สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...

การเมืองเรื่องของการแย่งชิงอำนาจ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกเป็นตัวแปรสำคัญ ทำให้แม้ผ่านพ้นการเลือกตั้งใหญ่มาแล้วเกือบ 3 เดือน ยังไม่มีใครสามารถฟันธงด้วยความมั่นใจ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่า นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทยจะชื่ออะไร ...*...

ขณะที่ชัดเจนแล้วว่า เราจะได้เห็น “รัฐบาลข้ามขั้ว” อย่างแน่นอน เพราะที่เคยหวั่นเกรงกันว่าจะเป็นชนวนให้เกิดม็อบครั้งใหญ่นั้น ทว่า เมื่อประเมินสถานการณ์ชุมนุมประถมล่าสุดแล้ว ด้วยพฤติกรรมถ่อยเถื่อนของมวลชนบางกลุ่ม เป็นผลให้กระแสตีกลับ ผู้คนเกิดความรู้สึกในแง่ลบแต่ม็อบ จึงทำให้ปัญหาม็อบเป็นที่วิตกน้อยลง ...*...

อีกทั้งเริ่มมีเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ จากภาคเอกชนต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ก่อนที่สถานการณ์เศรษฐกิจจะย่ำแย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ...*...

เพราะวันนี้ ไม่เพียงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไขจัดการ เนื่องด้วยมีสัดส่วนเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของไทย (จีดีพี) สูงถึง 90.6 เปอร์เซ็นต์ เกินกว่าเกณฑ์ความมั่นคงของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ ที่ควรจะอยู่ประมาณ 80% ของจีดีพี ...*...

“ในเบื้องต้นหนี้ของคนไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นห่วง มี 4 ประเภท คือ 1.หนี้เสียเกิน 3 เดือนหรือหนี้เอ็นพีแอล ที่ต้องเร่งแก้ไขช่วยเหลือ 2.หนี้เรื้อรัง หรือลูกหนี้รายได้น้อย ที่ไม่สามารถที่จะผ่อนหนี้ได้หมดเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถผ่อนหนี้หมดไป 3.หนี้ที่เกิดขึ้นเร็วตั้งแต่ผู้กู้อายุน้อย และพบว่าหนี้ส่วนนี้มีโอกาสกลายเป็นหนี้เสียสูง และ 4.หนี้นอกระบบ ความกังวลจากนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ...*...

ตอกย้ำด้วยข้อมูลจากนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณการซึมตัวต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่มิ.ย.-ก.ค.66 เพราะสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่นิ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจขาดแรงขับเคลื่อน และหากความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังลากยาวเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดโมเมนตัมที่จะไปในทิศทางขาขึ้นได้ ...*...

“หวังว่าจะเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่เกินเดือนกันยายนนี้ เพื่อให้มีนโยบายเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ เพีื่อช่วยให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในปี 2566 สามารถเติบโตได้ 3.5 เปอร์เซ็นต์ ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้” นายธนวรรธน์ระบุ ...*...

สำหรับการก่อหวอดชุมนุมประท้วงของกลุ่มมวลชนต่างๆ ในเวลานี้นั้น มีมุมมองจากนายธนวรรธน์ว่ายังเป็นการชุมนุมเพียงระยะสั้น ไม่ได้มีการชุมนุมต่อเนื่องปักหลักค้างคืนเหมือนในอดีต ดังนั้นเชื่อว่าการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เพราะเป็นการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในกรอบที่นานาประเทศยอมรับได้ แต่หากมีการปักหลักชุมนุมยืดเยื้ออาจมีผลต่อเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่เป็นฤดูกาลท่องเที่ยวได้ ...*...

“คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยปีนี้ จะเห็นตัวเลข 25-28 ล้านคนอย่างแน่นอน จากที่ล่าสุดในช่วงครึ่งปีแรกมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วประมาณ 13 ล้านคน เนื่องจากยังไม่มีปัจจัยที่จะเข้ามากระทบการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันหรือค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่แพงมาก ไม่มีปัญหาโรคระบาดใหญ่ที่ทำให้คนไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยว และไม่มีเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่รุนแรง”มุมมองจากประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ...*...

ก็ได้แต่วาดหวังว่าทุกฝ่ายที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ในเวลานี้ จะเห็นแก่ส่วนรวม ลดละการกระทำที่อาจทำลายภาคธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่พึ่งหวัง และแรงขับเคลื่อนสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในยามนี้

ที่มา:เจ้าพระยา (10/08/66)