วันที่ 3 สิงหาคม 2566 นายสมชาย แสวงการ สว. ฐานะกรรมการประสานงาน ฝั่งวุฒิสภา เรียกร้องไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้เลื่อนการประชุมรัฐสภา วันที่ 4 สิงหาคม ออกไปทั้งหมด ทั้งนี้ความเห็นส่วนตัวมองว่าแม้จะเลื่อนโหวตนายกฯ เพราะรอคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นคำร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศาลนัดพิจารณา 16 สิงหาคม ก็ไม่ควรพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่พรรคก้าวไกลเสนอด้วยเช่นกัน เนื่องจากตนพิจารณาแล้วเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และ มีปัญหาข้อกฎหมาย ที่สำคัญ สว.อาจไม่ร่วมพิจารณาด้วย เพราะอาจถูกร้องเรื่องจริยธรรมได้
“ผมได้ศึกษาข้อมูลแล้วพบว่ามาตรา 272 นั้นเกิดมาจากคำถามประชามติ ซึ่งเทียบเท่ากับเป็นมาตราที่ผ่านการเห็นชอบจากการทำประชามติ ดังนั้นหากจะแก้ไขควรต้องนำไปทำประชามติก่อน ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านบ้าน ส่วนตัวมองด้วยว่าไม่จำเป็นต้องพิจารณาแล้ว เนื่องจากอีก 9-10 เดือน มาตราดังกล่าวจะไม่สามารถใช้บังคับได้ต่อไป และจะหมดเวลาแล้ว หากมุ่งหวังว่าจะให้ตกโดยยืมมือสว. ผมไม่ทราบได้ ทำไปไม่มีประโยชน์และไม่มีความจำเป็น” นายสมชาย กล่าว
เมื่อถามว่าหากวาระแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 จะเข้าสู่การพิจารณาต้องขอมติที่ประชุมหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ตรงนี้อาจจะเป็นประเด็นได้ หากรัฐสภาขอมติให้เลื่อนจะทำให้ญัตติเลือกนายกฯ ตกไป และตนไม่อาจเข้าร่วมได้ เพราะจะผิดกฎหมายได้ ทั้งนี้มีข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างแกนนำพรรคที่จะเป็นรัฐบาลกับวิปวุฒิสภา ว่า จะพิจารณาหลังจากโหวตนายกฯ หากเลื่อนวาระจะถือว่าไม่เคารพข้อตกลง และนายวันมูหะมัดนอร์รับทราบเรื่องดังกล่าวดี
เมื่อถามว่าหากต้องใช้มติรัฐสภามองว่าพรรคเพื่อไทยจะร่วมเล่นเกมกับพรรคก้าวไกลหรือไม่ เพราะต้องอาศัยเสียง สว.โหวตนายกฯ นายสมชาย กล่าวว่า “แล้วแต่พรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยต้องชั่งใจให้ดีว่าพรรคเพื่อไทยจะเล่นเกมนี้หรือไม่ แต่ผมมองว่าไม่จำเป็น เพราะหากรับวาระแรกผ่าน ผมจะเป็นผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมองว่ามาตรา 272 เกิดได้โดยประชามติ ดังนั้นต้องกลับไปถามประชามติ หากนำเข้ามาแล้วจะทำให้ทุกอย่างหยุดทั้งหมด อย่าเล่นเกมนี้ สว.ไม่อยากใช้อำนาจนี้ แต่เมื่อมีประชามติต้องทำตามนี้”
นายสมชาย กล่าวด้วยว่าสำหรับการนัดประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป เพื่อโหวตนายกฯ นั้นตนขอเรียกร้องด้วยว่าควรนัดหลังจากที่ทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ในวันที่ 16 สิงหาคม และไม่ควรรีบนัดในวันที่ 17 สิงหาคม เพราะหากเกิดเหตุการณ์เหมือนอย่างการเลื่อนโหวตวันที่ 4 สิงหาคมอีก จะดูไม่งาม และมีความสุ่มเสี่ยง
“การกำหนดนัดประชุมรัฐสภาครั้งต่อไป ผมมองว่าหากนัดหลังวันที่ 20 สิงหาคม ไม่เป็นไร เพราะการโหวตนายกฯ ไม่เป็นอุปสรรคที่สว.จะไม่เข้าร่วม แต่ไม่ควรทำแล้วเจอปัญหา ดังนั้นควรเลื่อนให้มีระยะเวลาเพียงพอต่อการรอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และหากรัฐสภาโหวตนายกฯ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมจะไม่ร่วมโหวตเพราะอาจถูกยื่นเรื่องเรียนได้ เพราะหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคืนสิทธิให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นายสมชาย กล่าว