล่นบทดรามาเกินไป ฝืนใจ ไปร่วมกับพรรคก้าวไกล  ทำเป็นสุภาพบุรุษการเมือง สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งๆที่ สองพรรคนี้ เปรียบไปเหมือนปลาคนละน้ำ มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันคนละขั้ว ฝ่ายหนึ่งก็อุดมการณ์สุดโต่ง อีกฝ่ายก็เสรีนิยมเต็มตัว พรรคก้าวไกลก็กลายเป็นบัวแล้งน้ำ แห้งตายไปในที่สุด ...*...

 เมื่อกล้าวางลง และ ปลงได้ คนสบายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหลือภารกิจทางการเมืองอยู่เรื่องเดียว นายกรัฐมนตรี ใน รัฐบาลรักษาการ เพื่อ รอส่งมอบตำแหน่งให้รัฐบาลใหม่ ที่มี พรรคเพื่อเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่เสนอ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนักธุรกิจค้าขายที่ดิน เป็นนายกรัฐมนตรี ...*...

ที่ยังต้องผ่านขวากหนาม มารผจญ ด่านแรกคือ ข้อกล่าวหาเรื่องจริยธรรม ของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และ ด่านที่สอง คือ เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่ ต่อต้านนโยบายให้เลือกนายกรัฐมนตรีก่อน แล้ว ถึงค่อยมาคุยเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรี และ ด่านสุดท้าย คือ เสียงสนับสนุนจาก สว. ที่ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการตั้ง สสร.ให้มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ...*...

 บรรทัดนี้ บารอน เห็นด้วยกับ วุฒิสมาชิก ที่ ไม่เห็นด้วยให้มีการเลือกตั้ง สสร.มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ ยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่านั้น ซึ่ง ก็เป็นหน้าที่ ของ ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ 500 สส. ที่ ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ทำไม ต้องไปเลือกตั้ง สสร.ให้มาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เสียเวร่ำเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณเปล่าๆปลี้ๆ หรือ จะจี้ให้ถึงใจดำ สส. ที่ ต้องการขอแก้ไขกฎหมายปราบโกง ที่ ไม่มีวันหมดอายุความ และ กำหนดโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ถึง ประหารชีวิต แต่ไม่กล้าพูดออกมา ...*...

แต่วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยคำร้องผ่าน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ มติรัฐสภาเสียงข้างมากไม่ให้มีการโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯรอบสอง ว่า ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ มาลุ้นกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะออกช่องไหน หนึ่งไม่รับคำร้อง และ สองเลื่อนออกไป กับ สามรับคำร้องไว้วินิจฉัย ...*...

 ประสา บารอน มองทิศทางลมแล้ว เป็นไปได้สองทางมากกว่า คือ หนึ่งไม่รับคำร้อง เพราะ เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ เป็นกิจการของรัฐสภา และ เป็นเรื่องที่รัฐสภาต้องไปดำเนินการเอง ส่วนอีกทางคือ อาจจะต้องเลื่อนการวินิจฉัยออกไป เพราะ คณะผู้ร้องคณะที่ 3 ที่ มีอยู่ 14-15ราย ยังไม่ได้ยื่นคำร้องมายังศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขีดเส้นตาย ภายในวันอังคารที่ 15 นี้ที่ผ่านมา ถ้ายังไม่ยื่น ก็คง ต้องเลื่อนการวินิจฉัยออกไป เนื่องจาก เป็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เลื่อนไม่ได้ แม้คำวินิจฉัยจะออกมาเหมือนเดิม

ที่มา:บารอน (16/8/66)