“สยามรัฐ” ยืนหยัดอยู่บนบรรณพิภพ และสังคมออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม ด้วยปณิธาน “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” แปลว่า “พึงชมคนที่ควรชม พึงข่มคนที่ควรข่ม”...*...
อะไรก็เกิดขึ้นได้ กับการเมืองไทยและปัจจัยเหนือการเมืองที่ทำให้โซเชียลเดือดระอุกลางดึกคืนวันอาทิตย์จนถึงเช้าวันจันทร์!! …*…
ในทางกลับกันดีเดย์กลับไทย 10 สิงหา ของ ทักษิณ ชินวัตร กลายเป็นเรื่อง “เพ้อเจ้อ” มีอันต้องเลื่อนออกไป โดยอ้างคำสั่งหมอที่เรียกให้ไปตรวจร่างกาย ที่ระหว่างนั้นดันมีภาพร่วมเฟรมในคลิปวิดีโอ งานเลี้ยงวันเกิดของ “สมเด็จฮุนเซน” อดีตผู้นำกัมพูชาออกมาพร้อมหน้าทั้ง “ทักษิณ” และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร...*...
แม้สื่อต่างชาติจะไม่ได้รายงานต่อว่าจากกัมพูชาแล้ว “ทักษิณ” ไปไหน กลับดูไบหรือปักหลักที่สิงคโปร์ แต่ที่น่าสนใจ คืออีก 2 สัปดาห์ที่บอกเอาไว้ว่ากลับไทย จะได้กลับไหม?..*...
ด้วยปัจจัยกลับ-ไม่กลับของ “ทักษิณ” ไม่ได้ผูกโยงเฉพาะการกุมอำนาจรัฐของพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่เจ้าตัวตั้งความหวัง ในการลดโทษเอาไว้ด้วย เพราะคราวที่รัฐบาลน้องสาวมีอำนาจ เป็นนายกฯ “ทักษิณ” ยังไม่กล้ากลับเลย ฉะนั้น หากอะไรๆไม่เป็นดังหวังอยู่ดูไบ ก็น่าจะสบายใจกว่า...*...
ยิ่งสถานการณ์ของเพื่อไทย เปลี่ยนจาก “รุก” กลายเป็น “รับ” เกมตกมาอยู่ในมือของ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่เป็นฝ่ายได้เปรียบ ยกตัวเลข 80 ส.ว.สายบ้านป่ารอยต่อ บวกพลังประชารัฐอีก 40 ขย่ม และบล็อกภูมิใจไทยอีก 71 ไว้ ให้ไปแบบ “แพ็กเกจขายพ่วง” ด้วยมีดที่จ่อหลัง ศักดิ์สยาม ชิดชอบ บีบให้เพื่อไทย “ขาดลุงไม่ได้” …*…
แม้บางกระแสจะเชื่อว่า หากเพื่อไทยผ่าทางตัน ดึงภูมิใจไทยออกจากแพ็กเกจขายพ่วงได้ โดยไม่มีลุง “เกมเปลี่ยน” อำนาจต่อรองจะกลับมาอยู่ในมือเพื่อไทย...*...
ส่วนก้าวไกล จงใจก้าวพลาด หรือต้องการลาก “วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา ไปตบกลางสี่แยก ในเกมวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา แทนที่จะอาศัยเวทีสภาฯ หลอกด่า เอ้ย อภิปรายส.ว.ตามวาระที่เสนอเอาไว้ คือการแก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.โหวตนายกฯ เพราะรู้อยู่แล้วว่ายังไงก็โหวตไม่ผ่าน ...*...
แต่ดันช็อตฟีล ให้ รังสิมันต์ โรม ชงญัตติด่วน เสนอด้วยวาจา ให้ทบทวนมติที่สภาได้พิจารณาไป เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาคือ ญัตติที่ไม่ให้โหวต ชื่อ นายกฯซ้ำ...*...
ตั้งใจจะลักไก่ หรืออะไรไม่ทราบแน่ชัด แต่ “วันนอร์” ยังเก๋าเกม สั่งเลื่อนประชุมออกไป ก็เลยกลายเป็นโดนดราม่าถล่ม ด้วยเหตุผลที่ว่า “หากเราพิจารณาก่อนอาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบเพราะเป็นการย้อนแย้งกับที่ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังพิจารณาเรื่องเดียวกัน และหากมีการพิจารณาและลงมติ และวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ไม่ตรงกับมติของสภา ท่านคิดว่า ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร หากเรารอให้ถึงวันที่ 16 ส.ค. ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจบแล้ว เราก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวมาทบทวนได้ แต่เราต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน” ...*...
ที่มา:ศรพระราม (08/08/66)